WHO เผยโควิดกลายพันธุ์ “เดลตา” เพิ่มความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อซ้ำ ล่าสุดระบาดแล้ว 142 ประเทศทั่วโลก

วันนี้ (13 ส.ค.64) รายงานล่าสุดของ WHO เปิดเผยผลการศึกษาหลายฉบับ ที่ได้มาจากผลการตรวจเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธีตรวจลำดับพันธุกรรม PCR ในผู้ติดเชื้อโควิดที่ถูกกักตัว พบว่า ปริมาณของไวรัสที่ตรวจพบในผู้ที่ติดเชื้อ “เดลตา” เป็นครั้งแรกนั้น มีจำนวนเชื้อมากกว่า 1,000 เท่า เมื่อเทียบกับปริมาณไวรัสของโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิม ที่ตรวจพบในผู้ป่วยโควิดที่ติดเชื้อสายพันธุ์ดั้งเดิมแสดงว่า เดลตามีความสามารถในการแบ่งตัวที่รวดเร็วมากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมเป็นอย่างมาก ดังนั้น จึงเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อเดลตาซ้ำได้ ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่เดลตาเริ่มระบาด

รายงานประจำสัปดาห์ล่าสุดของ WHO ระบุด้วยว่า เดลตายังระบาดเพิ่มขึ้นเป็น 142 ประเทศ และภูมิภาคทั่วโลกแล้ว โดยเพิ่มขึ้นรวดเดียว 7 ประเทศภายในสัปดาห์เดียวในช่วงวันที่ 4- 10 สิงหาคมที่ผ่านมา ส่วนอัลฟา โควิดกลายพันธุ์จากอังกฤษ ระบาดไป 185 ประเทศทั่วโลก เพิ่มขึ้น 3 ประเทศใน 1 สัปดาห์ ส่วนเบตา กลายพันธุ์จากแอฟริกาใต้ ระบาดไป 136 ประเทศทั่วโลก เพิ่มขึ้น 4 ประเทศจากสัปดาห์ก่อนหน้า และแกมมา กลายพันธุ์จากบราซิล ระบาดไป 81 ประเทศทั่วโลก ทั้ง 4 สายพันธุ์เป็นโควิดกลายพันธุ์อันตราย ที่ WHO ได้ยกระดับให้เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล ส่วนกลายพันธุ์แลมบ์ดา และโคลอมเบีย ยังไม่ได้ถูกยกระดับให้เป็นสายพันธุ์น่ากังวล

WHO ยังสรุปภาพรวมสถานการณ์ล่าสุดการระบาดของโควิดทั่วโลกด้วยว่า ยอดรวมผู้ติดเชื้อโควิดสะสมทั่วโลก ทะลุหลัก 200 ล้านคนไปแล้วเมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา ใช้เวลาเพียงแค่ 6 เดือนในการเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัวจาก 100 ล้านคนแรก ส่วนยอดผู้เสียชีวิต และยอดรวมผู้ติดเชื้อโควิดสะสมทั่วโลก ก็ยังเพิ่มไม่หยุดในรอบสัปดาห์ที่สิ้นสุดวันที่ 8 สิงหาคม โดยผู้เสียชีวิตรายใหม่เพิ่มขึ้นกว่า 65,000 คนทั่วโลกในรอบสัปดาห์ดังกล่าว และผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นมากกว่า 4.2 ล้านคนทั่วโลกในระยะเวลาเดียวกัน

ข้อมูลจาก : TNN ONLINE

ร่วมแสดงความคิดเห็น