อึ้ง!ไฟเขียวท้องถิ่น ใช้งบจัดการโควิด ทุกรูปแบบ

ผู้บริหารองค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) จ.เชียงใหม่ ระบุว่า วานนี้ จ.เชียงใหม่ ได้มีเอกสารด่วนที่สุด เรื่อง การจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด- 19 ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยแจ้งมายังนายอำเภอทุกอำเภอ และ นายกเทศมนตรี ทุก อปท. มีรายละเอียดสรุปว่า กระทรวงมหาดไทย ได้ดำเนินการตามที่ศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด -19 (ศบค.)กำหนดกรอบแนวทางที่มุ่งเน้น เร่งรัดการจัดหาวัคซีน เพื่อเป้าหมายควบคุมป้องกันโรคโควิด -19 ที่จะลดอัตราการป่วยรุนแรง การเสียชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

ดังนั้น ศบค.ไม่มีข้อขัดข้อง หาก อปท.สามารถจัดหาวัคซีน ป้องกันโรคโควิด -19 จากหน่วยงานที่มีหน้าที่และมีอำนาจ ตามข้อ 3 ของประกาศ ศบค.เรื่อง แนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคโควิด- 19 ลงวันที่ 8 มิ.ย.2564 และการดำเนินการต้องเป็นไปตามกฎหมาย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งหลักเกณฑ์แผนการใช้จ่ายงบประมาณของ อปท.ด้วย มิให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ไม่เป็นธรรม ในการกระจายวัคซีนได้ ทั้งนี้เอกสารที่กระทรวงมหาดไทย ( มท. )แจ้งมายัง จังหวัดต่างๆนั้น เน้นย้ำให้ทุกพื้นที่ ให้ความสำคัญกับการเร่งฉีดวัคซีน กลุ่มเป้าหมาย ที่เป็นกลุ่มเสี่ยง (กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้มีโรคประจำตัว หรือโรคตามที่กระทรวงสาธารสุขกำหนด )และการฉีกวัคซีน ในกลุ่มพื้นที่มีการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อน อย่างเร่งด่วนด้วย

“มองว่าค่อนข้างมีความล่าช้า ในการปรับเปลี่ยนแผนตามสถานการณ์ ซึ่งที่ผ่านๆมาจะเห็นว่า มาตรการหลายด้าน ไม่ได้ผล ไม่ว่าจะเป็น การล๊อกดาวน์ การปิดสถานที่เสี่ยงต่างๆ ยิ่งเป็นการซ้ำเติม ส่งผลต่อเศรษฐกิจ สังคม ที่เริ่มวิกฤตหนักยิ่งขึ้น ทางแก้ที่ถูกเป้าหมายที่สุดคือการเร่งรัด กระจายการฉีดวัคซีน ผลสุดท้ายก็เป็นไปตามที่หลายๆฝ่ายประเมินไว้ว่า ต้องมาใช้รูปแบบนี้ จนต้องไฟเขียวให้ อปท. ดำเนินการใช้งบจัดหาวัคซีนได้ตามกำลังความสามารถ ”
อย่างไรก็ตาม ผู้บริหาร อปท. ในพื้นที่เชียงใหม่ ยอมรับว่า ข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ฉบับที่ 27 ที่ระบุข้อปฏิบัติหลายๆข้อ และในเอกสารด่วนที่สุด เน้นย้ำ กรอบปฏิบัติตามข้อ 10 เป็นการเฉพาะ เรื่องมาตรการป้องกันและรองรับผู้ติดเชื้อ

“สาระสำคัญตามมาตรการในข้อ 10 เชื่อว่า ทุกๆ อปท. พยายามดำเนินการ ภายใต้ความร่วมมือ ร่วมใจกันของทุกภาคส่วนในท้องถิ่น ในเขต รับผิดชอบของ อปท.นั้นๆ แต่ประเด็นปัญหาคือ ระดับ อปท. ที่มีในแต่ละจังหวัดทั้ง เทศบาลตำบล เทศบาลเมือง เทศบาลนคร ,อบต. และ อบจ.จะพบสัดส่วนงบประมาณแตกต่างกันมาก อปท.เล็กๆไม่มีศักยภาพ ต้องพึ่งพา อบจ. และในกลุ่ม อบจ. ก็มีงบ จำกัด เช่น ลำพูน มีงบน้อยกว่า เชียงใหม่ ยิ่งแม่ฮ่องสอน งบก็อาจจำกัดกว่าลำปาง เป็นต้น ขนาดระดับ อบจ.ยังมีงบแตกต่างกัน บรรดาระดับ อบต.ด้วยแล้ว งบที่จะนำมาใช้ในมาตรการตามที่ไฟเขียวให้ อปท.ใช้งบจัดการโรคโควิด ทุกรูปแบบ ตามขีดความสามารถ ปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ การเข้าถึงวัคซีน การกระจายการฉีด ในกลุ่มชาวบ้านในเขตรับผิดชอบ จะสร้างผลกระทบตามมามากมาย เช่น หลาย อปท. ใน จ.เชียงใหม่ ถูกต้องข้อสังเกตว่า เหตุใดการฉีดวัคซีน การจัดหาวัคซีนล่าช้า กว่า บาง อปท.ในลำปางหรือจังหวัดอื่น ปัจจุบันการเข้าถึงโควตา

วัคซีน โควิด -19 มีกลไกควบคุมจากหน่วยงานที่มีอำนาจ หน้าที่ ซึ่งถ้าจะให้ อปท. กันงบประมาณออกมา เพื่อจัดหาวัคซีน ตามกำลังความสามารถ เกรงว่าจะยิ่งสร้างปัญหา สร้างความเหลื่อมล้ำ หรือล่าช้าอีก เพราะ อปท.ที่มีงบน้อย ก็ต้องหวังรอวัคซีนจากการจัดสรรตามแผนเดิมๆที่ จังหวัดกำหนดไว้ ในขณะที่ อปท. ซึ่งมีงบประมาณมาก อาจเกิดช่องโหว่ ในการดำเนินการ จนอาจมีข้อครหา เรื่องความโปร่งใส ติดตาม ตรวจสอบการใช้งบกันอีก และ มาตรการยกเว้น ทางพัสดุ จัดซื้อจัดจ้าง เรื่อง ปรับ 0% ต้องพิจารณา เป็นโครงการๆ ไม่ใช่ปล่อยแบบเหมาเข่ง แบบนี้ อปท.ที่มีหลายกิจกรรม โครงการต้องตรวจสอบก็จะได้รับอานิสงส์ไปโดยปริยาย “

ร่วมแสดงความคิดเห็น