(มีคลิป) รองผู้ว่าฯ ลำปาง ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมดูการดำเนินงานกิจการด้านพลังงานของ กฟผ.แม่เมาะ

นายศรัณยู มีทองคำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ลงพื้นที่เยี่ยมหน่วยงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แม่เมาะ พร้อมร่วมประชุมกับคณะผู้บริหารของหน่วยงาน ที่บ้านรับรองการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แม่เมาะ เพื่อติดตามผลการดำเนินงานภาพรวม และเยี่ยมชมกิจการด้านการพลังงาน กระบวนงานการผลิตกระแสไฟฟ้าโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ศึกษารายละเอียดข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากกระบวนการผลิตของโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์ รวมถึงมาตรการในการดำเนินการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้น รวมถึงรับฟังผลความคืบหน้าโครงการอพยพราษฎร 5 หมู่บ้าน ในเขตอำเภอแม่เมาะ โดยมีนายอดิศักดิ์ กิจเจริญธนารักษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า 2 พร้อมด้วย นายมาโนช ชูชาติวรรณกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการเหมืองแม่เมาะ ร่วมนำทีมคณะผู้บริหารระดับสูงของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แม่เมาะ และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ พร้อมทั้งบรรยายสรุปให้รายละเอียดข้อมูลในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

ในการนี้ คณะผู้บริหาร กฟผ.แม่เมาะ และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ได้มีการชี้แจงนำเสนอข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับภารกิจในการดำเนินงานภาพรวมทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาพื้นที่ในเขตรับผิดชอบรวมถึงพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า การดำเนินงานแก้ไขปัญหาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม โดยในภาพรวมทาง กฟผ.แม่เมาะ ได้มีการดำเนินงานที่เป็นไปตามยุทธศาสตร์ของประเทศไทย ทั้งด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม และการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยได้มีการพัฒนาระบบงานด้านคุณภาพ อาชีวอนามัย และความปลอดภัย มีการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมจนได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการดำเนินการประกอบด้วย มาตรการป้องกันการฟุ้งกระจายของฝุ่นละอองและเสียงดังรบกวนจากการทำเหมือง ที่ได้มีการจัดทำ Buffer Zone ปลูกต้นสนความสูงกว่า 20 เมตร และต้นไม้ใบกว้างอื่นๆ สลับกับต้นสนยาวตลอดแนวตรงบริเวณขอบเหมือง, มีการติดตั้งระบบสเปรย์น้ำตามแนวสายพานเป็นระยะๆ ตั้งแต่จุดบริเวณเปิดหน้าชั้นดินจนถึงจุดปล่อยดิน รวมถึงมีการจัดทำ Bunker ให้จุดปล่อยดินอยู่ต่ำกว่า มีการตรวจเช็คเปลี่ยนอุปกรณ์หมุนต่างๆ ที่เสื่อมสภาพที่ก่อให้เกิดเสียงดัง ตลอดจนมีการตรวจวัดระดับเสียงควบคุมไม่ให้เกินค่ามาตรฐาน 10 เดซิเบล, ด้านมาตรการป้องกันกลิ่นเหม็นที่เกิดจากการเผาไหม้ตัวเองของถ่านหินลิกไนต์ ได้มีการควบคุมกำหนดการใช้ถ่านหินแต่ละกองให้หมดภายใน 2 สัปดาห์ มีการติดตั้งกล้องอินฟาเรดตรวจจับความร้อน และฉีดพรมน้ำให้กองถ่านหินเพื่อลดปริมาณความร้อน, ด้านมาตรการลดการสั่นสะเทือน

เนื่องจากการทำเหมือง ได้มีการควบคุมปริมาณการใช้วัตถุระเบิดให้แรงสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นไม่เกิน 2 มิลลิเมตร/วินาที, ด้านการบำบัดคุณภาพน้ำ ได้จัดทำพื้นที่ Wetland ปลูกต้นกก ธูปฤาษี ขึ้นปกคลุมเต็มพื้นที่ และมีการบำบัดซัลเฟตในน้ำทิ้งจากเหมืองแม่เมาะด้วยการใช้จุลินทรีย์ในระบบ Modified Covered Lagoon, ด้านคุณภาพอากาศ ได้มีการติดตั้งเครื่องดักจับฝุ่นที่เกิดจากการเผาไหม้ด้วยระบบไฟฟ้าสถิต พร้อมได้ติดตั้งระบบกำจัดก๊าซซัลเฟอร์ไดอ๊อกไซด์ที่ปล่องระบายอากาศ โดยปัจจุบันจากตรวจวัดปริมาณก๊าซซัลเฟอร์ฯ พบว่ามีปริมาณน้อยกว่า 180 ส่วนใน 1,000,000 ส่วน ซึ่งต่ำกว่าค่ามาตรฐานที่มีการกำหนดไว้ ส่วนประเด็นปัญหาการอพยพราษฎรใน 5 หมู่บ้าน ออกเขตพื้นที่ทำเหมืองได้มีการดำเนินการไปแล้วเกือบจะเสร็จสิ้น ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการจับสลากเพื่อจัดสรรพื้นที่ให้กับราษฎร ส่วนเรื่องกองทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ก็อยู่ในระหว่างกระบวนการสรรหาคณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า

โดยโอกาสนี้ นายศรัณยู มีทองคำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมกระบวนการทำงานของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ รวมถึงเยี่ยมชมกระบวนการทำงานขุดบ่อเหมืองลิกไนต์ ที่ตรงบริเวณขอบเหมืองทั้งนี้เพื่อจะศึกษาเก็บรวบรวมข้อมูลไว้ สำหรับใช้ประกอบการพิจารณาหากเกิดปัญหา กรณีเรื่องร้องเรียนขึ้น

ร่วมแสดงความคิดเห็น