ชาวสวนสตรอเบอรี่ฮึดสู้ หวังผลผลิตฤดูกาลใหม่ราคาดี พร้อมเปิดเที่ยวชุมชนเกษตร

กลุ่มเกษตรกรชาวสวนสตรอเบอรี่ บ้านนอแล อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ช่วงโควิด-19 ระบาด แม้จะส่งผลต่อจำนวนนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทย-ชาวต่างชาติ ที่ลดลงไป ในการเดินทางมาท่องเที่ยวในพื้นที่ ซึ่งมีผลต่อการจำหน่ายผลผลิต ผลไม้ตามฤดูกาล โดยเฉพาะสตรอเบอรี่ที่เป็นผลไม้ที่นักท่องเที่ยวชื่นชอบ นิยมซื้อรับประทาน และนำกลับไปเป็นของฝาก ” ยอมรับว่า รายได้จากการจำหน่ายสตรอเบอว์รี่หายไปมาก ผลผลิตที่ลงทุนปลูก ก็มีต้นทุนคงที่ ในขณะที่การส่งผลผลิตไปขายหรือ จำหน่ายตามแผงตามรายทางไปยังแหล่งท่องเที่ยว ที่เป็นรายได้หลักๆของแต่ละครัวเรือน ต่างต้องดิ้นรนปรับตัว ที่ผ่านๆมา ส่วนใหญ่จะนำผลผลิต บรรทุกรถกะบะ รถคอก ตระเวณเดินสายไปขายตามต่างอำเภอ ตามลานห้างสรรพสินค้า ที่มีกิจกรรมส่งเสริมการตลาดโดยภาครัฐและภาคเอกชน ช่วยกันสนับสนุนผลผลิตตามฤดูกาล”

ด้านชาวสวนสตรอเบอรี่ อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ปีนี้ทาง อำเภอ และศูนย์เรียนรู้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร(ศพก.) ได้พยายามขยายตลาดจำหน่ายผลผลิต เพราะ อ.สะเมิง ถือเป็นแหล่งใหญ่ที่ปลูกสตรอเบอรี่กว่า 3,530 ไร่ มีรายได้ต่อฤดูกาลจากผลผลิตเก็บเกี่ยว 7-8 พันตัน บางปีร่วมๆ 4- 5 ร้อยล้านบาท มีการจัดงานส่งเสริมตลาดมาโดยตลอด ทุกๆปี แต่เมื่อมีโรคโควิด -19 ระบาดเข้ามา ทุกกิจกรรม ที่เป็นวิถีชุมชนต้องงดจัด ชะลอไป ต้องปรับตัว ปฏิบัติตามมาตรการทางสาธารณสุข

” ช่วงนี้เกษตรกรจะเริ่มลงแปลงปลูกสตรอเบอรี่กันแล้ว เพราะผลผลิตจะเริ่มเก็บเกี่ยวหลัง 3 เดือนไปแล้ว ตั้งแต่เดือน พ.ย.-เม.ย. ในช่วง กพ. จะเป็นเดือนที่สตรอเบอรี่ออกสู่ตลาดจำนวนมาก ชาวสวนคาดหวังว่า การจัดงานวันสตรอเบอรี่ปีหน้า คงมีโอกาสได้ต้อนรับนักท่องเที่ยว ” ทั้งนี้กรมส่งเสริมการเกษตร เชียงใหม่เป็นแหล่งปลูกสตรอเบอรี่ ที่สำคัญของประเทศมีพื้นที่การผลิตราวๆ 6-7 พันไร่ ปลูกมากที่สุดที่ อ.สะเมิง กว่า 3พันไร่ โดยเฉพาะที่ ต.บ่อแก้ว มีกว่า 2,800 ไร่ เป็นพื้นที่มีสภาพภูมิประเทศ ความสูงที่เหมาะกับการติดดอก ออกผลคุณภาพเยี่ยม เป็นที่ต้องการของตลาด พันธุ์พระราชทาน 80 นิยมปลูกกันมาก แต่ทว่าช่วงหลายปีที่ผ่านมา พื้นที่เพาะปลูกสตรอเบอรี่มีการขยายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในจังหวัดต่าง ๆ ทั้งทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

รวมพื้นที่มากกว่า 8 พันไร่ แต่ละปีมีผลผลิตออกสู่ตลาดกว่า 10,000 ตัน ราคาผลสด ต่อกิโลกรัมจะอยู่ในช่วง 150-400 บาท ในช่วงโควิดระบาด ราคาเฉลี่ย 100 กว่าบาท/กก. ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่น้อยไม่คุ้มทุนผลิต ปัจจุบันการเพาะปลูกที่หลากหลาย ตั้งแต่การขยายต้นไหลจากพันธุ์ที่ดี การแยกต้น แยกต้นจากพันธุ์ที่ออกไหลไม่ดี การใช้เมล็ดผสมพันธุ์เพื่อให้ได้พันธุ์ใหม่ๆ การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ผลิตต้นไหลที่ปลอดโรค ขยายพันธุ์ให้มีปริมาณต้นไหลเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มุ่งเน้นคุณภาพและความปลอดภัยของผลผลิตได้ สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค

จากผลิตภัณฑ์หลากรูปแบบ ทั้งผลสด ,แยม, น้ำผลไม้พร้อมดื่ม และการแปรรูปอื่นๆ สร้างมูลค่า ต่อฤดูกาล จนกลายเป็นอีกพืชเศรษฐกิจสำคัญของแต่ละชุมชนที่เพาะปลูกไป” สตรอเบอรี่ จ.เชียงใหม่ ถือเป็นแหล่งผลิตคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาด นอกจากจะส่งเสริมผลิตภัณฑ์ ยังสนับสนุนแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร เปิดสวนเป็นที่พัก สถานที่ท่องเที่ยว สร้างรายได้ในพื้นที่มากพอสมควร กลุ่มเกษตรกร ชาวสวน ชาวไร่ ที่ปลูกสตรอเบอรี่ในปีนี้ ต่างคาดหวังว่า ผลผลิตจะมีตลาดรองรับเพิ่มขึ้น จากการเปิดรับนักท่องเที่ยว ในรูปแบบวิถีใหม่ วิถีชุมชนที่เรียนรู้ ปรับตัวกับสถานการณ์ปัจจุบัน

เกษตรกรผู้ปลูกสตรอเบอรี่ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า ทุกแหล่งปลูกสตรอเบอรี่ ต่างคาดหวังรายได้จากการลงทุน ลงแรงไป ในฤดูกาลนี้ ซึ่งช่วงปลายส.ค. เกือบทุกแหล่ง ปลูกกันเต็มพื้นที่ ผลผลิต ในระยะ 3-4 เดือน จะทยอยออกมา พร้อมๆกับชุมชน ท่องเที่ยว หากมีกิจกรรม ส่งเสริม สร้างสีสันสนับสนุนท่องเที่ยวเกิดขึ้น ไม่ว่าจะที่ ม่อนแจ่ม แม่ริม,แม่แตง, สะเมิง ,ฝาง คงมีส่วนช่วยให้ เกษตรกร มีโอกาสจำหน่ายผลผลิต ในราคาที่เหมาะสมมีรายได้เลี้ยงดู ครอบครัว หลังจากเผชิญวิกฤตชีวิตมานานในช่วงโรคโควิด-19 ระบาดจนแบกหนี้กันถ้วนหน้า เพราะรายได้ลดลง ผลผลิตมี แต่ไม่มีที่ขาย คนซื้อน้อยกว่าเดิม

ร่วมแสดงความคิดเห็น