สำเร็จเรียบร้อย “รูปปั้น จรัล มโนเพ็ชร” โครงการจรัลรำลึก “ปาอ้ายปิ๊กบ้าน” ครบรอบการจากไป 20 ปี ในวันที่ 3 กันยายน 2564 เตรียมติดตั้งที่สวนบวกหาดปลายปีนี้

โครงการจรัลรำลึก “ปาอ้ายปิ๊กบ้าน”10 พฤษภาคม 2563 ศ.เกียรติคุณ ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง ได้ริเริ่มโครงการจรัลรำลึก (ค.จ.ร.) โดยชักชวนคนที่รักและคิดถึง จรัล มโนเพ็ชร มาร่วมพูดคุย เสวนา จนได้แนวทางที่จะร่วมกันระดมทุนจำนวนราว 500,000 บาท เพื่อสร้างประติมากรรมของจรัล มโนเพ็ชร ซึ่งจากไปเมื่อ 3 กันยายน พ.ศ. 2544 และจะครบรอบ 20 ปี ในวันที่ 3 กันยายน 2564


ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2563 ค.จ.ร. ได้ติดต่อประสานงานกับ คุณมานิด อัชวงศ์ อดีตผู้จัดการของจรัล มโนเพ็ชร คุณกิจจา มโนเพ็ชร (น้องชาย) และคุณอันยา โพธิวัฒน์ (คู่ชีวิต) แจ้งให้ทราบถึงวัตถุประสงค์และแนวทางการทำงานด้านการรับเงินบริจาค และการศึกษาแนวทางการสร้างประติมากรรม โดย ค.จ.ร. ได้เข้าพบคุณอันยา ที่ลำพูน และโทรศัพท์ติดต่อกับคุณกิจจา ที่กรุงเทพฯ (ภายหลังท่านขึ้นมาที่เชียงใหม่) ต่อมา กรรมการ ค.จ.ร. 3 คน (ศ.ดร.ธเนศวร์ เจริญเมือง ประธาน ค.จ.ร. อ.บฤงคพ วรอุไร และคุณพุทธชาติ หงสกุล) ได้เดินทางไปพบคุณมานิด อัชวงศ์ ที่กรุงเทพฯเพื่อพูดคุยรายละเอียดโครงการฯ เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2563 หลังจากการแลกเปลี่ยนความเห็น ศ.ดร. ธเนศวร์ เจริญเมือง ได้ขอพบคุณไตรศุลี มโนเพ็ชร บุตรชายของจรัล มโนเพ็ชร คุณมานิด อัชวงศ์ แจ้งว่าไม่เป็นไร จะนำเรื่องที่มาพบไปบอกให้ น่าสังเกตว่าขณะที่คุณกิจจา และคุณอันยา กล่าวชื่นชมกิจกรรมของ ค.จ.ร. คุณมานิด เพียงแต่รับทราบ และกล่าวว่าขอให้โชคดี

ค.จ.ร. ได้เริ่มเปิดบัญชีรับเงินบริจาคจากประชาชนทั้งในท้องถิ่น ทั่วประเทศ และต่างประเทศ เริ่มตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2563 โดยมีหลักเกณฑ์คือ 1. ค.จ.ร. จะแจ้งยอดเงินในบัญชีทุกสัปดาห์ ทางหน้าเพจจรัลรำลึก (บัญชีของโครงการจรัลรำลึก เปิดในนามของ ธเนศวร์ เจริญเมือง, วสันต์ จอมภักดี และแสวง มาละแซม) 2. ค.จ.ร. จะไม่ถอนเงินจากบัญชีจนกว่าจะครบตามเป้าหมาย และ 3. เงินบริจาคจะนำไปใช้เฉพาะการก่อสร้างประติมากรรมเท่านั้น

เมื่อได้ทุนครบตามจำนวนในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 ค.จ.ร. จึงดำเนินต่อคือการรวบรวมและสรุปความเห็นเรื่องแบบและการออกแบบ โดยมี รศ.ดร.สุกรี เกสรเกศรา เป็นผู้จัดทำแบบสเก็ตซ์ภาพของจรัล มโนเพ็ชร นั่งดีดกีตาร์อยู่บนเก้าอี้ไม้ตัวยาวและซึงวางด้านข้าง มี อ.ภูธิป บุญตันบุตร เป็นประติมากรปั้นรูปเท่าตัวจริง และอ.อัษฎายุธ อยู่เย็น จากกรุง เทพฯ ขึ้นมาช่วยงานปั้นและให้คำแนะนำ ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ ฯ คุณอันยา โพธิวัฒน์ คู่ชีวิตของจรัล มโนเพ็ชร มาเป็นที่ปรึกษาการปั้น และได้มอบข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวของจรัล ให้เป็นแบบในการปั้น จนงานสำเร็จลุล่วงด้วยดี และตรงใจกรรมการโครงการฯ

จากการสำรวจและสรุปของ ค.จ.ร. พื้นที่ที่จะติดตั้งประติมากรรม จรัล มโนเพ็ชร คือหน้าพิพิธภัณฑ์พื้นถิ่นล้านนา ริมถนนพระปกเกล้า แต่การประชุมร่วมระหว่างเทศบาลนครเชียงใหม่ ค.จ.ร. และองค์กรอื่น ๆ เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2564 เห็นว่า สถานที่ตั้งอันเหมาะสมคือ สวนบวกหาด ที่อยู่ไม่ไกลจากย่านบ้านเกิดของจรัล มโนเพ็ชร และต่อจากนี้ เทศบาลฯ และชมรมสถาปนิคล้านนา จะร่วมกันออกแบบและปรับภูมิทัศน์ และจัดตั้งประติมากรรมให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2564

ปัจจุบัน รูปปั้นของจรัล มโนเพ็ชร สำเร็จเรียบร้อยตามกำหนด เพื่อเปิดตัวต่อสาธารณะ และเพื่อให้ทุกคนที่รักศิลปินล้านนา ได้ร่วมชื่นชม ระลึกถึงในวาระครบรอบ 20 ปี การจากไปของนักรบวัฒนธรรมล้านนา ที่โดดเด่นผู้หนึ่งแห่งศตวรรษ และเตรียมเข้าร่วมเฉลิมฉลองการเปิดตัวประติมากรรมอย่างเป็นทางการ ในช่วงปลายปี 2564 ต่อไป.

ศ.เกียรติคุณ ดร. ธเนศวร์ เจริญเมือง ประธานคณะกรรมการโครงการจรัลรำลึก

ร่วมแสดงความคิดเห็น