ปภ.แนะหลักขับขี่จักรยานยนต์อย่างปลอดภัย

รถจักรยานยนต์ เป็นพาหนะที่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุสูง เนื่องจากพฤติกรรมเสี่ยงของผู้ขับขี่ สภาพรถที่ไม่ปลอดภัยปราศจากการหุ้มเกราะ รวมถึงยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บรุนแรงเสียชีวิต เพื่อความปลอดภัยกระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะข้อควรปฏิบัติในการใช้รถจักรยานยนต์
อย่างปลอดภัย ดังนี้
ตรวจสอบรถให้พร้อมปลอดภัย โดยปฏิบัติ ดังนี้
กระจกมองหลัง ปรับให้อยู่ในองศาที่มองเห็นด้านหลังอย่างชัดเจน
ยางรถ ไม่บวมหรือแตก เติมแรงดันลมยางตามค่ามาตรฐาน
โซ่รถ ขณะที่รถตั้งอยู่บนขาตั้ง โซ่จะต้องหย่อนประมาณ 10 ถึง 20 มิลลิเมตร
สัญญาณ โดยไฟหน้า ไฟท้าย ไฟเลี้ยว ต้องสว่างชัดเจน
น้ำมันหล่อลื่น อยู่ในระดับที่กำหนด และเปลี่ยนถ่ายน้ำมันตามระยะ
ระบบเบรก สามารถหยุดรถในระยะที่ปลอดภัย
เตรียมตัวให้พร้อม ให้ปฏิบัติ ดังนี้
สวมใส่เสื้อผ้าที่รัดกุม เพื่อป้องกันการเกี่ยวซี่ล้อ ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้
สวมหมวกนิรภัย รัดสายรัดคางทุกครั้ง ปรับสายรัดคางให้กระชับ เพื่อไม่ให้หมวกหลุดออกจากศีรษะ
สวมแว่นตากันลม ป้องกันฝุ่นละอองและแมลงเข้าตาในขณะขับขี่
สวมรองเท้าหุ้มส้น จะช่วยป้องกันการบาดเจ็บรุนแรงบริเวณเท้ากรณีเกิดอุบัติเหตุ
เรียนรู้วิธีการขับขี่ปลอดภัย โดยปฏิบัติ ดังนี้
ฝึกทักษะการขับขี่รถยนต์รถจักรยานยนต์ โดยเฉพาะท่านั่งขับขี่ วิธีทรงตัวและการควบคุมรถ รวมถึงเทคนิคการใช้เบรก
การใช้ความเร็ว ไม่ขับรถเร็วเกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพราะเป็นระดับความเร็วที่เหมาะสมที่หมวกนิรภัยสามารถรองรับแรงกระแทกได้อย่างมีประสิทธิภาพกรณีการเกิดอุบัติเหตุ
เว้นระยะห่างให้เหมาะสม เพื่อให้สามารถหยุดรถหรือแซงรถได้อย่างปลอดภัย รวมถึงป้องกันอุบัติเหตุจากการเฉี่ยวชน
หลีกเลี่ยงการขับขี่เข้าใกล้พื้นรถขนาดใหญ่หรือพื้นที่จุดบอด เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน
การใช้ช่องทางเดินรถ โดยขับขี่ช่องทางเดินรถด้านซ้ายหรือช่องทางเดินรถจักรยานยนต์ รวมถึงไม่ขี่รถบนทางเท้า
หรือริมไหล่ทาง และไม่ขี่ย้อนศร
ลดความเร็วเมื่อขับรถผ่านจุดเสี่ยงอุบัติเหตุ โดยเฉพาะเส้นทางเปียกลื่น ทางขรุขระ ทางแยก
การเปลี่ยนช่องทาง ให้สัญญาณไฟล่วงหน้าในระยะไม่น้อยกว่า 30 เมตร พร้อมมองกระจกมองหลัง เพื่อเห็นว่าปลอดภัย
จึงค่อยเปลี่ยนช่องทาง
ไม่แซงในระยะกระชั้นชิด หรือแซงบริเวณที่จุดเสี่ยงอันตราย อาทิ ทางโค้ง ทางแยก บนสะพาน
รู้ก่อน- ปลอดภัยกว่า
หากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ห้ามขับขี่รถจักรยานยนต์อย่างเด็ดขาด เพราะความมึนเมา จะทำให้สมรรถนะในการขับขี่ลดลง
จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน
ห้ามดัดแปลงสภาพรถจักรยานยนต์ โดยเฉพาะล้อ ยาง กระจกมองข้าง ท่อไอเสีย เนื่องจากอุปกรณ์ส่วนควบของรถ
ที่ติดตั้งจากโรงงานผู้ผลิตผ่านการตรวจสอบและรับรองมาตรฐาน จึงมีความปลอดภัยในการใช้งาน
ทั้งนี้ ช่วงฤดูฝนผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์จะต้องเพิ่มความระมัดระวัง เนื่องจากสภาพถนนที่เปียกลื่น น้ำท่วมขัง เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ นอกจากนี้ ต้องหมั่นตรวจสอบรถจักรยานยนต์ให้อยู่ในสภาพปลอดภัย โดยเฉพาะสัญญาณไฟหน้า ไฟท้าย
ไฟเลี้ยว ต้องสว่างชัดเจน เปลี่ยนถ่ายน้ำมันตามระยะ และระบบเบรก ให้สามารถหยุดรถได้อย่างปลอดภัย รวมถึงควรสวมใส่อุปกรณ์นิรภัยทุกครั้งที่ขับขี่รถจักรยานยนต์ จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยและลดอัตราการเสียชีวิตและบาดเจ็บรุนแรงเมื่อเกิดอุบัติเหตุ

ร่วมแสดงความคิดเห็น