ทีมม้าแก่ กองทุนอนุรักษ์เอกวารโบราณเมืองน่าน พบคัมภีร์โบราณรอดจากไฟไหม้เมื่อ พ.ศ. 2561

เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2561 เวลา 09.00 น. ทีมม้าแก่ กองทุนอนุรักษ์เอกวารโบราณเมืองน่าน โดย นายสมเจตน์ วิมลเกษม ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปวัฒนธรรมของ อพท./ ครูภูมิปัญญาไทยพร้อมทีมงานคณะกรรมการ หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติและศิลปกรรมจังหวัดน่าน โรงเรียนสตรีศรีน่าน ย้ายฐานจากวัด “หนองรัง” อ.ภูเพียง ไปยังวัด บุญยืน พระอารามหลวง ของท่านมหาเกรียงไกร  อหิงสโก ปธ.9 เจ้าคณะอำเภอเวียงสา ได้เมตตาแก่คณะทำงานเป็นอย่างดียิ่งในภาวะโควิดเยี่ยงนี้ วัดนี้มีความตั้งใจ จะเข้ามาทำการอนุรักษ์ฯตามโครงการฯ ตั้งแต่ปีที่แล้ว ก็มีอันต้องเลื่อนออกไปด้วยเหตุผลหลายประการ วัดนี้ผมเคยสำรวจเมื่อปี 2537 ครั้งหนึ่งแล้ว ติดใจ ในคัมภีร์หลายเรื่องที่โชคดี คัมภีร์เหล่านี้รอดจากไฟไหม้เมื่อ พ.ศ. 2561 มาได้นับเป็นบุญอย่างยิ่ง เพราะวันนี้เราเจอคัมภีร์ที่เก่าแก่ 3 เรื่องคือ
1. บาลีจุลวัคค์ อักษรธัมม์ลาว จ.ศ.920 (พ.ศ. 2101) อายุ 463 ปี
2. บาลีมโนรถปุรณีอัตถคาถาอังคุตรนิกาย พบผูก 5 เพียงผูกเดียว เป็นอักษรธัมม์ลาว ไม่ปรากฏ จ.ศ.(อายุน่าจะร่วมสมัยกัน)
3. ฏีกามหาเวสสันตร ชาตก พบเพียง 3 ผูก เป็นอักษรธัมม์ล้านนา เป็นคัมภีร์ของวัดปากงัว (งั่ว) เมืองเชียงแสน จารเมื่อ จ.ศ. 940 (พ.ศ. 2121) อายุ 443 ปี

ทั้ง 3 เรื่องทรงคุณค่าทางวรรณกรรมพระพุทธศาสนาและประวัติศาสตร์เป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นช่วงเวลาที่บุเรงนองแห่งพุกามยึดดินแดนล้านนาได้ทั้งหมดรวมทั้งเมืองน่านด้วย และทางพม่าได้แต่งตั้งให้พระยาหน่อเสถียรไชยสงครามไปปกครองเมืองน่าน พิสูจน์ให้เห็นว่าเมื่องเชียงใหม่สูญเสียความเป็นรัฏฐาธิปัตรแล้ว ศูนย์กลางพระพุทธศาสนาก็เปลี่ยนไปรุ่งเรืองอยู่เชียงแสนแทน ถือเป็นตักศิลาของพระพุทธศาสนาของล้านนา เอกสารเหล่านี้น่าจะเข้ามาในช่วงของเจ้าฟ้าอัทถวรปัญโญ ปกครองเมืองน่าน หลังจากยึดเมืองเชียงแสนได้สำเร็จ (ตรงกับสมัย ร.1 ) เพราะวัดบุญยืนเป็นวัดที่พระองค์โปรดให้สร้างขึ้นสมัยพระองค์ครองเมืองน่านในระยะแรกก่อนจะย้ายไปอยู่ในเวียงน่านปัจจุบัน เมื่ออพยพชาวเชียงแสนส่วนหนึ่งมาอยู่เมืองน่าน วัดนี้น่าจะเป็นที่พำนัก หรือจำวัดของพระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่มาจากเชียงแสนครั้งนั้นก็เป็นไปได้ ขอบคุณสมบัติของชาติที่ยังคงอยู่เพื่อเป็นหลักฐานอ้างอิงต่อไป สำหรับผู้ศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์เชียงแสน

นายสมเจตน์ วิมลเกษม ผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปวัฒนธรรมของ อพท./ ครูภูมิปัญญาไทย กล่าว่าสำหรับผมที่เป็น “ครู” นี่คือกระบวนการเรียนการสอนที่งดงาม อันเกิดจากการมีส่วนร่วม ปีนี้กองทุนผมกับผู้สนใจใฝ่รู้ก็จักมีใบลานเพื่อใช้จารจารึกคำสอนของพระศาสดาให้สืบทอดพระพุทธศาสนาต่อไป และแรงใจจากกัลยาณมิตรทุกสารทิศที่ให้มาสิ่งยากก็ง่าย ทีมเราคำว่าอุปสรรคและปัญหาไม่มี เพราะความร่วมมือย่อมได้จากชุมชนเสมอหากเราเอา “ใจแลกใจ” กัน สำหรับเพื่อนร่วมอุดมการณ์ที่มีศรัทธาอยากมีส่วนร่วมบริจาคได้ที่ บัญชีเลขที่ 695-0-26579-4  ธนาคารกรุงไทย หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเต็มได้ที่ นายสมเจตน์ วิมลเกษม เบอร์โทรศัพท์ 0892663770 หรือ 0612984747

ประสิทธิ์ สองเมืองแก่น

ร่วมแสดงความคิดเห็น