“สังคมดาว ข่าว 25 น.” วันที่ 23 กรกฎาคม 2564

นานนับปีแล้วที่ “ทัดดาว” ไม่ได้เขียนชื่อบุคคลนี้ เป็นข่าวให้ทราบ จนกระทั่งอาทิตย์ที่ผ่านมา มีข่าวถึงบุคคลนี้ มานิต อัชวงค์  ที่เป็นข่าวเพราะเขาเป็นผู้จัดการส่วนตัวของ จรัล มโนเพ็ชร ที่จากไปครบ 30 ปี และจะปั้นรูปหล่อไว้ที่หน้า พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านล้านนา เพื่อเป็นอนุสรณ์ระลึกถึง ศิลปินข้าวนึ่ง….ที่ได้ชื่อว่าโฟล์คซองคำเมือง……

จรัล มโนเพ็ชร โฟล์คซองคำเมือง

วันนี้ได้เขียนถึงบุคคลนี้อีกครั้ง มานิต อัชวงศ์ แต่เป็นข่าวเศร้าเพราะบุคคลท่านนี้ ถึงแก่กรรม ด้วยการลื่นล้ม ในห้องน้ำ สร้างความเศร้าเสียใจให้กับ คนในวงการเพลง และขอขอบคุณ ฉลาด กมลรัตน์ คนเป็นนายก สมาคมนักร้อง-นักดนตรีแห่งประเทศไทย ที่ได้แจ้งข่าวนี้มาให้ทราบถึง ผู้อยู่เบื้องหลัง…..และบุกเบิกโฟล์คซองคำเมือง……

มานิต อัชวงศ์

คนรุ่นใหม่ยุคนี้อาจไม่รู้จักชื่อ มานิต อัชวงศ์ แต่ว่ามีความคุ้นเคย และผูกพันกันมากับ นักข่าวรุ่นเกจิ ที่บ่ายๆ เสร็จจาก งานเขียนหนังสือพิมพ์ ก็จะไปชุมนุมพบปะพูดคุยกันที่ ร้านท่าแพบรรณาคาร (หัวสะพานคลองแม่ข่า) ที่เป็นร้านบุ๊คสโตร์ของเขา ที่สร้างเป็นแห่งแรกๆ ของเมืองเชียงใหม่ สื่อรุ่นเกจิในยุคนั้นก็มี วิทยา มติธรรม-พัลลภ  ขันทนันท์คำ-สงคราม สุวรรณบุศษ์-ปรารภ ประภาลักษณ์ฯลฯ ย้อนไปยุคนั้นเมื่อปี 2520 “ทัดดาว” ยังเริ่มเป็นนักข่าวกระดูกอ่อนต้องคอยวิ่ง ซื้อกาแฟ…ให้พวกครูวงการน้ำหมึก…..

มานิต อัชวงศ์ คนรัก และคุ้นเคยกับชาวสื่อ

ต่อจากนั้นอีกไม่นาน มานิต อัชวงศ์ ก็ขยายธุรกิจจาก ร้านหนังสือพิมพ์ มาเปิดงานในด้าน ธุรกิจบันเทิง ด้วยการเข้าทำร้านอยู่ด้านหลัง โรงแรมเพรสซิเด้นท์ เป็นร้านเดียวในยุคนั้นที่มี วงดนตรีนักร้อง และสลับกับ วงโฟล์คซอง ทำให้ได้เจอะเจอและผูกพันกันกับ จรัล มโนเพ็ชร…..จนเป็นศิลปินคู่บารมี…..

ครบรอบ 30 ปีที่จากไป และตั้งอนุสรณ์สถานต้นกันยายนนี้

อีกไม่นานต่อมาท่านผู้นี้ นำศิลปินลูกข้าวนึ่งไป อัดแผ่นเสียงที่กรุงเทพฯ จนผลงานเพลงโด่งดัง ไปทั่วเมืองไทย และได้ขยับขยายเครือข่ายธุรกิจบันเทิงไปเปิด ใจกลางเมืองหลวง (สามเสน) และระยะหลังๆ ไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้เปิด “จรัลมิวเซียม” จวบจนปัจุบันนี้อยู่ที่ บ้านหม้อคำตวง……ถนนรามอินทรา ซอย 109 กรุงเทพฯ….

มานิต อัชวงศ์ ยังได้สร้าง จรัลมิวเซียม ไว้ที่บ้านหม้อคำตวง กรุงเทพฯ

วันนี้จะเหลือเพียงตำนานให้คนรุ่นหลัง ระลึกถึง เป็นคู่บารมีที่ เกื้อกูลกันมา โฟล์คซองคำเมืองที่จากไป ครบสามสิบปี ที่จะสร้างอนุสรณ์สถานมีพิธีจัดตั้งขึ้นใน ต้นเดือนกันยา น่าเสียดายยิ่งผู้ที่ร่วมปลุกปั้น มานิต อัชวงศ์ ไม่มีโอกาสมาร่วมพิธีสำคัญ แต่เชื่อแน่ว่า เขาทั้งสอง…..ต้องอยู่คู่กัันไม่ว่าภพไหน….

จะต้องมี มานิต อัชวงศ์ คู่บารมีที่นั่งเคียงข้างอยู่ตลอดไป

พ่อเมืองเชียงรายเข้มงวดชายแดน……..

ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นำคณะลงพื้นที่อำเภอแม่สาย เสริมความเข้มงวดในมาตรการกำลัง 3 ฝ่าย คุมเข้มชายแดนสกัดโควิด-19

นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วย ว่าที่ ร.ต.ณรงค์ โรจนโสทร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พล.ต.นฤทธิ์ ถาวรวงษ์ ผู้บัญชาการกองกำลังผาเมือง พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมหารือถึงมาตรการต่าง ๆ เกี่ยวกับการสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ตามแนวชายแดน เมื่อบ่ายวันพฤหัสบดีที่ 22 กรกฎาคม 2564 ที่ห้องประชุมที่ว่าการอำเภอแม่สาย และเดินทางไปตรวจสถานการณ์ชายแดนไทย-เมียนมา ด้านอำเภอแม่สาย ติดกับจังหวัดท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา โดยมี นายประสงค์ หล้าอ่อน นายอำเภอแม่สาย ตลอดทั้ง หัวหน้าส่วนราชการ ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครอง ผู้นำท้องถิ่น ร่วมหารือด้วย

โดยภารกิจในครั้งนี้ เพื่อปรับมาตรการป้องกันไวรัสโควิด -19 ให้เข้มข้มกว่าเดิม หลังจากก่อนหน้านี้ มีการปิดชายแดนตลอดแนว ยกเว้นจุดผ่านแดนถาวรสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา ข้ามลำน้ำสาย แห่งที่ 2 เพื่อใช้ในการขนส่งสินค้าระหว่างกันเพียงจุดเดียวเท่านั้น

โดยเจ้าหน้าที่ได้กำหนดมาตรการใหม่ เน้นความเข้มงวดเรื่องการจัดสถานที่ เพื่อทำการคัดแยกคนงานไทยและเมียนมา ให้ชัดเจนและไม่ให้ปะปนกัน โดยเฉพาะฝั่งไทยที่มีรถยนต์บรรทุกสินค้า และรถตู้ขนส่งสินค้ารวมกันประมาณ 200-300 คัน

นอกจากนี้ ยังได้กำหนดมาตรการห้ามการจับกลุ่มกัน โดยเฉพาะเคยมีเรื่องการรวมตัวกันดื่มสุรา-เล่นการพนัน ให้เลิกพฤติกรรมโดยเด็ดขาด

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังจะกำหนดให้มีการติดบัตรเฉพาะกิจให้ทุกคนและรถทุกคัน เพื่อไม่ให้มีการปลอมปนของคนภายนอก ส่วนเสื้อคนงานภายในก็ได้กำหนดให้มีความชัดเจนคนละ 1 ชุด ไม่ให้มีเกินความจำเป็นที่อาจนำไปใช้เวียนกัน ที่สำคัญจะมีการเสริมกำลังจากทหารมณฑลทหารบกที่ 37 ตำรวจจากหน่วยปฏิบัติการพิเศษ (นปพ.) ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย และฝ่ายปกครองจากหน่วยเฉพาะกิจนรสิงห์ เข้าไปหน่วยงานละ 1 ชุดปฏิบัติการ เพื่อเสริมกำลังในการควบคุมให้ได้ผลอย่างเต็มที่อีกด้วย

นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบันนั้น ทางศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้ประกาศให้มีจังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงและเข้มงวด 13 จังหวัด เอาไว้ชัดเจนแล้ว ส่วนด้าน จังหวัดเชียงราย เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด และยังมีแนวชายแดนโดยเฉพาะด้านอำเภอแม่สาย ซึ่งพบว่าในฝั่งจังหวัดท่าขี้เหล็ก ก็มีการระบาดของโรคเช่นกัน และยังมีคนไทยตกค้าง ซึ่งอยากกลับเข้ามาประเทศอีก ดังนั้น จึงต้องมีการกำหนดมาตรการให้เข้มงวดมากขึ้น เพราะลำพังสถานการณ์ภายในประเทศเราก็หนักหนาพออยู่แล้ว ยังมีกรณีชายแดนที่มีความซับซ้อน เพราะเป็นเขตเมืองที่ต้องใช้กำลังหลายฝ่ายเข้าสนับสนุนฝ่ายทหาร กระนั้นจึงขอยืนยันว่าการค้ายังคงเป็นไปตามปกติ ส่วนการข้ามไปมาของผู้คนก็เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่เข้มงวด เพื่อไม่ให้มีการนำเข้าโรคเพิ่มเติม และไม่นำโรคออกไปติดต่อในประเทศเพื่อนบ้านด้วย

สำหรับกรณีคนไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหญิงสาวที่ข้ามไปทำงานในฝั่งจังหวัดท่าขี้เหล็ก โดยทางการกองกำลังผาเมือง ได้รายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงราย ว่ามีผู้แจ้งผ่านเจ้าหน้าที่ชายแดนประมาณ 20 คน ไม่ได้มีมากถึง 100 คน ตามที่เป้นข่าว และจะกลับประเทศผ่านทางสะพานข้ามลำน้ำสาย แห่งที่ 2 ในวันจันทร์ที่จะถึงนี้ โดย ตม.เมียนมาจะตรวจสอบหากเข้าเมืองผิดฏมาย ต้องเปรียบเทียบปรับก่อน และเมื่อกลับมาถึงฝั่งไทยจะต้องเข้าสู่การกักตัวเป็นระยะเวลา 14 วัน ทั้งนี้จังหวัดเชียงรายขอให้คนไทยที่อยู่ในเมียนมาที่ต้องการกลับบ้าน สามารถติดต่อขอกลับประเทศผ่านเจ้าหน้าที่ชายแดน หรือขอกลับประเทศผ่านทางสถานกงสุลไทย ทางออนไลน์ได้อีกช่องทางหนึ่งได้ด้วย


สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย วันพฤหัสบดีที่ 22/07/64

ทัดดาว

ร่วมแสดงความคิดเห็น