ข่าวปลอมอย่าแชร์ ! หากผู้อื่นรู้เบอร์มือถือที่ผูกพร้อมเพย์ ทำให้รู้ยอดเงินในธนาคารได้

วันที่ 28 ส.ค. 64 พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้รับการยืนยันว่ามีการ ตรวจพบ ข่าวปลอม เพิ่มเติม 1 กรณีคือ

กรณีที่มีการแชร์ข้อความเตือนในสื่อต่างๆ เกี่ยวกับประเด็นเรื่อง หากผู้อื่นรู้เบอร์มือถือที่ผูกพร้อมเพย์ ทำให้รู้ยอดเงินในธนาคารได้ ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กระทรวงการคลัง พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

จากกรณีที่การมีแชร์ข้อมูลว่าผู้ที่สมัครพร้อมเพย์ที่ผูกกับเบอร์มือถือ แล้วถ้าผู้อื่นรู้เบอร์มือถือจะทำให้สามารถรู้ยอดเงินในบัญชีของเราได้ ทางธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ชี้แจงว่าข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง เนื่องจากธนาคารและบริษัทที่ดูแลระบบกลาง ไม่สามารถนำข้อมูลลูกค้ามาเปิดเผย หรือขายต่อข้อมูลได้ เพราะมีกฎหมายรองรับอยู่ คือ พ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ร.บ.ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์และ พ.ร.ฎ. ควบคุมดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนั้นมีประกาศคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่กำหนดในเรื่องการรักษาความมั่นคงปลอดภัย และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งผู้ให้บริการพร้อมเพย์ทั้งธนาคารพาณิชย์ และผู้ให้บริการระบบกลางพร้อมเพย์ต้องปฏิบัติตาม อีกทั้งธนาคารพาณิชย์และบริษัทที่ดูแลระบบกลาง เป็นระบบปิดที่มีการดูแลรักษาความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล ISO 27001 คนภายนอกไม่สามารถต่อเข้ากับระบบพร้อมเพย์ผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ตทั่วไปได้ รวมถึงการดูแลระบบสารสนเทศ (IT) ในเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยมาตรฐานความถูกต้อง ความพร้อมใช้ของระบบ การดูแลการเข้าถึงข้อมูล การสำรองข้อมูล และการมีแผนรองรับกรณีฉุกเฉิน

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.bot.or.th หรือโทร. 02 2835353

บทสรุปของเรื่องนี้คือ : การที่ผู้อื่นรู้เบอร์มือถือที่ผูกพร้อมเพย์ ไม่สามารถทำให้รู้ยอดเงินในธนาคารได้ โดยธนาคารและบริษัทที่ดูแลระบบกลางนั้น ไม่สามารถนำข้อมูลลูกค้ามาเปิดเผย หรือขายต่อข้อมูลได้ เพราะมีกฎหมายควบคุมอยู่

รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติกล่าวเพิ่มเติมว่า การผลิตข่าวปลอม สร้างข่าวบิดเบือน ทำให้ประเทศชาติเสียหาย ประชาชนสับสน เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14(2),(5) มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และอาจเข้าข่ายความผิดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน รวมทั้งกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่ผลิตข่าวปลอมและผู้ที่เผยแพร่ทุกรายอย่างเด็ดขาดจริงจังและต่อเนื่องต่อไป

ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนพบข้อมูลการกระทำผิด สามารถแจ้งเบาะแสข่าวผ่าน 5 ช่องทาง ได้แก่ เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com, เฟซบุ๊ก ANTI-FAKE NEWS CENTER, ทวิตเตอร์ @AFNCThailand, ไลน์ @antifakenewscenter, ช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87 และสายด่วน 1599 ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ”

ร่วมแสดงความคิดเห็น