ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รับการยืนยันว่ามีการ ตรวจพบ ข่าวบิดเบือน เพิ่มเติม 1 กรณี

วันที่ 26 ส.ค. 64 พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รับการยืนยันว่ามีการ ตรวจพบ ข่าวบิดเบือน เพิ่มเติม 1 กรณีคือ

กรณีที่มีการนำเสนอข้อมูลในโซเชียลมีเดียถึงประเด็นเรื่อง ผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 จะไม่สามารถกลั้นหายใจได้ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าข้อมูลดังกล่าว เป็นข้อมูลบิดเบือน

ในกรณีการเผยแพร่ข้อมูลซึ่งระบุถึงอาการของผู้ป่วยโควิด-19 ที่จะไม่สามารถกลั้นหายใจได้ ทางกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ชี้แจงว่าถ้าผู้ป่วยทั่วไปที่ติดโควิด-19 แต่ไม่มีภาวะปอดอักเสบ จะยังสามารถกลั้นหายใจได้ปกติ ซึ่งการไอที่เกิดจากการกลั้นหายใจเป็นได้จากการอักเสบของหลอดลมหรือเกิดจากหลอดลมมีการตอบสนองที่ไวกว่าปกติ โดยมีสาเหตุได้หลายอย่างและเป็นอาการที่ไม่จำเพาะเจาะจงกับโรคโควิดที่ลงปอด การที่โควิดลงปอดแล้วนั้นจะทำให้ปอดอักเสบ มีผลต่อการแลกเปลี่ยนออกซิเจน ทำให้การแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้น้อยลง การกลั้นหายใจจึงมีผลทำให้หยุดการหายใจ ทำให้มีปริมาณออกซิเจนลดลง ร่างกายตอบสนองเพื่อหายใจนำออกซิเจนเข้ามาสู่ร่างกาย เลยทำให้รู้สึกว่าไม่สามารถกลั้นการหายใจได้

ดังนั้นข้อมูลที่มีการโพสต์ และแชร์ต่อในขณะนี้ จึงเป็นข้อมูลบิดเบือน ขอความร่วมมือประชาชน ไม่แชร์ ไม่ส่งต่อข่าวดังกล่าว เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากทางกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สามารถติดตามข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ www.dms.go.th หรือโทร. 02-590-6000

บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ผู้ป่วยทั่วไปที่ติดโควิด-19 แต่ไม่มีภาวะปอดอักเสบ จะยังสามารถกลั้นหายใจได้ปกติ แต่การที่โควิดลงปอดแล้วนั้นจะทำให้ปอดอักเสบ มีผลต่อการแลกเปลี่ยนออกซิเจน ทำให้รู้สึกว่าไม่สามารถกลั้นการหายใจได้

รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติกล่าวเพิ่มเติมว่า การผลิตข่าวปลอม สร้างข่าวบิดเบือน ทำให้ประเทศชาติเสียหาย ประชาชนสับสน เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14(2),(5) มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจเข้าข่ายความผิดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวมทั้งกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่ผลิตข่าวปลอมและผู้ที่เผยแพร่ทุกรายอย่างเด็ดขาดจริงจังและต่อเนื่องต่อไป
ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนพบข้อมูลการกระทำผิด สามารถแจ้งเบาะแสข่าวผ่าน
5 ช่องทาง ได้แก่ เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com, เฟซบุ๊ก ANTI-FAKE NEWS CENTER, ทวิตเตอร์ @AFNCThailand, ไลน์ @antifakenewscenter, ช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87 และสายด่วน 1599 ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ”
ที่มา…กองสารนิเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ร่วมแสดงความคิดเห็น