สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 1 ดูแลสุขภาพจิตประชาชนในภาวะวิกฤต COVID-19 และเสริมพลังใจทีมดูแลผู้ป่วย รพ.สวนปรุง

วันที่ 18 สิงหาคม 2564 นายแพทย์ทศเทพ บุญทอง สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 1 มอบนโยบายการดูแลช่วยเหลือสุขภาพจิตประชาชนในภาวะวิกฤตการระบาดของโวรัสโคโรนา 2019 เขตสุขภาพที่ 1 เน้นย้ำให้การดูแลผู้ป่วยโควิด-19 และครอบครัวแบบองค์รวม คำนึงถึงการดูแลสุขภาพทั้งกายและใจ ตามกรอบแนวคิดเสริมพลังอึดฮึดสู้วัคซีนใจในครอบครัว โดยเฉพาะครอบครัวที่มีเด็กหรือผู้สูงอายุรวมอยู่ในบ้านเดียวกันควรจะเฝ้าระวังเป็นพิเศษในเรื่องภาวะสุขภาพจิตที่จะเกิดขึ้น ส่วนการดูแลสุขภาพจิตประชาชนแนะนำ 5 ร. คือ รู้อารมณ์ รับสื่ออย่างมีสติ รักษาสุขภาพ รีบปรึกษาหากกังวล และระมัดระวังไม่แสดงท่าทีรังเกียจ พร้อมกันนี้ได้มอบของที่ระลึกเสริมพลังใจทีมดูแลผู้ป่วยโควิด Cohort ward โรงพยาบาลสวนปรุง

โดยนายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสวนปรุง กล่าวว่า โรงพยาบาลสวนปรุงได้เปิด Cohort ward เพื่อดูแลผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มครอบครัวในเด็กและพ่อแม่ที่เป็นกลุ่มสีเขียว ซึ่งรองรับได้ 18 เตียง ตั้งแต่ 15 เมษายน 2564 ถึง 17 สิงหาคม 2564 มีจำนวนผู้ป่วยสะสม จำนวน 113 ราย 31 ครอบครัว แยกเป็น เด็กชาย 29 ราย เด็กหญิง 19 ราย ผู้ใหญ่ชาย 32 ราย ผู้ใหญ่หญิง 33 ราย ผู้ป่วยทุกคนได้รับการดูแลทั้งด้านร่างกายและจิตใจเมื่ออยู่ในหอผู้ป่วย ได้รับการปรึกษาผ่าน Tele-counseling โดยนักจิตวิทยาและการดูแลตนเองก่อนกลับบ้านทุกราย สำหรับเด็กทีมผู้ดูแล จะได้จัดหาของเล่นที่เหมาะสมตามพัฒนาการให้เด็กได้มีกิจกรรมที่ผ่อนคลายจนครบระยะเวลา ส่วนการติดตามดูแลจิตใจผู้ป่วยหลังกลับบ้าน 1 เดือน มีการโทรศัพท์ติดตาม จำนวน 37 ราย เป็นผู้ใหญ่ชาย 13 ราย ผู้ใหญ่หญิง 12 ราย และเด็ก 12 ราย พบมีภาวะเครียดและกังวลจากการปรับตัว 3 ราย เครียดจากปัญหาการเงิน 2 ราย ในรายอื่นๆ สามารถจัดการความเครียดได้ด้วยตัวเอง พร้อมได้แนะนำช่องทางติดต่อเมื่อต้องการรับคำปรึกษาด้านสุขภาพจิต

นายแพทย์ทศเทพ บุญทอง สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 1 กล่าวเพิ่มเติมว่าจากการทำงานในเขตสุขภาพที่ 1 ต้องขอชื่นชมการทำงานของทีมโรงพยาบาลสนามเชียงใหม่ที่มีทีมสุขภาพจิต (MCATT) ร่วมทำงานดูแลจิตใจผู้ติดเชื้อตรงนั้นด้วย ซึ่งได้ถูกกล่าวถึงในระดับจังหวัดและได้นำไปเป็นแบบอย่างและแนวทางการดำเนินงานดูแลทั้งด้านร่างกายและจิตใจ รวมถึงโรงพยาบาลสวนปรุงที่จัดทำ Cohort ward ผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มครอบครัวซึ่งยังไม่มีหน่วยงานรองรับ ในส่วนนี้มากโดยจะเป็นแบบอย่างที่ดีในระดับจังหวัดต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น