กรมวิชาการเกษตร เร่งหนุนเกษตรทำ GAP ลำไย และผลไม้ส่งออก

กรมวิชาการเกษตร โดยสวพ. 1 เร่งเดินหน้าหนุนเกษตรทำ GAP ลำไยรับรองมาตรฐานส่งออกจำนวนมากในเดือน กรกฎาคม – สิงหาคม 2564 ช่วงฤดูลำไย ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่ และลำพูน มีผลผลิตแหล่งใหญ่สุดในภาคเหนือ โดยจังหวัดเชียงใหม่มีพื้นที่ปลูกลำไยจำนวน 451,186 ไร่ เป็นเนื้อที่ให้ผลจำนวน 406,183 ไร่ ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเกษตรกรที่ได้รับการรับรองแปลงตามมาตฐาน GAP จำนวน 49,455 ไร่ จำนวน 9,457 แปลง คิดเป็นร้อยละ 12 ของพื้นที่ให้ผลผลิต ในส่วนของจังหวัดลำพูนนั้น มีพื้นที่ปลูกลำไยจำนวน 348,570 ไร่ เป็นเนื้อที่ให้ผลจำนวน 321,038 ไร่ ได้รับการรับรองแปลงตามมาตฐาน GAP ทั้งสิ้น จำนวน 48,697 ไร่ จำนวน 9,972 แปลง คิดเป็นร้อยละ 15 ของพื้นที่ให้ผลผลิต ในช่วงปีที่ผ่านมา 2563 ประเทศไทยมีการส่งออกลำไยไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน ปริมาณ 378,000 ตัน มีมูลค่าถึง 14,400 ล้านบาท  ซึ่งการส่งลำไยสดไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนนั้น ต้องดำเนินการตามพิธีสารว่าด้วยข้อกำหนดในการกักกันโรคและตรวจสอบสำหรับการส่งออกผลไม้เมืองร้อนจากไทยไปจีน พ.ศ. 2547 ซึ่งกำหนดให้ลำไยสดต้องมาจากสวนที่ได้รับการรับรอง GAP เท่านั้น สำหรับแนวโน้มปี 2564 นั้น สวพ.1 จึงได้เร่งผลักดันการทำ GAP ของเกษตรกรเพื่อหนุนการส่งออกขยายตัวผลผลิตลำไยในแปลง GAP ให้ได้มาตรฐาน และเพื่อเป็นการช่วยสินค้าเกษตรจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว
ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่ 1 (สวพ.1) กรมวิชาการเกษตร เผยว่า ในฐานะหน่วยงานของกรมวิชาการเกษตร ที่ทำหน้าที่ตรวจรับรองแหล่งผลิต GAP พืชในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน จึงขอประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรผู้ปลูกลำไย เข้าสู่ระบบการรับรองมาตรฐาน GAP เพื่อใช้ในการส่งออก โดยแนบหลักฐานการสมัครประกอบด้วย แบบคำขอใบรับรองแหล่งผลิต GAP พืช สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน และสำเนาเอกสารสิทธิ์ที่ดิน โดยสามารถยื่นขอรับรองได้ที่ สวพ.1 สำหรับเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และลำพูน ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรในเครือข่ายสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 ในจังหวัดลำปางแพร่ น่าน เชียงราย และแม่ฮ่องสอน หรือยื่นผ่านสำนักงานเกษตรอำเภอหรือเกษตรจังหวัดของท่าน ทั้งนี้ยังสามารถยื่นขอรับการรับรองผ่านช่องทาง E-mail [email protected] และทางเพจเฟซบุ๊ค กลุ่มถ่ายทอดเทคโนโลยี สวพ.1 เชียงใหม่ เกษตรกรที่ผ่านการรับรองจะได้รับใบรับรองซึ่งมีอายุการรับรอง 3 ปี และสามารถนำไปใช้ประกอบการขายผลผลิตเพื่อส่งออกได้
นอกจากลำไยแล้ว กรมวิชาการเกษตรยังเน้นกลุ่มเป้าหมายผลไม้หลักส่งออกที่จำเป็นต้องได้รับการรับรองตามมาตรฐาน GAP ตามเงื่อนไขของประเทศคู่ค้า เช่น ทุเรียน มังคุด ลิ้นจี่ และมะม่วง ซึ่งผลผลิตส่วนใหญ่จะส่งออกไปประเทศจีน โดยปัจจุบันจีนได้อนุญาตให้นำเข้าผลไม้จากประเทศไทยรวมจำนวนทั้งสิ้น 22 ชนิด ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้แก่ประเทศคิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท / ปี โดยในเดือนสิงหาคมนี้จะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลการขึ้นทะเบียนสวนและโรงคัดบรรจุผลไม้กับจีนอีก 3 ชนิด คือ มะขาม เงาะ และส้มโอ ซึ่งจะทำให้การส่งออกผลไม้ไปจีนจะต้องเป็นสวนที่ขึ้นทะเบียนและโรงคัดบรรจุที่ขึ้นทะเบียนแล้วเท่านั้นจึงจะส่งออกไปจีนได้ เกษตรกรผู้ปลูกไม้ผลดังกล่าว สามารถยื่นขอรับรองแหล่งผลิต GAP ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เพื่อกรมวิชาการเกษตรจะได้ส่งทะเบียนสวนของท่านไปยังประเทศจีน เพื่อใช้ในการส่งออกต่อไป สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มถ่ายทอดเทคโนโลยี สวพ.1 เชียงใหม่ หมายเลขโทรศัพท์ 053-114121 ต่อ 702

ร่วมแสดงความคิดเห็น