ถอดบทเรียนกิจกรรม E-sport คืออะไร มีประโยชน์ยังไง เล่นแล้วได้อะไร ได้เรียนรู้อะไรบ้าง?

ผู้สื่อข่าวจรายงานว่า ขณะนี้ E-sport เป็นกิจกรรมที่น่าสนใจของนักเรียนในช่วงนี้ ทางด้านว่าที่ ร.ต.ปฏิภาณ อินทเนตร (ผอ.รร.ชุมชนบ้านแม่หละป่าป๋วย) ต.สรอย อ.วังชิ้น จ.แพร่ สังกัด สพป.แพร่ เขต 2 จะได้กล่าวถึง E-sport ว่า

สืบเนื่องจากช่วงระหว่างวันที่ 16 ถึง 20 สิงหาคม 2564 โรงเรียนชุมชนบ้านแม่หละป่าป๋วย ได้จัดกิจกรรมสัปดาห์วิทยาศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2564 ซึ่งในการดำเนินกิจกรรม ทางคณะครูผู้จัดงานได้วางแผนกิจกรรมไว้อย่างน่าสนใจ และเหมาะสมกับการเรียนรู้ความรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ ผ่านกิจกรรมแบบ Active Learning แต่มีกิจกรรมหนึ่ง ที่นักเรียนจะให้ความสนใจเป็นพิเศษ โดยเฉพาะนักเรียนชั้น ป.4-6 นั้นคือ กิจกรรมการแข่งขัน “เจ้าแห่ง E-Sport” ซึ่งถือว่าเป็นกิจกรรมที่ดูแปลกใหม่ แหวกแนวจากกิจกรรมวันวิทยาศาสตร์ในปีก่อนๆ มา สร้างความตื่นเต้นให้กับนักเรียนไม่น้อย

E-Sport คืออะไร E-Sport คือ กิจกรรมการละเล่นของเด็กในยุคดิจิทัล กล่าวให้ดูง่ายๆ ก็คือ การเล่นเกมส์ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และระบบ online กล่าวให้เป็นทางวิชาการก็คือ

E-Sports เป็นกีฬาอีกประเภทหนึ่งที่ใช้ทักษะความสามารถทางด้านสมองมากกว่าที่ใช้ร่างกายเป็นหลัก โดยส่วนมากจะเป็นการแข่งขันในลักษณะของเกมส์ ซึ่งเกมส์ที่ใช้การแข่งขันมีมากมายหลายแบบ ไม่ว่าจะแบบ เกมส์ที่ใช้ทักษะทางเฉพาะตัวผู้เล่นเพียงคนเดียว เกมส์ที่ใช้ทักษะการวางแผนและการทำงานเป็นทีมเพื่อใช้ในการรบกับคู่ต่อสู้เพื้อให้ทีมได้ชัยชนะ หรือ เกมส์ที่จำลองสถานการณ์การเล่นกีฬาแต่ใช้การบังคับผ่านการเล่นบนระบบของเกมส์ เป็นต้น โดยในแต่ละเกมก็จะมีการจัดการแข่งขัน (Tournament) ขึ้นมากมายในแต่ละปี ปัจจุบันได้มีผู้เข้าแข่งขันกีฬา E-Sports เพิ่มขึ้นทุกวัน และยังทำให้เกิดการรวมกลุ่ม เพื่อตั้งเป็นทีมกีฬา E-Sports ลงแข่งขันอย่างจริงจังในหลายๆ เกมส์ และในอนาคตอันใกล้ กีฬา E-Sport อาจจะได้ถูกนำไปบรรจุเป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันกีฬาในระดับนานาชาติ และอาจจะมีการผลักดันให้เป็นการแข่งขันแบบนักกีฬาอาชีพ ก็เป็นได้

E-Sport มีประโยชน์ยังไง? เล่นแล้วได้อะไร ? ได้เรียนรู้อะไร?
ดูผ่านๆแบบมองโลกในยุคเก่า ๆ อาจจะมองหาประโยชน์จาก E-Sport ไม่ได้เลย มองแล้วก็เป็นเพียงการเล่นเกมส์ของเด็ก ๆ เท่านั้น ไม่ได้มีสาระแก่นสารที่เป็นประโยชน์อะไรเลย เป็นการมอมเมาเยาวชน ก็จะไม่เห็นประโยชน์อะไรจากกิจกรรมการละเล่นในยุคดิจิทัลนี้ แต่ ถ้าเราลองเปิดใจ และมองโลกในอีกแง่มุมหนึ่ง E-Sport คือกิจกรรมที่ทำให้เด็กได้เรียนรู้จากกิจกรรมนี้อย่างคาดไม่ถึง ดังเช่น

1. ในการรวมทีม เด็กจะไปรวมทีมเพื่อเข้าร่วมการแข่งขัน เด็กจะต้องมีการใช้มนุษยสัมพันธ์เพื่อหาเพื่อนร่วมทีม เพราะ E-Sport จะต้องเล่นเป็นทีม ไม่สามารถเล่นคนเดียวแล้วจะชนะการแข่งขันได้ จะต้องมีเพื่อนร่วมทีมที่สามารถพาทีมไปสู่ชัยชนะด้วยกันได้

2. การตั้งชื่อทีม เด็กจะต้องสร้างเอกลักษณ์ประจำทีมของตนเอง คิดง่ายที่สุดคือ การตั้งชื่อทีม ในการตั้งชื่อทีมนั้น เด็กจะคิดคำต่าง ๆ มาแต่งเป็นชื่อทีมจากจินตนาการของทีม เช่น ชื่อทีม ทีมนี้ตึง ขอบคุณครับ ดูแล้วแทบจะหากความหมายจากชื่อทีมไม่ได้ แต่ เป็นการตั้งชื่อที่สะดุดหู ชวนให้สนใจว่า ทีมนี้ใครเป็นสมาชิก คงต้องมีอุปนิสัยที่กวน ๆ อย่างแน่นอน อีกชื่อหนึ่ง เช่น ทีม ฟินิกส์ ฟอร์ด ชื่อฟังดูดีมาก ใครจะเชื่อว่าแต่งชื่อทีมโดยนักเรียนชั้น ป.4 เป็นชื่อทับศัพท์ภาษาอังกฤษที่ไม่ได้อยู่ในบทเรียน แต่เป็นคำที่เด็กน่าจะชอบถึงแม้เด็กจะรู้หรือไม่รู้ความหมาย แต่ก็ดีพอที่จะมาเป็นชื่อทีมของเขาได้

3. การแข่งขันจะต้องมีการตั้งกติกา เพื่อเป็นแนวทางหรือระเบียบในการแข่งขัน ไม่ว่าจะเป็นกติกาการขออนุญาตการนำโทรศัพท์มาโรงเรียน ทั้ง ๆ ที่ความเป็นจริงแล้ว โรงเรียนมีกฎข้อห้ามเด็ดขาดว่า ไม่ให้เอามา แต่ เพื่อใช้ในการแข่งขันและการสร้างการเรียนรู้ ครูผู้ควบคุมกิจกรรม ได้วางแนวทางและมาตรการไว้อย่างรัดกุมและรอบคอบ ทำให้ไม่เกิดปัญหาใดๆ ในการดำเนินงาน ส่วนเด็กที่เข้าร่วมการแข่งขัน จะต้องปฏิบัติตามกติกา ข้อบังคับ มิเช่นนั้น จะถูกปรับให้แพ้ทันที ถึงแม้จะยังไม่ได้แข่งขัน เช่น การแอบเอาโทรศัพท์ไว้ที่ตัวเองโดยไม่ฝากครูผู้ควบคุมกิจกรรมไว้ เมื่อถูกตรวจพบ จะปรับให้แพ้ทันที และในการแข่งขันจะต้องไม่ใช้คำพูดที่หยาบคาย หากทีมไหนใช้จะถูกปรับแพ้ทันที เช่นกัน ซึ่งตลอดการดำเนินกิจกรรม ไม่พบว่าทีมใดทำผิดกติกา ทุกทีมยอมรับและทำตาม ทุกอย่างจึงมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย

4. ในการแข่งขัน เด็กจะได้ใช้ทักษะในยุคดิจิทัล คือ การเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ระหว่างเพื่อนร่วมทีม และทีมคู่ต่อสู้ ซึ่งทักษะนี้ จะต้องเป็นผู้ที่มีความเข้าใจในระบบของเกมส์เป็นอย่างดี ถึงแม้ว่า เด็กจะทำได้อย่างง่ายดายเพราะเล่นเป็นประจำเมื่ออยู่ที่บ้าน ก็เป็นตัวบ่งบอกได้ว่า เด็กมีการเรียนรู้ทักษะทางดิจิทัลผ่านการเล่นเกมส์โดยไม่รู้ตัว จนกลายเป็น Tacit knowledge หรือ ความรู้ที่ไม่ปรากฏชัดแจ้ง แต่ความรู้ที่ได้จากการปฏิบัติจนเป็นความรู้ติดตัว ไม่สามารถอธิบายเป็นลายลักษณ์อักษรได้

5. ในการแข่งขัน ย่อมต้องมีผู้ชนะ และผู้แพ้ ทำให้เด็กได้เรียนรู้เรื่องของน้ำใจนักกีฬา และการข่มอารมณ์ของตนเองเมื่อต้องเป็นผู้แพ้ในการแข่งขัน และแสดงน้ำใจร่วมให้กำลังใจกับเพื่อน ๆ ที่ได้เข้ารอบ ดังเช่นการแข่งขันที่ผ่านมา มีเด็กที่แพ้จากการแข่งขัน ตอนแข่งแพ้มีเด็กเสียใจจนร้องไห้ด้วย ทุกคนช่วยกันให้กำลังใจ สุดท้ายเด็กๆก็คอยเป็นกำลังใจให้ทีมอื่นๆ ถือว่าเป็นการแสดงออกทางน้ำใจนักกีฬาอย่างแท้จริง โดยที่ครูผู้ควบคุมหรือครูผู้สอน ไม่ต้องลงมือสอนเอง

6. ในการจัดการแข่งขัน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีเทคโนโลยีที่เพียงพอใจการจัดกิจกรรม ถือเป็นการตรวจสอบและทดสอบความพร้อมในเรื่องของการเอื้ออำนวยความสะดวกเกี่ยวกับเทคโนโลยีของโรงเรียนว่าที่มีอยู่นั้น เพียงพอหรือไม่ ใช้ได้ประมาณใด จะต้องพัฒนาและปรับปรุงจุดไหนบ้าง ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะต้องอำนวยความสะดวกแค่การแข่ง E-Sport แต่ เพื่อรองรับการใช้เทคโนโลยีในการบริหารโรงเรียนและการใช้ในกิจกรรมสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนอีกด้วย

7. การจะเข้าร่วมแข่งขัน E-Sport ได้ จะต้องมีอุปกรณ์ที่สามารถรองรับตัวเกมส์ที่จะแข่งขัน แต่ถ้าในกรณีของเด็กที่ไม่มีอุปกรณ์ ก็ไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมการแข่งขัน แต่สามารถร่วมสนุกด้วยการเป็นผู้ชมที่ดีได้ ไม่จำเป็นต้องไปรบกวนผู้ปกครองต้องเสียงเงินมาซื้อเพื่อเข้าร่วมแข่งขัน เพราะทางโรงเรียนไม่ได้บังคับ และไม่มีผลใด ๆ กับการวัดและประเมินผลการการเรียน เป็นการฝึกการพอประมาณและยับยั้งห้ามใจตัวเอง แต่ก็สามารถร่วมสนุกกับกิจกรรมได้เช่นกัน

บทเรียนและข้อคิดที่ได้จากการจัดการแข่งขัน E-Sport เราคงไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่า การเล่นเกมส์กับเด็กยุคนี้เป็นของคู่กัน และถ้าจะห้ามนั้นเป็นเรื่องยาก แต่ ในฐานะที่เป็นผู้ให้การศึกษากับเด็ก หรือไม่ว่าจะเป็นในบทบาทของผู้ปกครอง จะต้องวางแผนและสร้างความตระหนักรู้ให้กับเด็กว่า การเล่นเกมส์ ไม่ใช่สิ่งผิด แต่จะต้องมีกติกาและข้อตกลงร่วมกัน สร้างความเข้าใจให้ตรงกัน แทนที่จะดุ ด่า หรือใช้คำพูดในทางลบ เช่น กำหนดเวลาเล่นที่ชัดเจนให้เด็กและคอยควบคุมดูแล เมื่อหมดเวลา ก็จะต้องเชื่อฟังในกติกานั้น และพาเด็กออกจากการเล่นเกมส์ไปทำกิจกรรมอื่น ๆ ร่วมกันในครอบครัว อาจจะต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร

แต่ถ้าทำเป็นประจำ เชื่อว่า เด็กจะมีวินัยในตนเองมากขึ้น รู้จักและเคารพและให้ความร่วมมือในกติกามากขึ้น เมื่อครอบครัวเข้าใจ เด็กร่วมมือ ก็จะทำให้บรรยากาศในครอบครัวดีขึ้น เด็กก็ไม่ถูกปิดกั้นจินตนาการและการเรียนรู้จากการเล่นเกมส์ ภายใต้กติกาที่สามารถปฏิบัติได้ ความสุขของครอบครัวและตัวเด็กก็จะกลับมาอย่างแน่นอน

ร่วมแสดงความคิดเห็น