ด่วน น่านพ่อเฒ่า 68  กินเนื้อหมูดิบตาย 1 มีผู้ติดเชื้อในพื้นที่ 12 ราย โรงพยาบาลน่านแจ้งเตือน

 

เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2564 เวลา 14.00 น. ประกาศจากโรงพยาบาลน่าน ขอแจ้งประชาสัมพันธ์ การระบาดของโรคติดเชื้อหูดับ (Streptococcus Suis) โดยในขณะนี้มีผู้ป่วยติดเชื้อยืนยันแล้วทั้งหมด 12 ราย เสียชีวิต 1 ราย มีผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือดรุนแรงใส่ท่อช่วยหายใจเข้ารับการรักษาในห้องภาวะวิกฤติอายุรกรรม(ไอซียู) 2 ราย  โดยผู้ป่วยมีภูมิลำเนาอาศัยอยู่ที่อำเภอภูเพียง 5 ราย อำเภอเมือง 4 ราย อำเภอท่าวังผา นาน้อย แม่จริม อำเภอละ 1 ราย ผู้ป่วยทั้งหมดเป็นเพศชาย มีอายุอยู่ระหว่าง 50-86 ปี สำหรับผู้ป่วยที่เสียชีวิตคือผู้ป่วยอายุ 68 ปี บ้านอยู่ตำบลในเวียง อ.เมืองน่าน จ.น่าน มีผู้ป่วย บางรายที่ไม่มีประวัติรับประทานเนื้อหมูดิบ แต่อาจจะเกิดจากการปนเปื้อน ซึ่งมักจะเป็นผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานต่ำ

นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ รองผู้อำนวยการด้านบริการปฐมภูมิ และเป็นแพทย์ผู้ดูแลสังเกตุติดตามอาการผู้ป่วยในครั้งนี้ เปิดเผยว่า จากการสอบสวนพบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่มีประวัติรับประทานเนื้อหมู ปรุงดิบหรือกึ่งสุกกึ่งดิบ บางรายมีประวัติดื่มสุราเป็นประจำร่วมด้วย ในการสอบสวนเบื้องต้นพบว่า มีรถเร่นำหมูมาเร่ขายให้กับเขียงหมูในหมู่บ้านหลายแห่ง คาดว่าเนื้อหมูดังกล่าวอาจมาจากหมูที่ติดเชื้อโรคหูดับแล้วตาย

เชื้อโรคสเตรปโตคอคคัส ซูอิส เป็นเชื้อแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในต่อมทอลซิลของหมู โรคนี้เกิดได้ทั้งปีแต่มักจะมีการระบาดในช่วงฤดูฝน  ซึ่งเป็นช่วงที่หมูมีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เชื้อจะกระจายเข้าสู่กระแสเลือดของหมูทำให้หมูตาย ถ้ามีผู้นำเนื้อหมูหรือเลือดหมูมารับประทานแบบไม่ผ่านความร้อนจะทำให้ติดเชื้อได้ ในแต่ละปีจังหวัดน่านจะพบผู้ป่วยติดเชื้อสเตรปซูอิสเฉลี่ยจำนวน 20 รายต่อปี  ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะรุนแรง ถ้าติดเชื้อเข้าเยื่อบุประสาทจะทำให้ คอแข็ง หูไม่ได้ยิน  ถ้าติดเชื้อเข้ากระแสเลือดจะมีความดันโลหิตลดลง ช๊อคจนถึงเสียชีวิตได้ ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่มีอาการรุนแรงมักจะเป็นผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน โรคไตวาย โรคมะเร็ง ผู้ป่วยที่ได้รับการตัดม้าม หรือ ดื่มสุราเป็นประจำ จากการสอบสวนในหลายปีที่ผ่านมาพบว่า หมูที่เป็นสาเหตุของการระบาดมักเกิดจากหมูที่เลี้ยงเองและชำแหละเองในชุมชน เมื่อหมูป่วยจึงรีบชำแหละและนำออกเร่ขาย

โรงพยาบาลน่าน ขอแจ้งเตือนให้ประชาชนงดรับประทานอาหารเนื้อหมูที่ปรุงสุกๆดิบๆ เช่น ลาบ หลู้  เนื้อหมู ที่นำมาประกอบอาหารควรผ่านความร้อนให้ทั่วถึง เนื้อหมูที่นำมาปิ้งย่าง ควรย่างให้สุก และควรแยกตะเกียบระหว่างตะเกียบเนื้อสัตว์ดิบ กับตะเกียบที่ใช้รับประทาน เขียงที่ใช้ควรแยกระหว่างเขียงอาหารดิบเพื่อเตรียมประกอบอาหาร และอาหารสุก เพื่อระวังไม่ให้ปนเปื้อนเชื้อโรค ควรซื้อหมูที่ผ่านโรงเลี้ยง และโรงชำแหละที่มีมาตรฐาน ผู้ที่ชำแหละหมูจะต้องสวมชุดและอุปกรณ์ที่ถูกต้องตามมาตรฐานและล้างมือให้สะอาดเพื่อไม่ให้เชื้อเข้าสู่ร่างกายผ่านบาดแผล ในระหว่างการชำแหละได้

 

ประสิทธิ์ สองเมืองแก่น
โทร. 0848084888

ร่วมแสดงความคิดเห็น