มหาเถรสมาคม เห็นชอบให้เรียก “โรคโควิด” เป็นภาษาบาลีว่า “โควิโท”

ในการประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 12/2564 เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 เลขาธิการมหาเถรสมาคมเสนอว่า ตามที่มหาเถรสมาคมได้มีมติครั้งที่พิเศษ 4/2564 เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 เห็นชอบให้เจริญพระพุทธมนต์ บทรัตนสูตร เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจแก่ประชาชน และความเป็นสิริมงคลต่อประเทศเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 นั้น

ในการเจริญพระพุทธมนต์ได้มีการนำบทคาถาไล่โควิด-19 มาเป็นบทเจริญพระพุทธมนต์ดังกล่าว เพื่อให้การใช้ศัพท์โรคโควิด-19 ในบทเจริญพระพุทธมนต์ให้ถูกต้องตามหลักภาษาบาลี และเป็นประวัติศาสตร์ของประเทศไทย สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เห็นควรนำเสนอมหาเถรสมาคมเพื่อโปรดพิจารณา

ในการพิจารณาการใช้ศัพท์คำว่าโควิด-19 เป็นภาษาบาลี สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้อาราธนาพระภิกษุและเชิญบุคคลเข้าร่วมถวายความเห็นประกอบการพิจารณา ดังนี้

พระธรรมราชานุวัตร วัดโมลีโลกยาราม เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร
พระเทพศากยวงศ์บัณฑิต วัดบวรนิเวศวิหาร เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
น.อ. ทองย้อย แสงสินชัย ผู้แทนสำนักพระราชวัง

ที่ประชุมได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง สรุปความว่าคำว่าโรคโควิด-19  เป็นศัพท์เฉพาะ (อสาธารณนาม) ซึ่งเป็นอักษรย่อที่มาจากภาษาอังกฤษว่า COVID-19 หรือ Coronavirus Disease เมื่อนำมาเขียนเป็นภาษาบาลี ต้องปริวรรตอักษรเป็นอักษรโรมันที่ใช้เขียนภาษาบาลี และเป็นภาษาบาลีสากล

โดยเปรียบเทียบกับภาษาอังกฤษ เปรียบเทียบกับตัวสะกดในแม่กดในภาษาไทย และเปรียบเทียบกับประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตราย (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2563 ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา หน้า 1 เล่มที่ 137 ตอนพิเศษ 48 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2563 ว่า โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)

ที่ประชุมพิจารณาแล้วมีมติให้ใช้ศัพท์ว่า ‘โควิโท’ เป็นชื่อโรคโควิด-19 เป็นภาษาบาลีและอสาธารณนาม

ร่วมแสดงความคิดเห็น