เทศบาลเมืองน่าน ให้การต้อนรับคณะอนุกรรมการประเมินเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน (Green City) ระดับพื้นที่ (ระดับภาค)

เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2564 ที่ ห้องประชุมใหญ่สำนักงานเทศบาลเมืองน่าน ตำบลในเวียง อำเภอเมือง จังหวัดน่าน นายสุรพล เธียรสูตร นายกเทศมนตรีเมืองน่าน พร้อมด้วยนายเสนอ เวชสัมพันธ์ รองนายกเทศมนตรีเมืองน่าน นายปกฤษณ์ คำเหลือง ปลัดเทศบาลเมืองน่าน ผู้อำนวยการกอง หัวหน้าฝ่ายงาน และเจ้าหน้าที่เทศบาลเมืองน่านร่วมให้การต้อนรับ คณะอนุกรรมการประเมินเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน ระดับพื้นที่ (ระดับภาค) เพื่อตรวจผลงานเชิงประจักษ์ จากสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 2 ลำปาง นำคณะโดย นายบรรจง วรรณสุริยะ ประธานคณะอนุกรรมการประเมินเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน(Green City) ระดับพื้นที่ (ระดับภาค) ในการนี้นายกเทศมนตรีเมืองน่านได้บรรยายพิเศษ ก้าวย่างจาก “เมืองน่านน่าอยู่” สู่ “น่าน…นครแห่งความสุขเมืองเก่าที่มีชีวิต” Nan The City of Happiness : A Lively Old Town พันธกิจของเทศบาลเมืองน่าน เพื่อ “เมืองน่านน่าอยู่อย่างยั่งยืน ตอบข้อซักถาม และนำคณะฯ ลงพื้นที่ชุมชนในเขตเทศบาลเมืองน่านเพื่อพิจารณาข้อมูลเชิงประจักษ์เพื่อการประเมินโครงการดังกล่าว

ประเทศไทยและสมาชิกองค์การสหประชาชาติได้ให้การรับรองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) เป็นเป้าหมายในการพัฒนา จำนวน 17 เป้าหมาย โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 11 มุ่งเน้นในเรื่องการพัฒนาเมืองให้มีความปลอดภัยและรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน และเป้าหมายที่ 12 ส่งเสริมการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน ประกอบกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ได้กำหนดทิศทางการพัฒนาเมือง โดยการพัฒนาเมืองศูนย์กลางของจังหวัด (1 จังหวัด 1 เมืองน่าอยู่) การส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) การเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน และยุทธศาสตร์ 20 ปี ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้กำหนดให้มีการผลักดันการขับเคลื่อนการจัดการสิ่งแวดล้อมเมืองของประเทศให้เป็นรูปธรรม รวมทั้งสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อให้การดำเนินงานบรรลุเป้าหมายทั้งในระดับชาติและระดับโลก

เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา ครม. ได้มีมติเห็นชอบหลักการและแนวทางการขับเคลื่อนเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน และให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณากำหนดกรอบแนวทางการขับเคลื่อนเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืนให้มีความชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้น กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม จึงได้ดำเนินกิจกรรมส่งเสริมเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน (Green City) โดยการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัด) ในทุกระดับ ได้แก่ ร่วมคิดร่วมวางแผน ร่วมตัดสินใจแก้ไขปัญหา ร่วมลงมือปฏิบัติ ร่วมรับประโยชน์ ร่วมถอดบทเรียนและติดตามประเมินผลในการดูแล อนุรักษ์ ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและร่วมสร้างคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี ด้วยการพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยใช้หลักการพัฒนาที่ยั่งยืน และน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้เป็นเครื่องมือ และแนวทางในการพัฒนาท้องถิ่นทั่วทั้งประเทศไทย

อีกทั้งสร้างความเข้มแข็งและยกระดับท้องถิ่นสู่มาตรฐานการประเมินเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน รวม 4 องค์ประกอบ 34 ตัวชี้วัด ได้แก่ เมืองอยู่ดี คนมีสุข สิ่งแวดล้อมยั่งยืน เทศบาลแห่งการเรียนรู้และการบริหารจัดการที่ดี เพื่อขยายผลสู่เป้าหมายประเทศ 1 จังหวัด 1 เมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน ครอบคลุมพื้นที่ 76 จังหวัด นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคีร่วมดำเนินงานขับเคลื่อนเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืน ในพื้นที่นำร่อง รูปแบบโมเดล “จังหวัดต้นแบบสิ่งแวดล้อมยั่งยืน” เพื่อให้เกิดการช่วยเหลือพึ่งพากันในระหว่างสมาชิกเครือข่าย โดยมีเป้าหมายจะขยายผลการดำเนินงานเมืองสิ่งแวดล้อมยั่งยืนให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งจังหวัดและเชื่อมโยงกับเครือข่ายระดับประเทศต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น