(มีคลิป) จ.ลำปาง ออกตรวจสอบแผงจำหน่ายทุเรียนในพื้นที่ เฝ้าระวังการจำหน่ายสินค้าด้อยคุณภาพ

ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดลำปาง ร่วมประสานกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ออกกวดขันตรวจสอบแผงจำหน่ายทุเรียนในเขตตัวเมืองลำปาง เพื่อป้องปรามการเกิดข้อพิพาทร้องเรียนเกี่ยวกับการจำหน่ายทุเรียนด้อยคุณภาพ ป้องกันการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค

นางศุกลรัตน์ จันทร์มณี ผู้อำนวยการกลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดลำปาง พร้อมด้วย น.ส.พัชมณ วรรณโวหาร เจ้าพนักงานชำนาญการ ที่ทำการปกครองจังหวัดลำปาง และเจ้าหน้าที่จากสังกัดหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากสำนักงานจังหวัด ฝ่ายปกครองจังหวัด ตำรวจภูธรเมืองลำปาง พาณิชย์จังหวัด สำนักงานสาขาชั่งตวงวัดเขต 1-2 ลำปาง ประชาสัมพันธ์จังหวัด และเจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวน สคบ.จังหวัดลำปาง ในนามคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำจังหวัดลำปาง ร่วมลงพื้นที่ออกสุ่มตรวจแผงผู้ประกอบการจำหน่ายทุเรียนทั้งปลีกและส่งในเขตพื้นที่รอบตัวเมืองลำปาง ซึ่งได้ปฏิบัติเป็นไปตามนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ได้มีมติในที่ประชุมให้หน่วยงานประจำจังหวัดที่เกี่ยวข้อง ร่วมบูรณาการทำการกวดขันควบคุมให้ผู้ประกอบการจำหน่ายทุเรียนในเขตพื้นที่ ได้ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดห้ามเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคแอบแฝงจำหน่ายทุเรียนที่ด้อยคุณภาพ
ทั้งนี้ เนื่องด้วยปัจจุบันเป็นช่วงที่ผลผลิตทุเรียนกำลังออกสู่ท้องตลาด

โดยในเขตพื้นที่จังหวัดลำปางได้มีผู้ประกอบการรับเหมา นำผลผลิตทุเรียนจากจังหวัดภาคตะวันออกขึ้นมาจำหน่ายกันเป็นจำนวนมาก ประกอบกับที่ผ่านมาในหลายๆ จังหวัด ได้มีข่าวเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคปรากฏตามสื่อออนไลน์ ว่ามีผู้ประกอบการบางรายจำหน่ายทุเรียนเกินราคาจากป้ายที่แสดงติดไว้หน้าร้าน รวมถึงมีการนำผลผลิตด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) มาหลอกจำหน่ายให้กับประชาชน ซึ่งเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคทั้งยังเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายมีโทษทั้งจำและปรับ ดังนั้นเพื่อจะป้องปรามไม่ให้เกิดข้อพิพาทในลักษณะดังกล่าว ทางคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคประจำจังหวัดลำปาง จึงได้มีการออกสุ่มตรวจแผงผู้ประกอบการจำหน่ายทุเรียนในเขตพื้นที่ เพื่อเป็นการย้ำเตือนและประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ให้ผู้บริโภคและผู้ประกอบธุรกิจจำหน่ายทุเรียน ได้ตระหนักถึงสิทธิและหน้าที่รวมถึงบทลงโทษต่างๆ เพื่อป้องกันการกระทำที่ผิดกฎหมายโดยการลงพื้นที่สุ่มตรวจแผงผู้ประกอบการจำหน่ายทุเรียนทั้งปลีกและส่งครั้งนี้ ทางเจ้าหน้าที่ได้ทำการออกสำรวจตรวจสอบแผงจำหน่ายที่มีอยู่ในเขตพื้นที่รอบตัวเมืองลำปาง ทั้งภายในตลาดสดและแผงจำหน่ายที่ตั้งอยู่ตามริมถนนรวมทั้งหมด 3 ร้านค้า ซึ่งพบว่าร้านค้าต่างๆ ได้มีการติดป้ายจำหน่ายทุเรียนแบ่งเป็น 2 ราคา คือ ราคาที่ชั่งกิโลขายทั้งลูกรวมถึงเปลือก และราคาขายเฉพาะส่วนเนื้อใน โดยราคาที่ชั่งกิโลขายทั้งลูกรวมเปลือกจะมีราคาที่ถูกกว่า ในขณะที่แต่ละร้านทางเจ้าของยังได้ขึ้นป้ายรับประกันสินค้า หากซื้อไปแล้วเนื้อขาว รสจืด ขม ไม่หวาน ทานไม่อร่อยผู้บริโภคสามารถนำทุเรียนลูกเก่าที่ซื้อไปแล้วมาแลกเปลี่ยนเป็นลูกใหม่ได้ทันที

อย่างไรก็ตามในการสุ่มตรวจทางเจ้าหน้าที่ได้มีการตรวจสอบเครื่องชั่งน้ำหนักของร้านค้า ซึ่งจะมีทั้งเครื่องชั่งแบบตัวเลขดิจิตอล และเครื่องชั่งสปริง โดยพบว่ามีบางแผงจำหน่ายที่มีเครื่องชั่งไม่ได้ผ่านการรับรองมาตรฐาน ในส่วนนี้เจ้าหน้าที่ได้ให้คำแนะนำให้ทางผู้ประกอบการเจ้าของร้านหยุดการใช้งาน และให้นำเครื่องชั่งที่มีปัญหาไปยื่นคำร้องขอตรวจสอบมาตรฐานจากสำนักงานสาขาชั่งตวงวัดในพื้นที่เสียก่อนจึงจะนำมาใช้งานได้ มิฉะนั้นจะต้องมีความผิดตามกฎหมายข้อหาแก้ไขดัดแปลงส่วนประกอบเครื่องชั่ง มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปีและปรับไม่เกิน 280,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ได้เน้นย้ำทำความเข้าใจกับผู้ประการห้ามจำหน่ายผลผลิตด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน)

โดยเด็ดขาด เพราะจะมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 271 ผู้ใดขายของโดยหลอกลวงด้วยประการใดๆ ให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ หรือปริมาณแห่งของนั้นอันเป็นเท็จ ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 47 ผู้ใดโดยเจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ ปริมาณ หรือสาระสำคัญประการอื่นอันเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการไม่ว่าจะเป็นของตนเองหรือผู้อื่น โฆษณาหรือใช้ฉลากที่มีข้อความอันเป็นเท็จ หรือข้อความที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเช่นว่านั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งกระทำผิดซ้ำอีก ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ร่วมแสดงความคิดเห็น