สาธารณสุข จับมือ ศึกษาธิการ เตรียมพร้อมเปิดภาคเรียนด้วยแคมเปญ ‘ตัดความเสี่ยง สร้างภูมิคุ้มกัน

วันนี้ (12 มิถุนายน 2564) นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และนายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ร่วมแถลงข่าวการเตรียมความพร้อมการเปิดภาคเรียนและแผนเผชิญเหตุกรณีป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ในสถานศึกษา ณ อาคารราชวัลลภ กระทรวงศึกษาธิการ กรุงเทพมหานคร

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โรคโควิด-19 ระลอกใหม่ จากผลการสำรวจอนามัยโพล เรื่อง “ความรู้สึกกังวลต่อสถานการณ์โควิด-19 และการเปิดเรียนเดือนมิถุนายน 2564” ในช่วงวันที่ 18-24 พฤษภาคม 2564 พบว่า ประเด็นที่ผู้ปกครองมีความกังวลสูง 3 อันดับแรก ได้แก่ การดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลของครูและนักเรียน ร้อยละ 33.1 การจัดภาพแวดล้อมในสถานศึกษา ร้อยละ 22.8 และโรงเรียนต้องผ่านเกณฑ์ประเมินความพร้อมของสาธารณสุข ร้อยละ 15.3 โดยสถานศึกษาต้องดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ปกครอง ดังนี้ 1) สถานศึกษาเตรียมความพร้อมก่อนเปิดเทอม 6 มิติ ประกอบด้วย ความปลอดภัยจากการลดการแพร่เชื้อโรค , การเรียนรู้ , การครอบคลุมถึงเด็กด้อยโอกาส , สวัสดิภาพและการคุ้มครอง , นโยบาย และการบริหารการเงิน 2) ประเมินสถานศึกษาก่อนเปิดเทอม ให้ผ่านทั้งหมด 44 ข้อ ใน Thai Stop COVID 3) ครู นักเรียน ผู้ปกครอง ชุมชนและประชาชนทุกคน ประเมินความเสี่ยง Thai Save Thai ของตนเองก่อนออกจากบ้านทุกวัน 4) ยกระดับความปลอดภัย 6 พลัส คูณ 6 มาตรการหลัก มาตรการเสริม และมาตราการเฉพาะ 5) 6 พลัส มาตรการหลัก DMHT-RC อยู่ห่าง สวมแมส หมั่นล้างมือ ตรวจวัดอุณหภูมิ ลดแออัด ทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสร่วม 6) 6 มาตรการเสริม SSET-CQ ดูแลตนเอง ใช้ช้อนส่วนตัว กินอาหารปรุงสุกใหม่ ใช้แอปไทยชนะ คัดกรองทุกคน กักตัวเองเมื่อไปพื้นที่เสี่ยง 7) มาตรการเฉพาะ กรณีรถรับส่งนักเรียน หอพักนักเรียน สถานที่ปฏิบัติศาสนกิจ และเฉพาะความพิการ และ 8) กำกับติดตามประเมินผลร่วมระหว่างกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุข สถานศึกษารายงานผลผ่านระบบ MOE (COVID-19)

“สำหรับการเตรียมความพร้อมการเปิดภาคเรียน และแผนเผชิญเหตุกรณีป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ในสถานศึกษานั้น กรมอนามัยได้รับความร่วมมือจากกระทรวงศึกษาธิการ สมาคมโรคติดเชื้อในเด็ก แห่งประเทศไทย ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ร่วมกันจัดทำแนวปฏิบัติยกระดับความปลอดภัยมั่นใจสุขอนามัยไร้โควิด-19 ระลอกใหม่ในสถานศึกษา (เล่มสีเหลือง) และได้มีการดำเนินงาน นำร่องกลุ่มโรงเรียนที่มีเรือนพักนอนในสถานศึกษาจำนวน 4 แห่ง ในแต่ละภาค ได้แก่ เชียงใหม่ เพชรบุรี ศรีสะเกษ และกระบี่ ด้วยการพัฒนารูปแบบการเฝ้าระวังและคัดกรองความเสี่ยงโรคโควิด-19 รวมถึงการกำกับติดตามผลการจัดการเรียนการสอนและการดำเนินงานตามมาตรการป้องกันโควิด-19 ในสถานศึกษา โดยผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการและฝ่ายสาธารณสุขแบบบูรณาการ และสถานศึกษารายงานผลออนไลน์ ผ่าน MOECOVID / TSC ทุก 1 เดือน นอกจากนี้ กรมอนามัยยังได้รณรงค์ภายใต้แนวคิด “ตัดความเสี่ยง สร้างภูมิคุ้มกัน มุ่งมั่นป้องกันโควิด-19 ในสถานศึกษา” เพื่อสร้างความรอบรู้ในการป้องกันโรคโควิด-19 ประกอบด้วย 1) ตัดความเสี่ยง ด้วยหลัก 3 T (TST , TSC , Rapid Test) 2) สร้างภูมิคุ้มกัน ด้วย 2E1V (Exercise 6 ท่า บริหารปอด , Eating , Vaccine ครู) และ 3) มุ่งมั่นป้องกันโควิด-19 ด้วยการสื่อสารความรอบรู้ในการป้องกันโรคโควิด-19 ก้าวท้าใจในสถานศึกษา และประเมินความรอบรู้ในการป้องกัน โรคโควิด-19 ของนักเรียน ครู และบุคลากรอีกด้วย” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

ร่วมแสดงความคิดเห็น