มทร.ล้านนา น่าน ร่วมกับ ไฟฟ้าหงสา ลงพื้นที่อำเภอบ้านหลวง ขับเคลื่อนโครงการชีววิถี เศรษฐกิจพอเพียง ให้กับโรงเรียนบ้านหลวง

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน นำโดย รศ.ดร.เกชา คูหา รองคณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตรน่าน พร้อมด้วย รศ.อนุชา จันทรบูลย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาพืชศาสตร์ และ ผศ.ดร.เอกชัย ดวงใจ อาจารย์ประจำสาขาวิชาสัตวศาสตร์และประมง คุณสุพจน์ ดีอิ่นคำ หัวหน้างานกิจการนักศึกษา และคุณอภิเดช กรรณิกา นักวิชาการศึกษา งานกิจการนักศึกษา กองการศึกษา น่าน ร่วมกับ บริษัท ไฟฟ้าหงสา จำกัด สำนักงานน่าน ลงพื้นที่ โรงเรียนบ้านหลวง อำเภอบ้านหลวง จังหวัดน่าน และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเมืองสวดพืชผลเกษตร อำเภอบ้านหลวง จังหวัดน่าน เพื่อติดตามและเสริมองค์ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงปลาน้ำจืดในบ่อ เรื่องของการดูแลน้ำในบ่อเลื้ยงปลา สูตรอาหารปลา และการให้อาหารปลาที่ถูกหลักการ โดย ผศ.ดร.เอกชัย ดวงใจ เมื่อเดือนมิถุนายน 2564

ต่อมา ผศ.ดร.เอกชัย ดวงใจ ได้ให้ความรู้ในเรื่อง การเลี้ยงกบ และการขยายพันธุ์กบในบ่อ โดยได้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้ในเรื่องของการคัดเลือกพ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ของกบที่จะนำไปขยายพันธุ์ การใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ เพื่อการเพาะขยายพันธุ์กบ และการเตรียมบ่อให้กบได้ผสมพันธุ์ และวางไข่เพื่อการขยายพันธุ์ ผู้เข้าร่วมฝึกอบรมจะได้นำองค์ความรู้ที่ได้นำไปปฎิบัติ ภายใต้โครงการชีววิถี เศรษฐกิจพอเพียง ต่อไป

นอกจากนี้สาขาสัตวศาสตร์และประมง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มทร.ล้านนา น่าน ได้สนับสนุนพ่อพันธุ์กบ จำนวน 12 ตัว และแม่พันธุ์กบ จำนวน 8 ตัว ให้โรงเรียนบ้านหลวง, กลุ่มชีววิถีบ้านพี้เหนือและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเมืองสวดพืชผลเกษตร อำเภอบ้านหลวง จังหวัดน่าน นำไปเลี้ยงเพื่อเพาะขยายพันธุ์ ในพื้นที่อำเภอบ้านหลวง เป็นการนำร่องตามวัตถุประสงค์ของโรงเรียนบ้านหลวง กลุ่มชีววิถีบ้านพี้เหนือ และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเมืองสวดพืชผลเกษตร จังหวัดน่าน ที่ได้ดำเนินงานการจัดทําโครงการชีววิถี เศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นการดำเนินการตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 เรื่อง ”เศรษฐกิจพอเพียง” และยังเป็นการส่งเสริมให้เด็กนักเรียนและประชาชนในพื้นที่อำเภอบ้านหลวง มีรายได้เพิ่มขึ้น และลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และยังเป็นอีกหนึ่งอาชีพทางเลือกในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 และยังสามารถนําความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ปฎิบัติ เพื่อขยายเป็นอาชีพที่ทํารายได้ให้แก่ครอบครัว ได้อย่างยั่งยืนในอนาคตต่อไปได้ อีกทั้ง ยังสามารถเป็นศูนย์เรียนรู้ให้กับนักเรียน และประชาชนทั่วไปที่สนใจ ได้เข้ามาศึกษาดูงาน ได้อีกทางหนึ่งด้วย

ขอขอบคุณข้อมูลภาพและข่าว จาก คุณสราวุธ บุญพูล ทีมงานฝ่ายสื่อสารองค์กร สำนักงานน่าน บริษัท ไฟฟ้าหงสา จำกัด

ร่วมแสดงความคิดเห็น