สืบสานวิถีถิ่นยอง ชุมชนหนองเงือก ร่วมอนุรักษ์ของดีท้องถิ่น

พระอธิการวีรยุทธ์ ยุทธวิโร เจ้าอาวาสวัดหนองเงือก ต.แม่แรง อ.ป่าซาง จ.ลำพูน กล่าวถึงความร่วมแรง ร่วมใจของศรัทธาชาวบ้านที่เล็งเห็นคุณค่าศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณีชุมชน ซึ่งมีตำนานเล่าขานว่าเป็นถิ่นชาวยอง แหล่งใหญ่ของ จ.ลำพูน ช่วงสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 นั้น นอกจากจะร่วมมือดำเนินการทางด้านวัฒนธรรม บวรพุทธ แล้วยังร่วมมือตามมาตรการทางสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

“ทั้งการจัดงาน กิจกรรมตามวิถีชุมชน ไม่ว่าจะเป็น งานบำเพ็ญกุศล ผู้วายชนม์ งานทำบุญในวันสำคัญ ซึ่งปกติจะมีผู้คน มาร่วมงานเป็นจำนวนมาก ตามรูปแบบพหุสังคมชนบท ที่มีความศรัทธาต่อวิถีพุทธ ก็ร่วมใจปฏิบัติตามที่ อสม.แนะนำ ขอความร่วมมือเป็นอย่างดี” ในขณะที่คณะกรรมการชมรมผู้สูงอายุบ้านหนองเงือก ชุดที่ 7 (วาระ 1 ก.ค.2563-1 ก.ค.2565 ) เปิดเผยว่า ทางชุมชนบ้านหนองเงือก ได้ร่วมกับทางวัด บูรณะปฏิสังขรณ์ ศาสนสถาน ภายในวัด ในช่วงที่ว่างเว้นการจัดกิจกรรม งานบุญ รวมตัวกันเป็นจำนวนมาก มีการ ใช้พื้นที่บางส่วน จัดแปลงปลูกกระชาย,ฟ้าทะลายโจร เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ สมุนไพรพื้นบ้าน ในการนำไปป้องกัน โรคโควิด-19 ด้วย

สำหรับวัดหนองเงือกนั้น เป็นวัดเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองอีกแห่งของ จ.ลำพูน มีบันทึกระบุการอพยพของผู้คนจากเมืองยอง พม่า เข้ามาตั้งถิ่นฐาน ในบริเวณ อ.ป่าซาง และบริเวณที่เป็นชุมชนคนยองหนองเงือก ช่วงปี พศ. 2348-2356 มีการร่วมแรงบุญหนุนสร้างวัดด้วยแรงศรัทธา ตั้งแต่ พ.ศ. 2371 มีการพัฒนาวัดต่อเนื่อง จนได้รับการเชิดชูเป็นวัดพัฒนาอีกแห่งของ จ.ลำพูน นอกเหนือจากสถาปัตยกรรม ศาสนสถานที่ปรากฎภายในวัดมากมาย กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ ศิลปะวัฒนธรรม ท้องถิ่นชาวยองแล้ว ยังมีความเชื่อกันว่า ประตูขุงหรือซุ้มประตูวัด ที่สร้างขึ้นสมัยครูบาญานะเป็นเจ้าอาวาส ระหว่างปี พ.ศ. 2453-2490 เป็นศิลปะแบบมอญ นั้นสร้างด้วยช่างพื้นเมืองชาวม่านหรือพม่า ด้านบนเป็นยอดฉัตร 7 ชั้น ลดหลั่นกันลงมา หากเดินลอดผ่านเข้าวัดจะเป็นมงคลชีวิต มีอายุยืน มีความเป็นศิริมงคล

อย่างไรก็ตาม ในช่วงโรคโควิด-19 ระบาด ทางชมรมผู้ประกอบการโฮมสเตย์ บ้านหนองเงือก ต.แม่แรง อ.ป่าซาง ลำพูน กล่าวว่า เสียดายองค์ประกอบชุมชน ที่มีความพร้อมครบถ้วน ในด้านการท่องเที่ยว ทุกๆเดือน มีกิจกรรม งานประเพณีท้องถิ่น เป็นระยะๆ หลายงานมีชื่อเสียงโด่งดังระดับประเทศ เช่นงานฝ้ายงามบ้านหนองเงือก งานแต่งสีอวดลายผ้าฝ้ายบ้านดอนหลวง ซึ่งช่วงปกติ จะสร้างมูลค่าเศรษฐกิจ ชุมชน ไม่น้อยกว่าปีละ 60-70 ล้านบาท ในการจัดกิจกรรมรองรับภาคการท่องเที่ยว แล้วจำหน่ายงานหัตถศิลป์ หัตถกรรมพื้นบ้านให้ผู้มาเยือน “ทุกๆ ฝ่ายคาดหวังว่า ภาคการท่องเที่ยวน่าจะฟื้นตัว ในช่วงปีหน้า แม้ชุมชนจะมีการฉีดวัคซีนตามแผนงาน ที่ทางสาธารณสุขอำเภอ และ องค์กรปกครองท้องถิ่น เร่งดำเนินการตามแผนที่ ศบค.ลำพูนกำหนด แต่กลุ่มนักท่องเที่ยวทั่วๆไป ยังไม่สามารถ เดินทางท่องเที่ยวได้ตามปกติ แม้ชุมชนจะมีความพร้อม

ดังนั้น การร่วมมือ ร่วมใจกัน พัฒนาชุมชน ท้องถิ่น ผ่านกิจกรรม โครงการจิตอาสา หลากรูปแบบ จึงเป็นการเตรียมพื้นที่ ท่องเที่ยววิถีชุมชน ที่ครบเครื่องเรื่องวัฒนธรรม ชาวยอง ให้มีความพร้อมรองรับ นักท่องเที่ยวในอนาคต จึงเป็นวิถีชุมชน ที่ชาวบ้านดำเนินการเป็นระยะๆ ในขณะนี้ ”

ร่วมแสดงความคิดเห็น