การป้องกันโรคโควิด-19 ผ่านกลไกความมั่นคงชายแดนไทย-เมียนมา ในระดับคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่น

วันที่ 20 สิงหาคม 2564 กองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 แถลงข่าวประชาสัมพันธ์ ประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 146 ศูนย์เสริมสร้างความปรองดองสมานฉันท์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 ค่ายสมเด็จพระเอกาทศรถ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โดยมี พ.อ.รุ่งคุณ มหาปัญญาวงศ์ โฆษกกองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 เป็นผู้แถลงข่าวฯ มีสาระสำคัญดังนี้

ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้มีนโยบายและแนวทางการปฏิบัติงานด้านความมั่นคง โดยบูรณาการหน่วยงานที่มีภารกิจและอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตรวจสอบ ปราบปราม จับกุม และสกัดกั้นบุคคลต่างด้าวหลบหนีเข้ามาในราชอาณาจักรไทย โดยไม่ถูกต้องตามกฎหมายอย่างจริงจัง เพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของชาติ

ประกอบกับที่รัฐบาลได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร โดยมีข้อกำหนดตามกรอบพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป และศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้พิจารณาให้ระงับการใช้ช่องทางการเข้าออกประเทศในทุกพื้นที่ที่มีเขตติดต่อชายแดน เพื่อควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19 มาจนถึงปัจจุบัน

ในโอกาสนี้ พล.ท.อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3/ผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการ กองทัพภาคที่ 3 ได้กำชับให้ทุกหน่วยที่มีพื้นที่ตามแนวชายแดน ได้เฝ้าระวังการลักลอบหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายของกลุ่มแรงงานต่างด้าว รวมไปถึงคนไทยที่ไปทำงานในประเทศเพื่อนบ้าน และลักลอบกลับเข้ามาในประเทศไทย เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างจริงจัง จึงได้ใช้กลไกความมั่นคงชายแดนไทย-เมียนมา ในส่วนที่กองทัพภาคที่ 3 รับผิดชอบ ประกอบด้วยคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (Regional Border Committee : RBC) และคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่น (Township Border Committee : TBC) ที่เกิดขึ้นตามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลราชอาณาจักรไทย กับรัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ว่าด้วยการจัดตั้งคณะกรรมการฯ RBC ลง 9 เมษายน 2533

โดยจะเห็นได้ว่ากลไกความมั่นคงชายแดนไทย – เมียนมา ที่มีอยู่ในปัจจุบัน มิได้มีความเกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาความมั่นคงทางทหารเท่านั้น ยังคงรวมไปถึงการเสริมสร้าง ความร่วมมือไทย – เมียนมา ในด้านการค้าชายแดน การท่องเที่ยว การศึกษา การบรรเทาสาธารณภัย และด้านอื่นๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่องานการรักษาความมั่นคงและความสงบเรียบร้อย ตามพื้นที่ชายแดนไทย – เมียนมา ซึ่งต้องมีภาครัฐและเอกชน ของทั้ง 2 ประเทศเข้าร่วมดำเนินการด้วย ซึ่งในระดับคณะกรรมการฯ TBC ในพื้นที่ กองทัพภาคที่ 3 ประกอบด้วย

1) พื้นที่จังหวัดเชียงราย มีคณะกรรมการฯ TBC แม่สาย – ท่าขี้เหล็ก
2) พื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีคณะกรรมการฯ TBC แม่ฮ่องสอน – ลอยก่อ
3) พื้นที่จังหวัดตาก มีคณะกรรมการฯ TBC แม่สอด – เมียวดี

โดยในห้วงเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ TBC แม่สาย – ท่าขี้เหล็ก โดยหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารม้าที่ 3 ได้ประสานขอความร่วมมือ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับบุคคลสัญชาติไทย และสัญชาติเมียนมากลับภูมิลำเนา รวมทั้งการผลักดันคนต่างด้าวสัญชาติเมียนมา (ผู้ต้องกัก) ออกนอกราชอาณาจักร ณ จุดผ่านแดนถาวร สะพานข้ามแม่น้ำสาย แห่งที่ 2 ตำบลแม่สาย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย จำนวน 3 ครั้ง ดังนี้

1. เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2564 ดำเนินการผลักดันคนต่างด้าวสัญชาติเมียนมา (ผู้ต้องกัก) ออกนอกราชอาณาจักร จำนวน 122 คน (ชาย 88 คน และหญิง 34 คน)
2. เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2564 ดำเนินการอำนวยความสะดวกให้กับบุคคลสัญชาติไทย กลับราชอาณาจักร จำนวน 29 คน (ชาย 13 คน และหญิง 16 คน)
3. เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2564 ดำเนินการอำนวยความสะดวกให้กับบุคคลสัญชาติเมียนมากลับภูมิลำเนา จำนวน 59 คน (ชาย 28 คน และหญิง 31 คน) รวมทั้งได้ดำเนินการผลักดันคนต่างด้าวสัญชาติเมียนมา (ผู้ต้องกัก) ออกนอกราชอาณาจักร จำนวน 100 คน (ชาย 60 คน, หญิง 33 คน, เด็กชาย 5 คน และเด็กหญิง 2 คน)

ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนพบเห็นการนำพาแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ซึ่งอาจนำมา ซึ่งความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ขอความกรุณาได้แจ้งแก่เจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติในการปราบปรามและการสกัดกั้นอย่างเป็นรูปธรรมตามกฎหมาย อีกทั้งหากพี่น้องประชาชนมีความประสงค์จะส่งข้อมูล การลักลอบหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายของแรงงานต่างด้าวโดยตรง ให้กับ พล.ท.อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 สามารถส่งข้อมูลผ่านระบบ Applications Line ชื่อ “สายตรงแม่ทัพภาคที่ 3” ID Line : ISOC3 เพื่อรับทราบข้อมูลและนำไปสู่การปฏิบัติตามกรอบของกฎหมาย สร้างความมั่นคงให้สังคมไทยสืบไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น