เผยภาพพี่ใหญ่แห่งระบบสุริยะ “ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี” 20 สิงหาคม 2564

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เผยภาพ ดาวพฤหัสบดีในคืนโคจรมาใกล้โลกที่สุดในรอบปี 20 สิงหาคม 2564 บันทึกผ่านกล้องโทรทรรศน์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.4 เมตร ณ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา ในภาพปรากฏให้เห็นแถบเมฆบนดาวพฤหัสบดี แม้ว่าขณะบันทึกภาพทัศนวิสัยท้องฟ้าไม่ค่อยดีนัก เนื่องจากมีเมฆเป็นบางส่วนและดาวพฤหัสบดีเรียงอยู่ในแนวเดียวกัน โดยมีโลกอยู่ตรงกลาง นับเป็นตำแหน่งใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี
ที่ระยะห่างจากโลกประมาณ 600 ล้านกิโลเมตร เมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า จะเห็นดาวพฤหัสบดีปรากฏ
สว่างทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ หากฟ้าใส ไร้เมฆฝน สังเกตได้ยาวนานตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า

บรรยากาศการสังเกตการณ์ดาวพฤหัสดีช่วงหัวค่ำคืนดังกล่าว หลายพื้นที่มองเห็นดาวพฤหัสบดีในคืนใกล้โลกที่สุดในรอบปีได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาทิ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง สุรินทร์ ยโสธร ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี กาฬสินธ์ุ ฯลฯ แต่อีกหลายพื้นที่ของประเทศมีเมฆค่อนข้างมาก และมีฝนตกหนัก ไม่สามารถสังเกตการณ์ได้ อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ ดาวพฤหัสบดีจะยังคงปรากฏบนท้องฟ้าในช่วงค่ำคืนจนถึงประมาณเดือนมกราคม 2565 ดาวพฤหัสบดีจะโคจรเข้ามาในตำแหน่งใกล้โลกทุกๆ 13 เดือน ครั้งต่อไปจะเข้ามาใกล้โลก ในวันที่ 27 กันยายน 2565

ร่วมแสดงความคิดเห็น