ชาวบ้านโวยถูกแอบอ้างชื่อ ใส่ในรายงาน โครงการผันน้ำยวมสู่เขื่อนภูมิพล

ชาวบ้านโวยถูกแอบอ้างชื่อใส่ในรายงานอีไอเอ โครงการผันน้ำยวมสู่เขื่อนภูมิพล ฝีมือทีมนักวิชาการ ม.นเรศวร เอาภาพนั่งในร้านลาบประกอบข้อมูล แถม คชก.ปล่อยผ่าน เครือข่ายภาคประชาชนเสนอยกเลิก ชี้ผลการศึกษาไม่น่าเชื่อถือ

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีที่กรมชล ประทานกำลังผลักดัน โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิผลแนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล หรือเรียกสั้นๆ ว่าโครงการผันน้ำยวมสู่เขื่อนภูมิพล มูลค่า 7 หมื่นล้านบาท โดยรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ ที่จัดทำโดยมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ พิจารณารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) เรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการนำเสนอให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พิจารณา

ผู้สื่อข่าวได้ตรวจสอบรายละเอียดในอีไอเอ ซึ่งระบุว่า โครงการประกอบด้วย 1.เขื่อนกั้นแม่น้ำยวม ความสูงจากระดับท้องน้ำถึงสันเขื่อน 69.5 เมตร ความยาวสันเขื่อน 260 เมตร เป็นเขื่อนดิน ถมดาดคอนกรีต ระดับกักเก็บปกติ 142 เมตร เหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง (ม.รทก.) 2. สถานีสูบน้ำบ้านสบเงา ติดตั้งเครื่องสูบน้ำลึกจากพื้นดินประมาณ 40 เมตร และปรับปรุงลำน้ำยวม 6.4 กม. 3. อุโมงค์อัดน้ำ อุโมงค์พักน้ำ อุโมงค์ส่งน้ำ 61.85 กม. ขุดเจาะด้วยวิธีเจาะระเบิด และเครื่องเจาะ TBM (มีพื้นที่จัดการวัสดุจากการขุดอุโมงค์ DA ตลอดแนวอุโมงค์ 6 แห่ง รวมพื้นที่ 440 ไร่ มีพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 เอ) อุโมงค์เข้าออก และ 4. ทางออกอุโมงค์ส่งน้ำลำห้วยแม่งูด ปรับปรุงลำห้วยแม่งูด 2.1 กม.

ในอีไอเอ ระบุว่า โครงการฯ ขอใช้พื้นที่ป่าไม้ 3,467 ไร่ ในพื้นที่ป่ารอยต่อ 3 จังหวัด คือ เชียงใหม่ ตาก และแม่ฮ่องสอน เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 4 แห่ง (ป่าแม่ยวมฝั่งซ้าย ป่าอมก๋อย ป่าแม่แจ่ม ป่าแม่ตื่น) พื้นที่เตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติ 1 แห่ง (อุทยานแห่งชาติแม่เงา) มีมาตรการป้องกันแก้ไขและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม ต้องปลูกป่าทดแทน 7,283 ไร่ นอกจากนี้ ยังมีระบบสายส่งไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จากลำพูน 3-สบเมย อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย ซึ่งอยู่ระหว่างการประกาศขยายพื้นที่ ซึ่งอาจได้รับผลกระทบกลับไม่มีอยู่ในรายงานอีไอเอ

ข้อมูลจากอีไอเอ ระบุว่า ด้านทรัพยากรสัตว์ป่า การอพยพของสัตว์ป่ามีเพียงนกเท่านั้น 15 ชนิด มีสัตว์ป่าคุ้มครอง 153 ชนิด ในด้านสิ่งมีชีวิตในน้ำได้มีการตั้งข้อสังเกตระบุว่า เนื่องจากชนิดปลาของทั้งสองฝั่งอุโมงค์ส่วนใหญ่แล้ว แม้จะเป็นชนิดที่ใกล้เคียงกัน แต่ก็เป็นปลาพื้นถิ่นของสองลำน้ำ ที่ได้แยกออกจากกันอย่างชัดเจน อาจทำให้มีลักษณะทางพันธุกรรมต่างกัน โดยเฉพาะปลาลุ่มน้ำสาละวิน เช่น ปลาพลวง ปลากดหัวเสียม ปลากระสูบขีดสาละวิน หากมีการหลุดเข้าไปในอุโมงค์ส่งน้ำ อาจส่งผลต่อความสมดุลของระบบนิเวศ มีมาตรการป้องกันแก้ไขและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยศึกษาวิจัยหาวิธีการเพาะขยายพันธุ์ปลาปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ปลาคม (ปลาพลวง) ปลากดหัวเสียม การลำเลียงปลาที่จับได้จากท้ายเขื่อนไปปล่อยเหนือเขื่อน เพื่อช่วยการอพยพย้ายถิ่น เช่น ปลาสะแงะ (ตูหนา) ปลากดหัวเสียม

ทั้งนี้ที่น่าสนใจคือในตอนท้ายของรายงานอีไอเอ ที่ระบุถึงกิจกรรมการเตรียมความพร้อมชุมชน โดยจัดทำเป็นตารางว่าในวันเวลาใด ได้เดินทางไปพบกับใครเพื่อหารือถึงโครงการ ปรากฏว่า เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2559 ระบุว่าได้หารือกับ นายไพโรจน์ พนาไพรสกุล นายสุภาษิต กรีกรำ นายพงศ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ และนายสมมิ่ง เหมืองร้อง โดยมีรูปนายสมมิ่งนั่งกินอาหารอยู่กับนายไพโรจน์ อยู่ที่ร้านลาบแป้ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน โดยไม่มี นายพงศ์พิพัฒน์อยู่ด้วย

ผู้สื่อข่าวได้สอบถามนายสมมิ่ง ซึ่งเป็นแกนนำชาวบ้านสะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ถึงกรณีที่ปรากฏภาพและชื่อในอีไอเอโครงการนี้โดย นายสมมิ่ง กล่าวว่า รู้สึกตกใจมากที่เห็นรูปของตนเองไปปรากฎในรายงานฉบับดังกล่าว เนื่องจากไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ ในรูปดังกล่าว ตนเองได้เดินทางไปเที่ยวที่ อ.แม่สะเรียง และแวะรับประทานอาหารที่ร้านของเพื่อน จึงได้โทรศัพท์ชวน นายไพโรจน์ ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่มาพบกัน และถ่ายรูปส่งในไลน์ และลงเฟซบุ๊กส่วนตัว จึงไม่ทราบว่าไปปรากฏในรายงานได้อย่างไร ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการประชุมเรื่องโครงการผันน้ำใดๆ ทั้งสิ้น

ในรายงานอีไอเอยังระบุว่าเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2559 ได้เข้าพบหารือกับนายไพโรจน์ พนาไพรสกุล และนายสะท้าน ชีววิชัยพงษ์ กลุ่มสมาคมฟื้นฟูและพัฒนาลุ่มน้ำสาละวิน โดยมีภาพนักวิชาการถ่ายภาพเซลฟี่ร่วมกับนายไพโรจน์ 1 รูปและนายสะท้าน 1 รูป แต่เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามไปยังนายสะท้านได้รับคำอธิบายว่า มีบุคคลที่แนะนำตัวว่าเป็นอาจารย์ โทรมาหาตนหลายครั้ง โดยบอกว่าขอพบเพื่อหารือ จึงได้ไปที่ร้านอาหารลาบแป้ อ.แม่สะเรียง โดยไปกับนายไพโรจน์ พนาไพรสกุล

“ตอนแรกเขาบอกว่าขอทำความรู้จัก เนื่องจากทราบว่าเราทั้ง 2 คนทำงานในเครือข่ายลุ่มน้ำสาละวิน พวกผมจึงได้ไปพบช่วงเที่ยง และเขาชวนกินข้าว แต่ผมกินข้าวมาแล้ว อาจารย์ทั้ง 2 คน แนะนำตัวว่ามาจากมหาวิทยาลัยนเรศวร ศึกษาเรื่องโครงการผันน้ำ ผมรู้สึกสงสัยว่าทำไมจึงต้องโทรมาหาผม ซึ่ง อาจารย์แนะนำว่าได้จัดทำสะเอียบโมเดล ที่แก่งเสือเต้น จ.แพร่ ด้วย ซึ่งผมทราบว่าประชาชนคัดค้านเขื่อน และมีการเสนอฝาย อาจารย์ได้คุยเรื่องโครงการผันน้ำยวม ผมจึงบอกว่าจะมาคุยกัน 2-3 คนแบบนี้ไม่ได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องของชุมชน ต้องมีการจัดเวทีคุยกัน ชาวบ้านลุ่มน้ำยวม เงา เมย สาละวิน ไม่เห็นด้วยตั้งแต่ต้นแล้ว อาจารย์ทั้งคู่บอกว่าขอทราบข้อกังวลใจ ผมบอกไปว่ามีหลายประเด็น ทั้งสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตที่สัมพันธ์กับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นการคุยกันเพียงไม่ถึง 1 ชั่วโมง ผมได้แจ้งไปว่า ห้ามนำไปลงในรายงาน แต่สุดท้ายก็พบว่ามีรูปและข้อมูลปรากฏในรายงานอีไอเอ” นายสะท้าน กล่าว

นายสะท้านกล่าวว่า ภาพรวมของรายงานอีไอเอครั้งนี้จึงถือว่าไม่โปร่งใส มีหลายส่วนที่ไม่อยู่บนฐานของข้อเท็จจริง ประชาชนลุ่มน้ำแสดงออกว่าคัดค้านมาโดยตลอด กลับไม่มีรูปปรากฎออกมาเลย การลงพื้นที่เพื่อพบและขอข้อมูลกับประชาชนฝ่ายที่คัดค้านก็ไม่มี เวทีใหญ่เป็นการไปคุยกับประชาชนนนอกพื้นที่ ที่ไม่ได้รับผลกระทบ ในเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม ผลกระทบกับพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธารไม่แน่ใจว่าศึกษารอบด้านเพียงพอหรือไม่ ที่สำคัญคือ มีการนำรูปของตนไปใช้โดยไม่รับอนุญาต และเป็นการคุยไม่เป็นทางการในร้านอาหาร แต่นำมาลงรายงาน แล้วยังระบุชื่อว่ามีอีก 2 คน ทั้งๆ ที่ไม่ได้อยู่ตรงนั้นด้วย ความน่าเชื่อถือไม่มีเลย

วันเดียวกันสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือพอช.ได้จัดประชุมสมัชชาออนไลน์ “สภาองค์กรชุมชนเหนือ ร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยในภาวะวิกฤตโควิด-19” โดยในส่วนของกลุ่มย่อยได้มีเวทีเสวนาเรื่อง “จับตาโครงการผันน้ำและสร้างเขื่อนรองรับน้ำภาคเหนือ”โดย นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ(ประเทศไทย) กล่าวโครงการผันน้ำยวมนี้ ตอนแรกไม่คิดว่าโครงการลงทุนมหาศาลจะเกิดขึ้นได้ โดยการสร้างเขื่อนและสูบน้ำขึ้นบนภูเขาและขุดอุโมงค์ยาวกว่า 60 กม.มาลงที่บ้านแม่งูด อ.ฮอด จ.เชียงใหม่ และจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เพื่อสูบน้ำ โดยการทำโครงการอ้างว่าน้ำในเขื่อนภูมิพลไม่พอจึงต้องสูบน้ำไปเติม ทั้งๆที่สาเหตุที่น้ำในเขื่อนไม่เต็มเพราะมีโครงการของรัฐไปสร้างเขื่อนตอนบนกั้นไว้หมด โดยมีนักการเมือง และข้าราชการกรมชลประทานบอกว่าน้ำไหลลงแม่น้ำสาละวินเปล่าประโยชน์ซึ่งเป็นการพูดที่ไร้สาระสิ้นดีเพราะน้ำที่ไหลลงต่างหล่อเลี้ยงสิ่งมีชีวิตต่างๆ มากมาย

นายหาญณรงค์กล่าวว่า โครงการนี้ขุดอุโมงค์และต้องเอาดินออกจากอุโมงค์กว่า 60 กม.โดยตลอดเส้นทางมีที่ดินของชาวปกาเกอะญออยู่ทั้งสิ้นและในรายงานอีไอเอไม่ได้มีการพูดถึงวิถีวัฒนธรรมของชาวบ้านเลย การเอาดินที่ขุดจากอุโมงค์ไปทิ้งตามจุดต่างๆทับพื้นที่ดินทำกินของชาวบ้านและป่า โดยอุโมงค์กว้าง 8 เมตรเพื่อให้รถวิ่งสวนกันได้ เราต้องเสียค่าไฟฟ้าเป็นค่าสูบน้ำปีละกว่า 2 พันล้านบาท โครงการนี้ต้นทุนต่อน้ำเกินกว่า 1 บาทต่อ ลบ.ม.ถือว่าไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ

“นักการเมืองบอกว่าวิสาหกิจจีนจะลงทุนให้ ใช้เงินแค่ 4 หมื่นล้านบาท แล้วเก็บเงินค่าน้ำ ผมสงสัยคือการให้ต่างชาติมาลงทุนแล้วเก็บค่าน้ำ โครงการนี้ไม่น่าจะคุ้มแต่ที่นักการเมืองและข้าราชการพยายามผลักดันเพื่ออะไร ผมมีข้อสงสัยต่ออีไอเอครั้งนี้มากเพราะในรายงานมีภาพชาวบ้านหลายคน บริษัทที่ปรึกษามาถ่ายรูปคนพวกนี้แล้วบอกว่ามีหารือกับคนเหล่านี้แล้ว มันถูกต้องหรือไม่ บางคนนั่งอยู่ในร้านลาบแล้วมาบอกว่ามาทำความเข้าใจกับผู้เห็นต่างเรื่องโครงการ เขาอ้างโดยเอารูปมาใส่ในรายงานว่าเป็นการมีส่วนร่วมของประชาชน วิธีการทำรายงานอีไอเอลักษณะนี้ง่ายเกินไปหรือไม่” นายหาญณรงค์ กล่าว

ด้านนายพงษ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ ผู้ประสานงานเครือข่ายลุ่มน้ำสาละวินกล่าวว่า ชาวบ้านได้คัดค้านโครงการนี้มาโดยตลอดเพราะมีผลกระทบมากมายและชาวบ้านได้ยื่นหนังสือไปในหลายช่องทาง แต่ไม่เข้าใจว่าทีมที่ศึกษาอีไอเอและผู้ผลักดันโครงการไม่เคยเอาข้อเสนอแนะหรือข้อเรียกร้องของชาวบ้านไปพิจารณาเลย การกระทำของกรมชลประทานหากยังผลักดันโครงการอยู่ต้องเกิดปัญหาขึ้นแน่นอน

“ในรายงานอีไอเอที่บอกว่า ถามผู้นำชุมชนนั้น ไม่ใช่ข้อเท็จจริงเพราะพวกเราคัดค้านมาตลอด ที่สำคัญคือไม่ได้ถามความเห็นของชาวบ้านอย่างแท้จริงแล้วบอกว่าอีไอเอผ่านไปแล้ว ควรมีการตรวจสอบและยกเลิกการทำอีไอเอครั้งนี้ หากนำมาใช้เดินหน้าโครงการมีปัญหาแน่ เราไม่อาจยอมรับอีไอเอนี้ได้ เขาบอกว่ามาหาผม ซึ่งผมไม่รู้ว่ามาหาวันไหน แล้วยังเอาชื่อผมไปใส่ใน อีไอเอ ได้อย่างไร” นายพงศ์พิพัฒน์ กล่าว

 

 

ร่วมแสดงความคิดเห็น