“พาณิชย์ลำพูน” เดินหน้าช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกลำไย จ.ลำพูน เตรียมแนวทางการบริหารตลาดลำไย ปี 2564 อย่างเร่งด่วน

14 ก.ค. 64 นางนิยดา หมื่นอนันต์ พาณิชย์จังหวัดลำพูน เปิดเผยว่า จังหวัดลำพูน มีพื้นที่เพาะปลูกลำไย เนื้อที่ยืนต้น 351,167 ไร่ เนื้อที่ให้ผล 325,972 ไร่ คาดการณ์ปริมาณผลผลิตรวม 335,948 ตัน จำนวนเกษตรกร 54,082 ราย แบ่งได้ดังนี้ ลำไยในฤดู : เก็บเกี่ยวผลผลิตประมาณช่วงปลายเดือนมิถุนายน – เดือนกันยายน และออกมากช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม ผลผลิต 228,022 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา จำนวน 89,434 ตัน (39.22%) และลำไยนอกฤดู : เก็บเกี่ยวผลผลิตประมาณช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม และช่วงเดือนตุลาคม–ธันวาคม ผลผลิต 107,926 ตัน ลดลงจากปีที่ผ่านมา 3,755 ตัน (-3.48%) โดยปัจจุบัน สถานการณ์ด้านการค้า ตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ 1) ตลาดจีน เข้มงวดเรื่องการตรวจตู้ขนส่งลำไยหาเชื้อโควิด-19 โดยหากพบเชื้อจะดำเนินการทำลายทิ้งทันที ณ วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ราคาจำหน่ายปลีกลำไยตามเกรด ที่นครเฉิงตู 177.21 – 216.80 บาท/กิโลกรัม 2) ตลาดอินโดนีเซีย ต้องใช้ใบ GAP 25 ไร่/ตู้ ในการขอโควตาในการส่งออกลำไย 3) ตลาดมาเลเซีย ประเทศมาเลเซียประกาศล็อคดาวน์ ตั้งแต่วันที่ 3 – 17 กรกฎาคม 2564 ทำให้การส่งออกลำไยหยุดชะงัก 4) ตลาดเวียดนาม นำลำไยเกรด B ไปทำลำไยเนื้อสีทอง ข้อมูล ณ วันที่ 5 กรกฎาคม 2564 สถานการณ์ตลาดลำไยจังหวัดลำพูน ขณะนี้ มีผู้ประกอบการเปิดจุดรับซื้อเพียงบางส่วน เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมีปริมาณน้อย ซึ่งคาดว่าปริมาณลำไยจะออกมากในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม 2564 โดยมีราคารับซื้อ ณ วันที่ 13 กรกฎาคม 2564 ดังนี้ 1. ลำไยสดช่อ (มัดปุ๊ก) เกรด AA+A ราคา 23 – 27 บาท เกรด A+B ราคา 15 – 20 บาท เกรด B+C ราคา 8-12 บาท 2. ลำไยสดช่อ (ตะกร้าขาว) เกรดจีน ทอง 33-34 บาท แดง 31-32 บาท น้ำเงิน 23-26 บาท เขียว 14-15 บาทเกรดอินโด ทอง 23-24 บาท แดง 22-23 บาท น้ำเงิน 18 บาท เขียว 12 บาท และ ลำไยสด (รูดร่วง) AA 22-24 บาท A 12-14 บาท B 6-7 บาท C 1-2 บาท

โดยทั้งนี้ ทั้งนั้น จังหวัดลำพูน โดยสำนักงานพาณิชย์จังหวัดลำพูน ได้ติดตามสถานการณ์ราคาลำไยในพื้นที่จังหวัดลำพูน อย่างใกล้ชิด และประเมินสถานการณ์เป็นรายวัน เพื่อเตรียมการรองรับผลผลิตลำไยออกสู่ตลาดอย่างเร่งด่วน โดยในปีการผลิต 2564 สำนักงานพาณิชย์จังหวัดลำพูน ได้รับมีแนวทางการบริหารจัดหารผลผลิตลำไย ดังนี้

1. โครงการกระจายลำไยออกนอกแหล่งผลิต จังหวัดลำพูน ปี 2564 โดยมีเป้าหมายผลผลิตจำนวน 1,200 ตัน งบประมาณ 3,708,000 บาท เพื่อเชื่อมโยงกระจายลำไยออกนอกแหล่งผลิต โดยสนับสนุนค่าบริหารจัดการกระจายผลไม้ออกนอกแหล่งผลิตในอัตรา ไม่เกิน 3 บาท/กิโลกรัม โดยผู้เข้าร่วมโครงการต้องรับซื้อจากเกษตรกรในราคานำตลาด กก.ละ 1.50 บาท โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการ จำนวน 26 ราย เริ่มดำเนินการรับซื้อผลผลิตตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม – 15 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป
2. กิจกรรมเพิ่มช่องทางการจำหน่ายลำไย ผ่านช่องทางออนไลน์ และออฟไลน์ ในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก
3. เชื่อมโยงกระจายลำไยผ่านเครือข่ายสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ และหน่วยงานภาครัฐไปยังจังหวัดปลายทาง
4.จัดหาสถานที่ (พื้นที่) ที่ไม่ใช่แหล่งผลิตลำไย ในพื้นที่จังหวัดภาคกลาง เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้แก่เกษตรกร เช่น ห้างสรรพสินค้า ห้างท้องถิ่น นิคมอุตสาหกรรม ฯลฯ
5. การจัดทำสัญญาข้อตกลงซื้อ-ขายลำไย MOU ล่วงหน้า / Modern Trade
6. เตรียมการกระจายลำไย ผ่านร้านค้าธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น และโครงการรถเร่ Mobile
ซึ่งการแนวทางดำเนินการที่กล่าวมาข้างต้น สำนักงานพาณิชย์จังหวัดลำพูน ได้ปรับกลยุทธ์การการตลาดลำไย ในปี 2564 เพิ่มเติมให้เข้มข้นช่วยเหลือพี่น้องชาวสวนเกษตรกรผู้ปลูกลำไยจังหวัดลำพูน มากกว่าเดิมทั้งด้าน การตลาดในประเทศ และต่างประเทศ ประชาสัมพันธ์กระตุ้นความต้องการบริโภค และรณรงค์บริโภคผลไม้ตามฤดูกาลในประเทศ ซึ่งได้เพิ่ม การตลาดต่างประเทศมากขึ้น อาทิ การเชื่อมโยงสินค้าลำไย โดย คณะทำงานเซลล์ระดับจังหวัดลำพูน การทำ Online Business Matching (OBM) และ Cross Border E-​commerce นอกเหนือจากนั้นสำนักงานได้วางแนวทางแก้ปัญหาลำไยระยะยาว​ โดยการเพิ่มการแปรรูป​ลำไยให้หลากหลายมากขึ้นอีกด้วย

ด้านการกำกับดูแลการซื้อขายลำไย ปี 2564 จังหวัดลำพูนได้จัดทำแผนลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์และการปิดป้ายแสดงราคารับซื้อลำไยอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมเป็นต้นมา และแจ้งประสานนายอำเภอทุกอำเภอ ในฐานะประธานคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องจากผลิตผลการเกษตรระดับอำเภอ (คพอ.) ดำเนินการติดตามสถานการณ์การรับซื้อและการปิดป้ายแสดงราคารับซื้อลำไยในเขตพื้นที่รับผิดชอบอย่างใกล้ชิดและเคร่งครัด โดยขอความร่วมมือผู้ประกอบการรับซื้อลำไย ปิดป้ายแสดงราคารับซื้อในช่วงเช้าของแต่ละวันที่มีการรับซื้อ ประสานศูนย์ชั่งตวงวัดภาคเหนือ (เชียงใหม่) ลงพื้นที่ตรวจรับรองเครื่องคัดขนาดลำไยสดตัดขั้ว (รูดร่วง) พร้อมทั้งตรวจสอบเครื่องชั่งที่ใช้ในการรับซื้อลำไยของผู้ประกอบการ (จุดร่อน) ในพื้นที่จังหวัดลำพูน ในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาด ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นมา

ร่วมแสดงความคิดเห็น