เชียงใหม่ เตรียมพร้อมด้านการรักษาพยาบาล รองรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้น

วันนี้ (20 ก.ค. 64) ที่ห้องประชุม 3 ชั้น 3 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ นพ.วรเชษฐ เต๋ชะรัก ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลนครพิงค์ เปิดเผยในการแถลงข่าวสื่อมวลชนประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 39/2564 ว่า เนื่องจากสถาน การณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ขณะนี้มีอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจทำให้เกิดข้อกังวลใจในเรื่องของศักยภาพ ในการรองรับผู้ติดเชื้อที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งด้านสถานที่ เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่างๆ โดยจากการระบาดระลอกเดือนเมษายนที่ผ่านมานั้น จังหวัดเชียงใหม่มีผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อกว่า 4,000 คน ซึ่งระบบการจัดการที่ได้เตรียมการนั้น สามารถรองรับผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อได้ทั้งหมด ทั้งโรงพยาบาลสนาม และโรงพยาบาลในระบบที่มีศักยภาพที่สูงขึ้น

ขณะนี้ จังหวัดเชียงใหม่ได้มีเตรียมการเพื่อรองรับผู้ป่วย หรือผู้ติดเชื้อให้มีความพร้อมมากขึ้นกว่าเดิม จากประสบการณ์ที่ผ่านมา โดยในช่วงที่มียอดผู้ติดเชื้อลดลง ทางโรงพยาบาลต่างๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการปรับปรุงระบบให้มีความพร้อม เพื่อรองรับสถานการณ์มากยิ่งขึ้น ซึ่งขณะนี้มีผู้ป่วยที่ติดเชื้อประมาณ 500 กว่าราย และจังหวัดเชียงใหม่ได้เพิ่มจำนวนเตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ (สีเขียว) ให้ได้ถึง 1,300 คน ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมไว้ก่อนเท่านั้น รวมถึงเรื่องห้อง ICU และการเตรียมรองรับผู้ป่วยที่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล ก็ได้เตรียมการไว้เรียบร้อยแล้ว ซึ่งหากมีผู้ป่วยติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น จะสามารถเข้ารับการรักษาได้ทันที นอกจากนี้ ทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ ได้สั่งการให้ทุกอำเภอ เตรียมวางแผนการขยายจำนวนเตียงหรือการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในระดับอำเภอ ให้มีความพร้อมอยู่เสมอ

ทั้งนี้ ในส่วนของอุปกรณ์การแพทย์ และเวชภัณฑ์ของจังหวัดเชียงใหม่ ยืนยันว่ามีเพียงพอ ประกอบกับจังหวัดเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางหลักของภาคเหนือ ในการจัดส่งอุปกรณ์การแพทย์ ยาหรือเวชภัณฑ์ ที่ได้รับการสนับสนุนเข้ามาจากส่วนกลางทั้งหมด ทั้งนี้ ขอให้มั่นใจว่าเวชภัณฑ์หรือยาที่จะต้องใช้ในภาวะฉุกเฉิน รวมถึงอุปกรณ์การแพทย์ต่างๆ ได้มีการเตรียมไว้มากพอสำหรับผู้ป่วยที่อาจจะมีเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว โดยเครือข่ายโรงพยาบาลในจังหวัดเชียงใหม่ทุกแห่ง ได้มีการประสานงานกันอยู่ตลอดเวลา ทำให้การส่งต่อคนไข้ไปรักษาในจุดที่มีความเหมาะสม สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยคนไข้ที่มีอาการหนักก็จะได้รับการส่งต่อมายังโรงพยาบาลที่มีความพร้อมมากกว่า ส่วนคนไข้ที่มีอาการดีขึ้นอาจจะนำส่งตัวไปยังโรงพยาบาลสนาม ทำให้สามารถบริหารเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อในจังหวัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ร่วมแสดงความคิดเห็น