(มีคลิป) ผู้ว่าฯเชียงใหม่ ร่วมเปิด แจ้งเกิดสภาลมหายใจภาคเหนือแก้ฝุ่นควัน PM 2.5 ยั่งยืน รุกเสนอ 8 ประเด็นรวมพลังดันแก้ไขปัญหาล่วงหน้าปี 2565

รุกเสนอ 8 ประเด็นรวมพลังดันแก้ไขปัญหาล่วงหน้าปี 2565

เปิดตัวสภาลมหายใจภาคเหนือรวมเครือข่ายองค์กรภาคเอกชน-การแพทย์-การศึกษา และภาคประชาสังคม รุกสร้างแรงกระเพื่อมแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 ระดับภูมิภาคอย่างยั่งยืน ลงนามความร่วมมือผลักดันผลักดันข้อเสนอการป้องกันและแก้ปัญหาก่อนฤดูฝุ่นควันรอบใหม่ พ.ศ.2565 ที่คาดว่าจะรุนแรงกว่าทุกปี จากสภาพอากาศแห้งแล้งและการเผาในพื้นที่การเกษตร ยื่นขอเสนอเชิงรุก 8 ข้อต่อรัฐบาลให้ติดตั้งเครื่องวัดคุณภาพอากาศ ครอบคลุมทุกตำบลใน 8 จังหวัดภาคเหนือ-การควบคุมการเผาในพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่-ใช้โมเดลกระจายอำนาจจัดการไฟให้ชุมชน และท้องถิ่น ส่งเสริมนำนวัตกรรม-เทคโนโลยีมาแก้ปัญหา และเร่งรัดกระบวนการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันข้ามแดนเชิงรุก ที่เกิดจากพื้นที่เกษตรอุตสาหกรรมในประเทศเพื่อนบ้าน

นายวิทยา  ครองทรัพย์ หัวหน้าโครงการขับเคลื่อนกิจกรรมเครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ  (สภน.) เปิดเผยว่า  สืบเนื่องจากปัญหามลพิษอากาศฝุ่นควัน  PM 2.5  ของภาคเหนือเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ต่อเนื่องมากกว่า 15 ปี  ส่งผลให้ประชาชนในภาคเหนือมีผลกระทบด้านสุขภาพ และส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจในพื้นที่เป็นอย่างมาก โดยมีสาเหตุ ปัจจัยที่เป็นภาพรวมและมีความแตกต่างกันในแต่ละจังหวัดของภาคเหนือ โดยปัญหาฝุ่นควันดังกล่าวมีผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพของประชาชนทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ของภาคเหนืออย่างมากและมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น และยังไม่มีแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดและยั่งยืนเกิดขึ้น

ดังนั้น จึงได้จัดโครงการขับเคลื่อนกิจกรรมเครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่จะระดมความคิดเห็นเพื่อพัฒนาข้อเสนอของเครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ รวมถึงแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้เกิดข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อให้บรรลุการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนในการลดความรุนแรงและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือในอนาคต จึงได้จัดการประชุมและร่วมลงนามความร่วมมือขับเคลื่อนสภาลมหายใจภาคเหนือ 8 จังหวัดขึ้น ในวันที่  9 กรกฎาคม พ.ศ. 2564  ก่อนที่จะขยายไปเพิ่มเป็น 17 จังหวัดในอนาคต โดยได้รับการสนับสนุนจากองค์กรหลายส่วนได้แก่ หอการค้าภาคเหนือ สภาการเกษตร ภาคการศึกษาในแต่ละพื้นที่ ตลอดจนองค์กรพัฒนาเอกชน ชมรมด้านสิ่งแวดล้อมทางอากาศ ภาคประชาสังคมเป็นต้น

นายสมบัติ ชินสุขเสริม ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจพื้นที่ภาคเหนือ หอการค้าไทย และที่ปรึกษาสภาลมหายใจภาคเหนือ กล่าวว่า แนวโน้มของสถานการณ์มลพิษทางอากาศมีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้มีการขยายตัวของมลพิษครอบคลุมไปยังพื้นที่ต่าง ๆ กว้างขวางขึ้น   ยังส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคเหนือแลประเทศ ทั้งในด้านงบประมาณในการรักษาพยาบาล ความเสียหายต่อธุรกิจการท่องเที่ยว และภาพลักษณ์ของประเทศที่สะท้อนถึงความล้มเหลวในการจัดการเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพของประชาชนและการจัดการมลพิษ  ในส่วนของหอการค้าไทย และหอการค้าจังหวัดภาคเหนือทั้ง 17 จังหวัด พร้อมที่จะร่วมสนับสนุนการดำเนินงานของสภาลมหายใจภาคเหนือ และทุกภาคส่วน เพื่อช่วยกันแก้ไขฝุ่นควันและมลพิษทางอากาศให้หมดไปในอนาคต

ศ.นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ปรึกษาสภาลมหายใจภาคเหนือ กล่าวว่า จากการถอดบทเรียนของปัญหาฝุ่นควันภาคเหนือในปี 2564  ช่วงวิกฤติฤดูแล้งที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีการรายงานต่อคณะรัฐมนตรีว่าดีขึ้นโดยลำดับ  เมื่อได้วิเคราะห์ประเด็นปัญหาแล้วพบว่าการสถิติจุดความร้อนลดลงอย่างชัดเจน ส่วนหนึ่งมาจากการยกระดับปัจจัยจากการบริหารจัดการในบางจังหวัด แต่ปัจจัยเอื้อสำคัญที่สุดมาจากสภาพภูมิอากาศ เกิดปรากฏการณ์ลานีญ่ามีฝนมากกว่าปกติ ค่ามลพิษและการเกิดไฟโดยเฉพาะในเดือนเมษายน ลดลงเมื่อเทียบจากปีปกติ จึงไม่อาจยืนยันว่ามาตรการแก้ปัญหาของปี 2564 ได้รับความสำเร็จ และยังพบว่ามาตรการแก้ปัญหาของรัฐหลายประการยังมีปัญหาในเชิงประสิทธิภาพ ไม่เป็นไปตามแผนปฏิบัติการตามวาระแห่งชาติฯ และคาดว่าปัญหามลพิษอากาศฝุ่นควันไฟ pm2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือระยะต่อจากนี้ไปถึงปลายปี 2564 -ต้นปี 2565 จะรุนแรงขึ้นกว่าปีนี้เนื่องปัจจัยทางภูมิอากาศความแห้งแล้ง และการสะสมของเชื้อเพลิงจากใบไม้ในป่า รวมถึงพื้นที่เผาไหม้ทางการเกษตรในเขตภาคเหนือตอนล่าง และจากประเทศเพื่อนบ้าน

ดังนั้น สภาลมหายใจภาคเหนือ จึงได้เสนอให้รัฐบาลเร่งดำเนินมาตรการป้องกันและแก้ปัญหาที่ถูกละเลยก่อนฤดูฝุ่นควันรอบใหม่ พ.ศ.2565 รวม 8 ด้านด้วยกัน ดังนี้คือ

  • รัฐบาลต้องประกาศมาตรฐานคุณภาพอากาศใหม่เป็นไปตามเป้าหมายระยะ 3 ของ WHO คือ ค่าเฉลี่ยราย24 ชั่วโมงปรับจาก50มคก./ลบ.ม. เป็น37มคก./ลบ.ม. และค่าเฉลี่ยรายปีปรับจาก25มคก./ลบ.. เป็น15 มคก./ลบ.ม. ขอให้รัฐบาลจัดการต่อยอดขยายโครงการโรงเรียนสู้ฝุ่นซึ่งจะมีการให้องค์ความรู้ในการป้องกันตัวเองของนักเรียนและชุมชน ติดตั้งเครื่องวัดคุณภาพอากาศขนาดเล็กที่มีประสิทธิภาพให้ครอบคลุมทุกตำบลใน 8 จังหวัดภาคเหนือที่มีวิกฤตคุณภาพอากาศเป็นประจำทุกปีเพื่อให้เกิดการตื่นตัวในหมู่ประชาชนและเป็นการเตรียมการป้องกันด้านสุขภาพของตัวเองด้วยก่อนขยายไปทั้งภาคเหนือ
  • ขอให้รัฐบาลเร่งศึกษาสาเหตุต้นตอการเกิดไฟในพื้นที่ป่าภาคเหนืออย่างจริงจัง และวางมาตรการป้องกันและแก้ไขให้ตรงกับลักษณะปัญหา รวมถึง เปิดให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานรัฐอื่นและภาคประชาชนให้เข้ามามีส่วนในการร่วมแก้ปัญหาตลอดทั้งปี โดยไม่ติดข้อปัญหาทางกฎหมายป่าไม้
  • ให้รัฐบาลเร่งรัดทุกมาตรการเปลี่ยนการเผาภาคเกษตรให้เป็นวิธีการอื่นที่ยั่งยืน โดยขอให้เกิดมาตรการเชิงรุกกำหนดเป้าหมายโซนนิ่งเกิดพื้นที่นิเวศเกษตรยั่งยืน รับรองสิทธิเกษตรกรให้ปลูกพืชผลยืนต้นปลอดการใช้ไฟ โดยกำหนดเป้าหมายเชิงปริมาณให้ชัดเจน และให้เกิดการดำเนินการร่วมกับประชาชนในท้องถิ่นได้ภายในปีงบประมาณ 2564  เช่น ไร่อ้อยในสัดส่วนที่ยังจำเป็นต้องเผา ให้มีมาตรการบริหารจัดการไม่ให้เผาแปลงใหญ่ไม่ให้เผาข้ามคืน โดยให้เสร็จสิ้นภายในเวลากำหนด เป็นต้น
  • เสนอให้เกิดกลไกกระจายอำนาจร่วมจัดการไฟให้ชุมชนและท้องถิ่น ในการร่วมออกแบบวางแผน กำหนดมาตรการระดับพื้นที่สามารถดำเนินการได้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยมีงบประมาณสนับสนุนด้วยนอกจากจะมีกลไกแก้ปัญหาที่ทำงานกับชุมชนทั้งปีแล้ว ยังเกิดมีประสิทธิภาพระหว่างการบูรณาการระหว่างชุมชนและท้องถิ่นกับผู้ว่าราชการจังหวัดในช่วงเผชิญเหตุในช่วงฤดูไฟ และมีการเสนอให้แต่ละจังหวัดมีการดำเนินการพื้นที่ต้นแบบชุมชนนำร่องที่เป็นต้นแบบแต่ละจังหวัด ครอบคลุมทั่วภาคเหนือ เพื่อความยั่งยืนและขยายผลในอนาคตต่อไป

  • การเร่งรัดนำนวัตกรรมเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ ทุกจังหวัดอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในการรับรู้ข้อมูลส.ภาพการณ์ระหว่างที่เกิดปัญหามลพิษอากาศอย่างรวดเร็ว ทั่วถึง และสะดวกโดยตั้งศูนย์ข้อมูลสารสนเทศมลพิษฝุ่นควันไฟและระบบสื่อสารประชาสัมพันธ์เชิงรุกระดับจังหวัด และให้มีการตั้งวอร์รู้มบัญชาการสถานการณ์ระดับจังหวัดที่มีเทคโนโลยีทันสมัย ทราบข้อมูลดาวเทียม สภาวะอากาศและการสื่อสารสั่งการที่ทันสมัย รวมถึงเกิดการนำนวัตกรรมเทคโนโลยีที่มาจากผลการวิจัย การริเริ่มแนวทางการแก้ไขปัญหาเชิงนวัตกรรมมาใช้ให้แพร่หลายโดยสร้างกลไกความร่วมมือกับภาควิชาการและมหาวิทยาลัยในพื้นที่ภาคเหนือรวมถึงชุมชนประชาสังคมตามความต้องการของแต่ละพื้นที่
  • เร่งกระบวนการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันข้ามแดนเชิงรุก ที่เกิดจากพื้นที่เกษตรอุตสาหกรรม (Trans-boundary Externality) ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่และสร้างฝุ่นควันให้กับภาคเหนือ การเกิดผลกระทบจากภายนอกข้ามพรมแดนส่งผลต่อระดับคุณภาพอากาศของจังหวัดที่มีชายแดนต่อกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างชัดเจน เสนอให้เกิดกระบวนการส่งเสริมการประสานงาน ระหว่างประชาชนกับประชาชนควบคู่การเจรจาระหว่างหน่วยงานรัฐส่งเสริมโครงการการเปลี่ยนอาชีพและรับซื้อผลผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในพื้นที่พรมแดนตลอดถึงสินค้าข้ามแดน และพิจารณาเตรียมศึกษาและนำมาตรการกีดกันทางการค้าและการลงทุนที่กระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เป็นมาตรการเชิงรุกเพิ่มเติม
  • ส่งเสริมสิทธิทางกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนและชุมชน เนื่องจากการได้รับอากาศที่สะอาดเป็นสิทธิพื้นฐานที่ประชาชนพึงจะได้รับจากการปกป้องของภาครัฐที่จะสามารถบริหารจัดการได้ หลักการข้อนี้เป็นหลักพื้นฐานที่รัฐควรส่งเสริมให้เกิดการรับรู้อย่างกว้างขวางและเกิดสภาพปฏิบัติจริงในทุกระดับ โดยให้มีการประกาศหลักปฏิบัติของหน่วยงานรัฐ เพื่อรับรองสิทธิในอากาศสะอาดของประชาชน เกิดขึ้นและใช้ปฏิบัติจริง
  • เสนอให้รณรงค์ความรู้ความเข้าใจแก่ชุมชนเป้าหมายตลอดทั้งปี ใช้ข้อมูลด้านสุขภาพต่อคนในชุมชนโดยเฉพาะผลกระทบด้านการพัฒนาการของเด็กเล็ก ให้มีมาตรการเชิงรุกตั้งแต่ต้นปีก่อนฤดูฝุ่นควันไฟ ให้มีการตั้งห้องปลอดภัยติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ และแจกจ่ายหน้ากากกันฝุ่น 5 ให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้าน ศูนย์เด็กเล็กและมีมาตรการช่วยเหลือกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง เพื่อให้กลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ปลอดภัยจากฝุ่นควันเกินมาตรฐานครอบคลุมทุกพื้นที่ภาคเหนือที่มีค่ามลพิษเกินมาตรฐาน รวมถึงแนวทางหยุดเรียนหรือหยุดงานกลางแจ้งกรณีค่าฝุ่นควันเกินมาตรฐาน ให้เป็นข้อปฏิบัติอย่างครอบคลุม

หัวหน้าโครงการขับเคลื่อนกิจกรรมเครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ  (สภน.) กล่าวตอนท้ายว่า ในเครือข่าย 8 จังหวัดมีความมุ่งมั่นและมองเห็นปัญหาร่วมกันที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน เราไม่อยากเห็นสภาพปัญหาฝุ่นควันมลพิษเกิดขึ้นทุกปีแล้วเราจำนนกับปัญหา และมุ่งหาทางแก้ไขเชิงตั้งรับอย่างเดียว ทั้งที่จริงแล้วปัญหาทุกด้านสามารถแก้ไขปัญหาได้ในเชิงนโยบายและอำนาจของภาครัฐ และเรายังจะผลักดันกลไกทางกฎหมาย พรบ.กฎหมายอากาศสะอาด  เช่นเดิมผ่านทุกกลไกที่เกี่ยวข้องทั้งภาคเอกชน ภาคการเมืองและภาคประชาสังคม เพื่อดำเนินงานและบริหารจัดการทั้งระบบ ควบคุมดูแลคุณภาพอากาศให้สะอาดและปลอดภัยต่อประชาชนทั้งประเทศในอนาคตต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น