สำรวจป่าชุมชนบ้านบุญเรืองยามน้ำหลาก หลังน้ำไม่เข้า 2 ปี เหตุเขื่อนจีนกั้นแม่น้ำโขง ทำลายระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ-ปลาหลายชนิดหายไป

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2564 ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่สำรวจป่าชุ่มน้ำบ้านบุญเรือง อ.เชียงของ จ.เชียงราย เพื่อเก็บข้อมูลความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า ภายหลังได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่า เกิดฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน ทำให้ปริมาณน้ำในลุ่มแม่น้ำอิงมีมาก และเอ่อสูงท่วมตลิ่งเข้าไปยังป่าชุ่มน้ำที่ชุมชนดูแลรักษาแห่งนี้

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวได้นั่งเรือพาย โดยมีชาวบ้านเป็นฝีพาย พาลัดเลาะเข้าไปในป่าบ้านบุญเรืองที่ยังมีต้นไม้ใหญ่น้อยขึ้นอยู่หนาแน่น โดยน้ำได้ท่วมพื้นที่ป่าเป็นบางส่วน โดยมีระดับน้ำความสูงกว่า 1 เมตร ทั้งนี้ป่าริมแม่น้ำอิงมีเอกลักษณ์เฉพาะ คือ ต้นไม้ต่างๆ เช่น ต้นส้มแสง ต้นข่อย สามารถแช่อยู่ในน้ำที่หลากตามฤดูกาลได้นานหลายเดือน ขณะที่ฝูงปลานานาชนิดจากแม่น้ำโขงและแม่น้ำอิง รวมทั้งห้วยหนองคลองบึงต่างๆ ได้ว่ายเข้าไปหากินและขยายพันธุ์ในป่าชุ่มน้ำ เนื่องจากมีอาหารตามธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นลูกไม้ต่างๆ หรือเหล่าแมลงและไส้เดือนที่หนีน้ำขึ้นไปอยู่ตามเนินดินและกิ่งไม้

นายพิชเญศพงษ์ คุรุปรัชญามรรค ชาวบ้านบุญเรือง และผู้ประสานงานสภาประชาชนลุ่มน้ำอิงตอนล่าง กล่าวว่า น้ำหลากเข้าป่าเป็นครั้งที่ 4 ของปีนี้ แต่เป็นการท่วมป่าเพียงระยะสั้นๆ แค่ไม่เกิน 1-2 คืน แล้วก็เริ่มลดระดับลง ทำให้ความหลากหลายในพื้นที่จึงยังไม่มากเท่าที่ควร โดยน้ำไม่ได้หลากเข้าป่าบุญเรืองตามที่ควร จะเป็นตามวัฏจักรฤดูกาลมา 2 ปีแล้ว ทำให้พันธุ์สัตว์น้ำและการกระจายเมล็ดพันธุ์พืชมีปัญหา สาเหตุเกิดจากน้ำต้นทุน จากกว๊านพะเยา มีปริมาณน้อยลง ขณะที่แม่น้ำโขงก็มีปริมาณน้อยเช่นกัน โดยขณะนี้แม่น้ำโขงมีปริมาณน้ำสูงเพียงราว 2.9 เมตร ซึ่งถือว่าต่ำมากในฤดูน้ำหลาก แทนที่จะสูง 4-6 เมตร เหมือนฤดูฝนตามธรรมชาติในอดีต

“หลายปีที่ผ่านมาปลาหลายชนิดที่ชาวบ้านเคยหาได้ก็หายไป เช่น ปลากดคังตัวใหญ่ๆ และปลาอีกหลายชนิดที่หายไปตั้งแต่ปี 2541 ปลาบางชนิดที่ชาวบ้านเคยจับได้ตัวใหญ่ๆ ตอนนี้จับได้ตัวเล็กลง เพราะความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ เราเคยเก็บข้อมูลปลาในแม่น้ำอิงที่มีพันธุ์ปลาราว 280 ชนิด แต่ตอนนี้หลายชนิดหายไปแล้ว แถมมีปลาต่างถิ่นผสมเข้ามามากขึ้น และยังมีเอเลี่ยนสปีชี เช่น ปลาซัคเกอร์ เช่นเดียวกับการขุดลอกหนองของทางการให้กลายเป็นสระน้ำ ทำให้พืชพันธุ์ชายน้ำหายไป พันธุ์ปลาในท้องถิ่นก็หายไปด้วย เป็นการทำลายระบบนิเวศ” ชาวบ้านบุญเรือง กล่าว

นายพิชเญศพงษ์ กล่าวว่า ส่วนเรื่องการฟื้นฟูนั้น จริงๆ แล้วป่าสามารถฟื้นฟูตัวเองได้ แต่เราต้องรักษาไม้พื้นถิ่นไว้และการกระจายเมล็ดพันธุ์ ต้องมองให้ลึกถึงอาหารของนกและอาหารของสัตว์ ในป่าบุญเรืองนอกจากเราคำนึงถึงวิถีวัฒนธรรมแล้ว ยังให้วัวควายเป็นตัวกระจายเมล็ดพันธุ์ รวมถึงผึ้งที่กระจายเกสรซึ่งเป็นความสัมพันธ์ในระบบนิเวศ

ขณะที่ นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา นายกสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต กล่าวว่าปรากฎการณ์น้ำเข้าป่าบุญเรืองและป่าริมแม่น้ำอิง ทำให้เห็นถึงระบบนิเวศของป่าชุ่มน้ำริมแม่น้ำอิง โดยปกติแล้วเมื่อแม่น้ำโขงหลากและมีปริมาณน้ำมาก ทำให้เกิดการไหลย้อนกลับไปยังแม่น้ำอิง และแม่น้ำสาขาต่างๆ เกิดระบบนิเวศพื้นที่ชุ่มน้ำ แต่สิ่งที่เห็นในวันนี้เกิดจากปริมาณน้ำในแม่น้ำอิง ที่ไหลผ่านป่าและเอ่อสูงขึ้น เพราะปริมาณน้ำที่เกิดจากฝนตกหนัก แต่เป็นการหลากเข้าท่วมป่าเพียงระยะสั้นๆ เพราะปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงไม่สูงพอที่จะไหลย้อนกลับเนื่องจากการกักเก็บน้ำของเขื่อนแม่น้ำโขงตอนบน 11 เขื่อน ในประเทศจีน ทำให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศลำน้ำสาขา ที่เชื่อมโยงกับแม่น้ำโขงอย่างน่ากังวลใจ หากต้องการให้ระบบนิเวศเหล่านี้ฟื้นคืนมา รัฐบาลไทยต้องหารือกับทางการจีนถึงเรื่องการจัดการเขื่อนตอนบนของแม่น้ำโขงโดยเฉพาะการทำให้น้ำไหลตามกลไกของธรรมชาติ ตามฤดูกาลให้มากที่สุด

ทั้งนี้ป่าชุ่มน้ำบ้านบุญเรือง เป็น 1 ใน 26 แห่ง ที่เป็นระบบนิเวศเฉพาะริมแม่น้ำอิงโดยมีเนื้อที่กว่า 3 พันไร่ เคยถูกเสนอจากรัฐบาลให้เปลี่ยนเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อให้นักลงทุนเข้ามาใช้ประโยชน์ แต่ได้รับการต่อต้านจากชุมชน เนื่องจากเป็นป่าที่ชาวบ้านร่วมกันดูแลมาตั้งแต่บรรพบุรุษ กระทั่งรัฐบาลยอมถอย และเมื่อปี 2563 ป่าผืนนี้ได้รับรางวัล Equator Prize เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลกประจำปี จากโครงการพัฒนาของสหประชาชาติ (UNDP) และปัจจุบันป่าผืนนี้และป่าริมแม่น้ำอิง กำลังถูกเสนอชื่อให้ขึ้นทะเบียนเป็นป่าชุ่มน้ำ (Wetlands) ตามอนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention)

อนึ่ง เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2564 กระทรวงทรัพยากรน้ำ สาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ทำหนังสือ ถึงคณะทำงานร่วมของกรอบความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง แม่น้ำโขง (LMC) จากกัมพูชา ลาว พม่า ไทย และเวียดนาม พร้อมสำเนาถึงสำนักเลขาคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) และศูนย์ความร่วมมือทรัพยากรน้ำแม่น้ำล้านช้าง แม่น้ำโขง ลงวันที่ 28 กรกฎาคม 2564 เพื่อแจ้งเตือนการลดการระบายน้ำจากเขื่อนจิงหง ในหนังสือดังกล่าวมีสาระสำคัญระบุว่า ปริมาณน้ำที่ไหลออกจากสถานีไฟฟ้าพลังน้ำจิงหง (Jinghong Hydropower) จะค่อยๆ ลดลงจาก 900-1,300 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เป็น 700 ลบ.ม. ตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคม- 30 สิงหาคม แม้ต่อมาจะมีรายงานว่ามีการยกเลิกแผนดังกล่าว แต่ก็พบว่าปริมาณน้ำแม่น้ำโขง บริเวณพรมแดนไทยลาว อ.เชียงแสน และ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ลดลงอย่างมากผิดฤดูกาล และมีความผันผวน แม้จะมีฝนตกมากในช่วงนี้ก็ตาม

 

ร่วมแสดงความคิดเห็น