กรมอนามัย ใช้ 8 มาตรการคุมตลาดสดพื้นที่สีแดงเข้ม ยกระดับป้องกันโควิด-19

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ใช้ 8 มาตรการยกระดับป้องกันโควิด-19 ในตลาดสดพื้นที่สีแดงเข้ม ย้ำผู้ประกอบการตลาดประเมินผ่าน Thai Stop COVID Plus และเฝ้าระวังความเสี่ยงกลุ่มพ่อค้า แม่ค้า ผู้ปฏิบัติงาน แรงงานต่างด้าว และผู้ใช้บริการ โดยให้ประเมินตนเองผ่านเว็บไซต์ “ไทยเซฟไทย” พร้อมให้ปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โรคโควิด-19 ในตลาดสดช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พบว่ามีการแพร่ระบาดในตลาดสดเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑลเป็นจำนวนมาก ทำให้กรุงเทพมหานครได้ออกคำสั่งปิดตลาดทั้งสิ้น 17 แห่ง เพื่อฆ่าเชื้อทำความสะอาด สำหรับ ในส่วนของกรมอนามัยนั้น ได้กำหนดใช้มาตรการ 8 ข้อ เพื่อยกระดับการควบคุมตลาดสดในพื้นที่สีแดงเข้ม โดยขอให้ผู้ประกอบการตลาดปฏิบัติ ดังนี้ 1) ผู้ประอบการตลาดต้องประเมินตนเองผ่าน Thai Stop COVID Plus และผู้ค้าหรือลูกจ้างต้องประเมินความเสี่ยงของตนเองผ่านเว็บไซต์ “ไทยเซฟไทย” ซึ่งจากข้อมูลการประเมินตนเองของผู้ประกอบการผ่าน Thai Stop COVID Plus พบว่า มีตลาดที่ลงทะเบียนจำนวน ทั้งสิ้น 3,465 แห่ง ผ่านการประเมิน 2,779 แห่ง ไม่ผ่าน 686 แห่ง

โดยมาตรการที่ยังดำเนินการได้น้อย คือ การลงทะเบียบเข้า–ออก การควบคุมจำนวนผู้มาซื้อของ และไม่มีการ คัดกรองลูกค้า 2) จัดทำทะเบียนแผงค้า ผู้ค้า ผู้ช่วยขายของ และแรงงานต่างด้าวที่ปฏิบัติงานในตลาด เพื่อเป็นฐานข้อมูล ในการควบคุม กำกับ ติดตาม 3) จัดทำทะเบียนรถเร่จำหน่ายอาหารที่มาซื้อสินค้าในตลาดเพื่อนำไปขายต่อ 4) เพิ่มมาตรการ ชำระเงินผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ เพื่อลดการสัมผัส 5) กรณีพบผู้ค้า ผู้ช่วยขายของ และแรงงานต่างด้าวป่วย ให้หยุดขาย และแจ้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคในพื้นที่ทันที 6) ปิดตลาดชั่วคราวเพื่อทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรค โดยให้ปฏิบัติตามมาตรการที่จังหวัดกำหนด 7) หากตลาดเปิดทำการให้มีการสลับแผงค้าให้เหมาะสม เพื่อลดความหนาแน่นของแผงค้าและจำนวนคน เข้มงวดคัดกรองผู้ค้าและผู้ช่วยขายของ ให้มั่นใจว่าไม่ไปสัมผัสกลุ่มเสี่ยงหรือมีอาการเจ็บป่วยหรืออาจมีผลตรวจยืนยัน และ 8) ให้ตลาดปรับปรุงให้เป็นไปตามมาตรฐานตลาดสด น่าซื้อ และเน้นการรักษาความสะอาดอย่างเข้มข้น

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับผู้ซื้อสินค้าภายในตลาดควรมีการประเมินตนเองทุกวันผ่านเว็บไซต์ “ไทยเซฟไทย” ก่อนออกจากบ้าน และควรวางแผนการซื้อสินค้าเพื่อลดเวลาการใช้บริการในตลาดต้องสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเข้า-ออก ตามจุดที่ตลาดกำหนดไว้ ล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ก่อนและหลังใช้บริการในตลาดทุกครั้ง กรณีซื้ออาหารปรุงสำเร็จ ควรเลือกอาหารที่ปรุงสุก สะอาด ชำระเงินผ่านแอปพลิเคชัน เพื่อหลีกเลี่ยงการชำระเงินสด หรือการสัมผัสกับผู้ขาย หากมีอาการป่วย มีไข้ ไอจาม ให้งดเข้ามาใช้บริการในตลาด
“ทั้งนี้ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต้องควบคุม กำกับและติดตามให้ตลาดมีการดำเนินงานอย่างเคร่งครัด ให้เกิดการปฏิบัติจริงจัง

โดยบูรณาการงานร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด อาสาสมัครประจำหมู่บ้าน สมาคม/ชมรมผู้ประกอบกิจการตลาด และเพื่อความเหมาะสมกับสถานการณ์ของแต่ละพื้นที่ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัด อาจพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อในการสั่งปิด จำกัด หรือห้ามการดำเนินการของพื้นที่ สถานที่ หรือพาหนะ หรือสั่งให้งดการทำกิจกรรมซึ่งมีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคในเขตพื้นที่รับผิดชอบเพิ่มเติมจากที่กำหนดได้ โดยให้ดำเนินการสอดคล้องกับมาตรการหรือแนวปฏิบัติที่นายกรัฐมนตรีกำหนด ตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 20)” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น