(มีคลิป) ทีมแพทย์พยาบาล รพ.ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เผยโฉม นวัตกรรมการประยุกต์ ใช้ตู้แรงดันลบแบบเคลื่อนที่ฝ่าวิกฤต COVID-19

จากการที่ รพ.ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช กองทัพภาคที่ 3 จังหวัดพิษณุโลก ได้รับมอบตู้แรงดันลบและตู้แรงดันบวกแบบเคลื่อนที่ (Negative/Positive Pressure Isolation Chamber) จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทางทีมแพทย์ และพยาบาล รพ.ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้ประยุกต์ด้านวิศวกรรม & เทคโนโลยีเพื่อออกแบบเป็นนวัตกรรมนำมาใช้ร่วมกับตู้แรงดันลบ เพื่อนำมาใช้ในการดูแลผู้ป่วย ณ รพ.สนามกองทัพบก กองทัพภาคที่ 3 โดยออกแบบภายใต้โครงสร้างอาคารเดิม ทำในรูปแบบลักษณะ Ante-room เพื่อเชื่อมต่อกับตู้แรงดันลบ ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงของบุคลากรทางการแพทย์ ที่ไม่ต้องสัมผัสกับผู้ป่วยโดยตรง

ภายในตู้จะเป็นการควบคุมความดันอากาศให้เป็นแรงดันลบ ซึ่งอากาศภายในตู้ที่มีผู้ป่วยอยู่จะถูกดูดไปที่เครื่องกรองอากาศปล่อยสู่ภายนอก โดยภายในเครื่องกรองอากาศจะมีระบบการกรองด้วย HEPA filter และ UVC ทำให้มั่นใจได้ว่าอากาศที่ปล่อยออกไป มีความสะอาดและปลอดภัย โครงสร้างหลักผลิตจากอะลูมิเนียมอัลลอยและผนังเป็นกระจกใส มีช่องสำหรับเชื่อมต่อกับตู้แรงดันลบให้พอดีและแนบสนิท เพื่อป้องกันการไหลออกของอากาศภายใน นับว่ามีประโยชน์อย่างมากต่อการสนับสนุนการปฏิบัติงาน ของบุคลากรทางการแพทย์ รพ.ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช

ซึ่ง พ.ต.ทพ.ฉัตรชัย ภักดีอภินันท์ และทีมงาน รพ.ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ได้ร่วมกันออกแบบโดยใช้องค์ความรู้เรื่องระบบระบายอากาศที่เคยได้ทำคลินิกแยกโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลัน (ARI clinic)และห้องเก็บสิ่งส่งตรวจ (Swab box) มาประยุกต์ให้เข้ากับโครงสร้างเดิมของอาคาร เมื่อได้จัดทำโครงสร้างตามที่ออกแบบไว้รองรับการเชื่อมต่อของตู้แรงดันลบแบบเคลื่อนที่ เมื่อเชื่อมต่อแล้วสามารถนำมาใช้ในการซักประวัติและคัดกรองผู้ป่วยแรกรับ เจาะเลือด เก็บสิ่งส่งตรวจ(Swab) ได้โดยมีช่องเจาะเพื่อใส่ถุงมือบริเวณหน้าตู้ เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ยื่นมือเข้าไปทำหัตถการในขณะผู้ป่วยอยู่ในตู้ภายใต้แรงดันลบ ซึ่งจำกัดทิศทางการไหลของอากาศที่สัมผัสผู้ป่วย ทำให้สามารถช่วยลดความเสี่ยงของบุคลากรทางการแพทย์ในการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วยและจำกัดพื้นที่การฟุ้งกระจายสารคัดหลั่งของผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ ทีมแพทย์และพยาบาล รพ.ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ยังได้ใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมการประยุกต์นี้ มาใช้ในกระบวนการถ่ายภาพรังสีทรวงอก หรือเรียกว่า เอกซเรย์ปอด โดยผู้ป่วยยืนภายในห้อง ante-room ที่สร้างขึ้น เจ้าหน้าที่ทำการถ่ายเอกซเรย์โดยการฉายรังสีเอกซเรย์ผ่านกระจกได้เลย โดยไม่เสี่ยงต่อการปนเปื้อนต่อเชื้อโรคและสิ้นเปลืองทรัพยากรอุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่แต่เดิมต้องต้องสัมผัสผู้ป่วยโดยต้องสวมชุด Personal Protective Equipment (PPE) ภายหลังการประยุกต์ออกแบบนวัตกรรมใหม่นี้ สามารถช่วยลดการสิ้นเปลืองอุปกรณ์เครื่องมือในการป้องกันดูแลผู้ป่วยติดเชื้อ ซึ่งสามารถนำอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีอยู่อย่างจำกัดไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในด้านอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี

ร่วมแสดงความคิดเห็น