แจ้งพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม-แล้ง เชียงใหม่ ,ลำพูน ติดโผ 12 จังหวัดเสี่ยง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงภัยและภัยแล้ง ในช่วงฤดูฝน ปี 2564 ซึ่งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในฐานะเลขานุการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ แจ้งเรื่อง ไปยังปลัดกระทรวงมหาดไทย ต่อมาได้มีเอกสารประสานแจ้ง กรมส่งเสริมปกครองท้องถิ่น(กสถ. ) แจ้งทุกท้องถิ่น ทุกจังหวัดให้รับทราบผลสรุปการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยง ที่จะเกิดอุทกภัยและภัยแล้งในช่วงฤดูฝน 2564 นี้
โดยจะเป็นข้อมูลปริมาณฝนคาดการณ์ (วันแมพ) ตลอดช่วง ส.ค.-พ.ย.2564 เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับการช่วยเหลือกรณีเกิดอุทกภัย และภัยแล้ง เร่งด่วนทันสถานการณ์ ซึ่งมีการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม ในเดือน ส.ค.นี้ 29 จังหวัด 139 อำเภอ 438 ตำบล ในภาคเหนือมี 12 จังหวัด อาทิ เชียงใหม่,เชียงราย,ลำปาง,แพร่ และน่าน
ทั้งนี้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศล่าสุดวันนี้ ระบุรายละเอียด ในส่วนภาคเหนือว่า
จะ มีฝนตกหนักบางแห่ง มีน้ำน้อยถึงปกติ แนวโน้มลดลง ปริมาณน้ำทั้งประเทศ 39,479 ล้าน ลบ.ม. (48%) ภาคเหนือ 9,090 ล้าน ลบ.ม.ใช้
การได้ 2,183 ล้าน ลบ.ม. เฝ้าระวังน้ำน้อยในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 8 แห่ง ในจำนวนนี้มีเขื่อนแม่กวงฯด้วย และต้องเฝ้าระวังน้ำมากอีก 2 แห่ง

ที่ผ่านมา นายสุดชาย พรหมมลมาศ ผู้อำนวยการ สำนักงานชลประทานที่ 1 เชียงใหม่ ได้ประชุมเจ้าหน้าที่ ผู้เกี่ยวข้องติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ เพื่อเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำ และเตรียมความพร้อมสำหรับฤดูฝนปี 2564โดย นายอภิวัฒน์ ภูมิไธสง ผู้อำนวยการ ส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา รายงานสถานการณ์น้ำฝนในห้วงที่ผ่านมา พบว่ามีฝนตกกระจายในพื้นที่ค่อนข้างน้อย เชียงใหม่มีปริมาณฝนสูงกว่าค่าปกติ 4% และลำพูนต่ำกว่าค่าปกติ 12% แม่ฮ่องสอนต่ำกว่าค่าปกติ 7% ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนขนาดใหญ่ 2 แห่ง รวม 3.45 ล้าน ลบ.ม.
โดยเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล มีปริมาณน้ำสะสม 92.85 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 35% เขื่อนแม่กวงอุดมธารามีปริมาณน้ำสะสม 41.76 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 16% แผนการบริหารจัดการน้ำฤดูฝน สำนักงานชลประทานที่ 1 ได้วางแผนการใช้น้ำ 489.34ล้าน ลบ.ม. ส่งน้ำแล้ว 192.47 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับสถานการณ์การเพาะปลูกพืชฤดูฝนปี 2564 ตามแผนวางไว้ 493,713 ไร่ ปัจจุบันดำเนินการเพาะปลูกแล้ว 370,392 ไร่ คิดเป็น 75% คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคมนี้ มีการเน้นย้ำให้หน่วยงานในพื้นที่ เฝ้าระวังสถาน การณ์อุทกภัยอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งติดตามสถานการณ์สภาพภูมิอากาศ จากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด เพื่อนำมาประกอบกับการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ร่วมแสดงความคิดเห็น