รมช.พาณิชย์ ลงพื้นที่ จ.ลำพูน ติดตามสถานการณ์ลำไย เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกอย่างเร่งด่วน

วันอังคารที่ 17 สิงหาคม 2564 เวลา 09.30 น. นายวรายุทธ เนาวรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน นางนิยดา หมื่นอนันต์ พาณิชย์จังหวัดลำพูน พร้อมด้วยบุคลากรสำนักงานพาณิชย์จังหวัดลำพูน ให้การต้อนรับ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายสินิตย์ เลิศไกร) และผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์ (นายนราพัฒน์ แก้วทอง) และคณะผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ ผู้บริหารกระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์

ในการลงพื้นที่ประชุมติดตามสถานการณ์ และแก้ไขปัญหาลำไย เพื่อช่วยเหลือชาวสวนลำไยจังหวัดลำพูน โดยมี หน่วยงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผู้ประกอบการรับซื้อลำไย และเกษตรกรเข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมจามเทวี ศาลากลางจังหวัดลำพูน ทั้งนี้ ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมพบปะเกษตรกร ณ สหกรณ์การเกษตรประตูป่า จำกัด อำเภอเมือง ลำพูน ในครั้งนี้ด้วย

โดยในปี 2564 จังหวัดลำพูน มีผลผลิตลำไย จำนวน 228,022 ตัน ผลผลิตลำไยออกสู่ตลาดระหว่าง กรกฎาคม – สิงหาคม 2564 ซึ่งในปี 2564 จังหวัดลำพูน ได้ประสบปัญหา อาทิ ด้านแรงงาน ผลกระทบโควิด-19 จากพื้นที่อื่นไม่สามารถข้ามเขตได้ คุณภาพผลผลิตสภาพอากาศร้อนกระทบฝน ทำให้ลูกเล็กแตกลาย ทำให้มีลำไยเกรด AA น้อย โดยส่วนใหญ่เป็นเกรด A B และ C หลังราดสาร ภูมิอากาศและฝนดี ทำให้ลำไยแก่เร็วกว่าปกติ ขึ้นหัว ใช้อบแห้งไม่ได้ หรืออบแล้วจะเสียหายครึ่งต่อครึ่ง ประกอบกับปัญหาด้านตลาด ปริมาณลำไยเวียดนามมีมาก ทำให้ความต้องการลำไยรูดร่วงจากไทยเพื่อนำไปอบลดลง ทำให้ไทยไม่สามารถผลักดันลำไยรูดร่วงไปอบแห้งที่เวียดนามได้เช่นเดียวกับปีที่แล้ว (ปีที่แล้วผลักดันส่งออกรูดร่วง 40 ตู้ ประมาณ 500 ตัน) และจากความต้องการลำไยอบแห้งตลาดต่างประเทศลดลง ส่งผลให้โรงอบชะลอการรับซื้อ เนื่องจากขาดความมั่นใจในตลาดจีน ที่เป็นตลาดหลักกว่า 90% และปัญหาการขนส่งและตู้ รวมถึงขั้นตอนพิธีการนำเข้าประเทศจีนเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อคุณภาพ ด้านสภาพคล่อง ของสหกรณ์ กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ขาดสภาพคล่อง (หนี้เดิมยังไม่สามารถชำระ ทำให้วงเงินกู้เดิมเต็ม ต้องหาหลักทรัพย์ค้ำเพิ่ม) อีกด้วย

โดยกระทรวงพาณิชย์ กรมการค้าภายใน และสำนักงานพาณิชย์จังหวัดลำพูน ได้มีแนวทางแก้ไขปัญหาลำไย เพื่อช่วยเหลือชาวสวนลำไย ดังนี้
1. ช่วยค่าบริหารจัดการ 3 บาท/กก. (คชก.) จัดสรรทั้งสิ้น 6 จังหวัด รวม 15,764 ตัน ได้แก่ เชียงใหม่ 8,200 ตัน ลำพูน 6,200 ตัน เชียงราย 250 ตัน แพร่ 514 ตัน น่าน 400 ตัน พะเยา 200 ตัน (จ่ายขาด 47.292 ล้านบาท)
2. ผลักดันส่งออก 5 บาท/กก. (คชก.) ยื่นขอรับการสนับสนุน 31 ราย ชดเชย 29,741 ตัน ปริมาณส่งออก 59,482 ตัน (จ่าย 1 : ส่งออก 2) ต้องเป็นการรับซื้อ 19 มีนาคม 2564 – 31 ธันวาคม 2564 (จ่ายขาด 150 ล้านบาท)
3. สัญญาข้อตกลง (อมก๋อยโมเดล) ทาสัญญา 6 ราย เป้าหมาย 4,788 ตัน ได้แก่ บิ๊กซี (90 ตัน) เดอะมอลล์ (60 ตัน) โลตัส (660 ตัน) แม็คโคร (450 ตัน) ตลาดกลาง (3,420 ตัน) และ P80 (108.50 ตัน)
4. ชดเชยดอกเบี้ย 3% 6 เดือน (คชก.) สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน กู้จาก ธ.ก.ส.
– ธ.ก.ส. โครงการสินเชื่อเสริมแกร่ง SME เกษตร วงเงินกู้รายละ 50 ล้านบาท รวม 3,300 ล้านบาท
– บสย. โครงการ PGS ระยะที่ 9 ค้าประกันสินเชื่อของ ธ.ก.ส. ฟรีค่าธรรมเนียม 2 ปีแรก
– คน. ชดเชยดอกเบี้ย (คชก) เงินจ่ายขาด 50 ล้านบาท : ชดเชยสูงสุด 750,000 บาท/ราย
– ช่วยด้าน ดูดซับ ผลผลิต รวม 80,034 ตัน

5. รณรงค์บริโภคลำไย เป้าหมาย 2,350 ตัน
5.1 ร้านธงฟ้า : เป้าหมายร้านธงฟ้า จำนวน 1,000 ร้านๆ ละ 100 กก. รวม 100 ตัน
5.2 รถ mobile ผลไม้ : จำหน่ายเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล 30 คัน เป้าหมาย 450 ตัน ระยะเวลา 30 วัน วงเงิน 3,810,000 บาท
– เป้าหมาย 500 กก./คัน/วัน เท่ากับ 15 ตัน/วัน ระยะเวลา 30 วัน หรือ 450 ตัน
– ค่ารถ (รวมคนขับและน้ำมัน) 2,800 บาท ค่าคนขาย (1 คน) 600 บาท ค่าส่งเสริมการขาย 500 บาท รวม 3,900 บาท/คัน/วัน หรือ 3,510,000 บาท/30 วัน
– ค่าบริหารจัดการ 300,000 บาท

5.3 รณรงค์บริโภคลำไยผ่านสถานีบริการน้ำมัน เป้าหมายปั้ม PT PTT บางจาก เป้าหมาย 500 ตัน ลำไยอบแห้ง หรือ 1,500 ตันสด (กก.ละ 40 บาท) วงเงิน 20 ล้านบาท
– สถานีบริการน้ำมันรับซื้อ จานวน 500 ตัน กก.ละ 35 บาท (17.5 ล้านบาท) บรรจุถุงละ 200 กรัม จานวน 2,500,000 ถุง
– ค่าบริหารจัดการ 5 บาท/กก. อาทิ ค่าบรรจุ ค่าคัดแยก ค่าขนส่ง ค่าบรรจุภัณฑ์
5.4 รณรงค์บริโภคลำไยผ่านห้างท้องถิ่น ห้างค้าส่งค้าปลีก ททบ.5 เป้าหมาย 300 ตัน (เพิ่มจากการรับซื้อปกติ)
6. เชื่อมโยงผลผลิตช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกลำไย (รูดร่วง) เป้าหมาย 3,000 ตัน

ในโอกาสนี้ ที่ประชุมได้มีมติเพิ่มเติมที่จะเปลี่ยนรายละเอียดโครงการบริหารจัดการ 3 บาท/กก. (คชก.) จากการรับซื้อลำไยสดช่อ เปลี่ยนเป็นรับซื้อลำไยสดรูดร่วง เพื่อนำมาแปรรูป ในราคานำตลาดแทน ซึ่งจะต้องขอมติ คณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาผลผลิตทางการเกษตร คพจ. จังหวัดลำพูน ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เป็นประธาน และวันที่ 18 ส.ค.64 นำเสนอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการต่อ กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เป็นการเร่งด่วน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนลำไยจังหวัดลำพูนต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น