สธ. อนุมัติสูตรฉีดวัคซีนไขว้เพิ่ม ‘แอสตร้าฯ-ไฟเซอร์’ คาดเริ่มฉีดได้เดือน ต.ค. นี้ พร้อมยุติการสั่งซื้อวัคซีน ‘ซิโนแวค’ เพิ่ม

สธ. อนุมัติสูตรฉีดวัคซีนไขว้เพิ่ม ‘แอสตร้าฯ-ไฟเซอร์’ คาดเริ่มฉีดได้เดือน ต.ค. นี้ พร้อมยุติการสั่งซื้อวัคซีน ‘ซิโนแวค’ เพิ่ม และรอวัคซีนรุ่นใหม่ที่สามารถต้านเชื้อกลายพันธุ์
วันที่ 3 ก.ย. 2564 นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยสถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิด-19 ในไทย ฉีดไปทั้งหมด 34,292,537 โดส ในจำนวนนี้แบ่งเป็น ประชาชนที่ได้รับวัคซีน 1 เข็ม มีจำนวน 24,542,140 ราย หรือร้อยละ 34.1 ประชาชนที่ได้รับวัคซีน 2 เข็ม มีจำนวน 9,152,799 ราย หรือร้อยละ 12.7 จะเห็นได้ว่า ช่วงนี้การฉีดวัคซีนดำเนินไปอย่างรวดเร็ว

โดยเมื่อช่วงเช้า มีการประชุมคณะกรรมการอำนวยการศูนย์ฉีดปฏิบัติการฉุกเฉินด้านและแพทย์และสาธารณสุขกรณีติดเชื้อโควิด-19 (ศปก.สธ.) โดยมีมติอนุมัติสูตรการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย โดยอาศัยคำแนะนำจากคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคซึ่งประชุมดันไปเมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2564 โดยอาศัยข้อมูลวิชาการใหม่ๆ เช่น ผลการศึกษาวิจัยในต่างประเทศและการศึกษาในประเทศไทย

โดยสูตรแรก คือ การฉีดวัคซีน มีการแนะนำเป็นสูตรไขว้ เริ่มต้นด้วย สูตรวัคซีนซิโนแวค เข็ม 1 ฉีดวัคซีนเข็ม 2 เป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า โดยจะเว้นระยะห่าง 3-4 สัปดาห์ โดยในระยะนี้ จะใช้สูตรวัคซีนไขว์นี้กลายเป็นสูตรหลักของประเทศไทยในกลุ่มเป้าหมายอายุ 18 ปีขึ้นไป

สูตรที่ 2 วัคซีนเข็มที่ 1 เป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ให้เว้นระยะห่าง 4 ถึง 12 สัปดาห์แล้วรับวัคซีนเข็มที่ 2 เป็นวัคซีนไฟเซอร์ สูตรนี้ใช้ในกลุ่มผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไปทุกกลุ่ม ซึ่งสูตรนี้จะมีการใช้กันอย่างแพร่หลายในเดือน ต.ค. เมื่อมีวัคซีนไฟเซอร์เข้ามาในช่วงปลายเดือนนี้ โดยช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีคือ เดือน ต.ค.-ธ.ค. จะได้รับวัคซีนไฟเซอร์เดือนละ 10 ล้านโดส และสูตรที่ 3 การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น กรณีผู้รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม ให้เว้นระยะอย่างน้อย 4 สัปดาห์หลังการรับวัคซีนเข็มที่ 2 และให้รับวัคซีนเข็มที่ 3 เป็นวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า

ส่วนการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในผู้ที่เคยติดเชื้อหรือหายป่วย โควิด-19 คณะกรรมการเห็นตรงกันว่า หากยังไม่ได้รับวัคซีน หรือรับวัคซีนยังไม่ครบ และได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว แต่เข็ม 2 ยังไม่ถึง 2 สัปดาห์ก่อนการติดเชื้อ สามารถรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า หรือ ไฟเซอร์ หลังจากตรวจพบเชื้อ หรือหายป่วยแล้ว 1 – 3 เดือน

ส่วนความคืบหน้าการจัดหาวัคซีนของไทย นายแพทย์โสภณ ระบุว่า ตั้งแต่เดือน ก.ย.-ธ.ค. จะมีวัคซีนเข้ามาเพิ่มอย่างต่อเนื่อง แบ่งเป็น ซิโนแวค 12 ล้านโดส ระหว่างเดือนก.ย.-ต.ค. เดือนละ 6 ล้านโดส แอสตร้าเซนเนก้า เดือนกันยายนตอนแรกจะเข้ามาอย่างน้อย 7 ล้านโดส แต่บริษัทผู้แจ้งว่า อาจเพิ่มจะนวนส่งมอบเป็น 8 ล้านโดส เดือนตุลาคม 10 ล้านคน เดือน พ.ย. และ ธ.ค. เดือนละ 10 ล้านโดส และวัคซีนไฟเซอร์เดือน ก.ย. 2 ล้านโดส เดือน ต.ค. 8 ล้านโดส เดือน พ.ย. และ ธ.ค. เดือนละ 10 ล้านโดส

นพ.โสภณ ระบุอีกว่า หลังจากนี้จะไม่มีการสั่งซื้อวัคซีนซิโนแวคเข้ามาเพิ่มเติมอีก เพื่อให้สอดคล้องกับสูตรฉีดวัคซีนเข็ม 1 แอสตร้าเซนเนก้า เข็ม 2 ไฟเซอร์ ที่จะเริ่มในเดือน ต.ค. ไปจนถึงสิ้นปีนี้

นพ.โสภณ ย้ำเหตุผลที่ไม่สั่งซื้อวัคซีนซิโนแวคเพิ่ม เพราะรอวัคซีนรุ่นใหม่ที่สามารถต้านเชื้อกลายพันธุ์ เป็นวัคซีนเชื้อตาย ปลอดภัยสูง แต่หากมีผลวิจัยว่า ฉีดในเด็กได้ ก็จะนำมาพิจารณาสั่งซื้อ

กรณีมีการเผยแพร่ข้อมูลฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 เสี่ยงเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนั้น ขณะนี้เป็นข้อควรระวัง เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลวิชาการทั้งไทย และต่างประเทศไทย แต่ก็ยังคงต้องเฝ้าติดตามต่อไป แต่ยอมรับว่า การฉีดวัคซีนอาจมีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันหากฉีดกระตุ้นมากเกินไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น