จัดบรรยายพิเศษในหัวข้อ เขตศุลกากรพิเศษพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนมณฑลยูนนาน และรถไฟลาว-จีน ฯ

ศูนย์ China Intelligence Center วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดบรรยายพิเศษในหัวข้อ “เขตศุลกากรพิเศษพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนมณฑลยูนนาน และรถไฟลาว-จีน โอกาสของภาคเหนือ และอำเภอเชียงของสู่การเชื่อมโยงเศรษฐกิจอาเซียน-จีน”

เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2564 เวลา 13:00 น. อ.ดร.ดนัยธัญ พงษ์พัชราธรเทพ รองคณบดีฝ่ายบริการสังคมและวิจัย และหัวหน้าศูนย์ China Intelligence Center วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้จัดบรรยายพิเศษผ่านระบบซูม ในหัวข้อ “เขตศุลกากรพิเศษพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนมณฑลยูนนานและ รถไฟลาว-จีน โอกาสของภาคเหนือและอำเภอเชียงของสู่การเชื่อมโยงเศรษฐกิจอาเซียน-จีน” โดยได้เชิญวิทยากรจากกระทรวงพาณิชย์มณฑลยูนนานที่รับผิดชอบพื้นที่เขตปลอดภาษียูนนาน (คุนหมิง) สำหรับกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามแดนมาเป็นวิทยากรร่วมบรรยาย กิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “สร้างโอกาสสำหรับการค้าข้ามพรมแดนในกลุ่มประเทศสมาชิกแม่โขง-ล้านช้าง จากการ พัฒนาเส้นทาง R3A และโครงข่ายรถไฟ China-Pan Asia” ซึ่งกระทรวงพาณิชย์โดยกรมเจรจาการค้า ได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ดำเนินโครงการฯ เพื่อส่งเสริมการส่งออกสินค้าไทยผ่านเส้นทาง R3A และเขตการค้าเสรีนำร่องมณฑลยูนนาน(คุนหมิง)  ยกระดับผู้ประกอบการ SMEs ไทยให้สามารถส่งออกสินค้าเข้าสู่ตลาดจีน โดยใช้ประโยชน์จากเส้นทาง R3A และโครงข่ายรถไฟของจีนที่สร้างเชื่อมต่อลงมาจากคุนหมิงถึงบ่อหาน

กิจกรรมเริ่มต้นขึ้นโดย อ.ดร.ดนัยธัญ พงษ์พัชราธรเทพ ได้เล่าสรุปถึงแนวโน้มการพัฒนาด้านการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนของประเทศจีนที่ส่งผลดีต่อผู้ประกอบการจากต่างประเทศที่จะสามารถใช้ช่องทางดังกล่าวนำสินค้าเข้าสู่ตลาดจีนได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเทศจีนได้กำหนดให้ทุกมณฑลมีด่านศุลกากรสำหรับสินค้ากลุ่มพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดน โดยเฉพาะอย่างยิ่งมณฑลยูนนานมีเส้นทางถนน R3A ที่สามารถขนส่งสินค้าผ่านเข้าสู่ประเทศจีนได้ทางด่านศุลกากรบ่อหาน มีระยะทางห่างจากอำเภอเชียงของจังหวัดเชียงรายเพียง 220 กิโลเมตรเท่านั้น และจีนยังมีแผนลงทุนสร้างถนนทางด่วนมาตรฐานจากบ่อหานถึงห้วยทราย (ตรงข้ามกับอำเภอเชียงของ) ที่จะย่นระยะทางของเส้นทาง R3A ในส่วนของประเทศลาวให้เหลือเพียง 176 กิโลเมตรเท่านั้น จึงนับเป็นโอกาสสำคัญของสินค้าไทยที่จะใช้เส้นทางนี้สำหรับนำเข้าสินค้าในแบบค้าปลีกสู่ประเทศจีนได้ รวมถึงในอนาคตเมื่อรถไฟจีน-ลาวเริ่มเปิดให้บริการในวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2564 ก็ยิ่งทำให้การขนส่งสินค้าเข้าสู่ประเทศจีนทางด่านบ่อหานมีทางเลือกการขนส่งเพิ่มมากขึ้น ภาคเหนือโดยเฉพาะอย่างยิ่งอำเภอเชียงของจึงต้องเตรียมความพร้อมในการพัฒนาเพื่อสร้างบทบาทการเป็นตัวเชื่อมระหว่างจีนกับอาเซียนสำหรับรูปแบบการค้าในแบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามแดนต่อไป

การเสวนายังได้เรียนเชิญผู้แทนของกระทรวงพาณิชย์แห่งมณฑลยูนนาน มาให้ความรู้เกี่ยวกับยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามแดนของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งของมณฑลยูนนานที่ถูกประกาศให้เป็นเขตเศรษฐกิจเสรีนำร่องในกลุ่มอุตสาหกรรมเศรษฐกิจฐานดิจิทัล และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามแดน เพื่อมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงระหว่างสามภูมิภาคได้แก่ เอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียตะวันออก รวมถึงการบรรยายให้ความรู้ความเข้าใจรูปแบบการดำเนินการและให้บริการของเขตศุลกากรและคลังสินค้าปลอดภาษีสำหรับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามแดน ที่จะมีบริการทั้งด้านการแนะนำแพลตฟอร์มออนไลน์ บริการการชำระเงินข้ามพรมแดนโดยใช้สกุลเงินท้องถิ่นผ่านสถาบันการเงิน ตลอดจนบริการด้านโลจิสติกส์ คลังสินค้าและพิธีการศุลกากรที่ช่วยให้สินค้าจากต่างประเทศสามารถขายให้กับผู้ซื้อชาวจีนได้อย่างถูกกฎหมาย ด้วยขั้นตอนและอัตราภาษีที่ต่ำกว่าการค้าในรูปแบบปกติ

ภายหลังการเสวนา ดร.ดนัยธัญ พงษ์พัชราธรเทพ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า การเสวนาครั้งนี้นับเป็นปรากฎการณ์ที่สำคัญครั้งหนึ่ง เพราะมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ซึ่งเป็นองค์กรการศึกษาได้ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชิญเจ้าหน้าที่ของทางการจีนให้เข้ามาร่วมเสวนา และตอบคำถามของผู้เข้าร่วม เพราะในเชิงระเบียบราชการแล้วเจ้าหน้าที่รัฐบาลจีนมักไม่ตอบคำถามที่ไม่ทราบคำถามล่วงหน้า แต่ในครั้งนี้เจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์มณฑลยูนนานกลับให้ความร่วมมือและตอบคำถาม ดังนั้นในอนาคตทางศูนย์ CIC มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็จะพยายามทำหน้าที่ประสานงานเพื่อจัดกิจกรรมเชิงเสวนา รวมถึงต่อยอดจากกิจกรรมดังกล่าวเพื่อนำเอาสินค้าของผู้ประกอบการไทยเข้าใช้ช่องทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามแดนมณฑลยูนนานเข้าสู่ตลาดจีนต่อไป

สำหรับกิจกรรมดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมจากทั้งกระทรวงต่างๆทั้งจากส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ผู้บริหารสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าจังหวัด สมาพันธ์โลจิสติกส์ ผู้บริหารและสมาชิกบิสคลับ ตลอดจนนักวิขาการของสถาบันวิจัย มหาวิทยาลัย รวมไปถึงผู้ประกอบการบริษัทที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ การส่งออก ผู้ประกอบการผลิตสินค้า รวมถึงผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว ของทั้งประเทศไทยและประเทศลาว รวมกว่า 250 คน โดยภายหลังการประชุมแล้วเสร็จได้มีการจัดทำกลุ่มไลน์ “CBEC To China By CIC CMU” ขึ้นเพื่อใช้เป็นช่องทางเผยแพร่ข่าวสารสำหรับผู้ที่สนใจติดตามความเคลื่อนไหวของการพัฒนาในพื้นที่เขตเศรษฐกิจจีนตอนใต้กับประเทศลาว และประเทศไทย

ร่วมแสดงความคิดเห็น