ปภ.แนะรู้ทัน…ป้องกันภัยดินถล่ม…อันตรายช่วงฤดูฝน

ช่วงนี้ประเทศไทยทั่วทุกภาค จะมีฝนตกหนักถึงหนักมาก เนื่องจากมีร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลางตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม โดยดินถล่ม เป็นภัยที่มักเกิดขึ้นหลังจากเกิดน้ำป่าไหลหลากหรือภายหลังฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ลาดชัน และที่ราบเชิงเขามีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดดินถล่ม สร้างความเสียหายสูญเสียต่อชีวิต และทรัพย์สิน เพื่อความปลอดภัยกระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะการเตรียมความพร้อมรับมือ และเรียนรู้การปฏิบัติตนเมื่อเกิดดินถล่มอย่างปลอดภัย ดังนี้

สัญญาณเตือนก่อนดินถล่ม ได้แก่

  • มีฝนตกหนักติดต่อกันปริมาณฝนมากกว่า 100 มิลลิเมตรต่อวัน หรือนานกว่า 6 ชั่วโมง
  • ระดับน้ำในลำห้วยเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วผิดปกติ
  • น้ำในลำธาร หรือลำห้วยมีสีขุ่นข้น หรือเป็นสีเดียวกับดินภูเขา
  • มีเสียงดังผิดปกติจากภูเขา และลำห้วยสัตว์ป่ามีการแตกตื่นตกใจ
  • น้ำท่วมหมู่บ้าน และเพิ่มระดับอย่างรวดเร็ว
  • ดินอยู่ในสภาพอิ่มน้ำหรือจมน้ำมากกว่าปกติ

พื้นที่เสี่ยงดินถล่ม ได้แก่

  • บริเวณที่ลาดเชิงเขา ที่ลาดชัน ที่ราบลุ่ม ซึ่งอยู่ติดหรือใกล้ภูเขาสูง
  • บริเวณที่มีรอยดินไหล ดินเลื่อน รอยแยกของพื้นที่บนภูเขา
  • บริเวณที่เคยเกิดดินถล่ม น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมบ่อยครั้ง
  • บริเวณที่มีกองหิน เนินทรายปนโคลนและต้นไม้ในลำห้วย
  • พื้นที่ลำห้วยลำธาร ที่มีก้อนหินขนาดเล็กใหญ่ปนกันตลอดท้องน้ำ

เตรียมพร้อมรับมือดินถล่ม ให้ปฏิบัติ ดังนี้

  • สำรวจพื้นที่เสี่ยงภัยและสภาพเส้นทาง โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม
  • เฝ้าระวังสถานการณ์ภัย ติดตามพยากรณ์อากาศ ประกาศแจ้งเตือนภัย และปริมาณน้ำ
  • สังเกตสัญญาณเตือนความผิดของธรรมชาติ จะได้แจ้งเตือนและอพยพอย่างทันท่วงที
  • วางแผนและศึกษาเส้นทางอพยพที่ปลอดภัยและเข้าร่วมฝึกซ้อมแผนหนีภัยอยู่เสมอ โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย

รู้รอดปลอดภัย…เมื่อเกิดที่ดินถล่ม ให้ปฏิบัติ ดังนี้

  • อพยพไปตามเส้นทางที่ปลอดภัย พ้นแนวการไหลของดิน และห่างจากพื้นที่เกิดดินถล่มอย่างน้อย 2 – 5 กิโลเมตร
  • หลีกเลี่ยงเส้นทางกระแสน้ำเชี่ยว หากจำเป็นจะต้องใช้เส้นทางดังกล่าวให้ใช้เชือกผูกกับตัวและยึดกับต้นไม้หรือสิ่งปลูกสร้างที่แข็งแรง เพื่อป้องกันกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวพัดจมน้ำ
  • กรณีพลัดตกน้ำให้หาต้นไม้ขนาดใหญ่ยึดเกาะไว้และปีนขึ้นให้พ้นน้ำ ห้ามว่ายหนีอย่างเด็ดขาด
  • ไม่อยู่ใกล้ลำน้ำ เพราะจะได้รับอันตรายจาก ดิน หิน ต้นไม้ที่ไหลมาตามน้ำ
  • ห้ามกลับเข้าไปในบริเวณที่เกิดดินถล่ม เนื่องจากได้รับอันตรายจากดินถล่มพังลงมาซ้ำได้

ทั้งนี้ เมื่อเกิดฝนตกหนัก มักจะเกิดดินถล่มตามมา ให้ติดตามสภาพอากาศ ประกาศ คำเตือน และปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัว ให้สังเกตสีของน้ำในล้ำห้วย ลำธาร หากมีสีขุ่น หรือเปลี่ยนเป็นสีเดียวกับดินภูเขา มีเสียงดังผิดปกติ สัตว์ป่าแตกตื่น ให้เตรียมการอพยพ โดยอพยพไปตามเส้นทางปลอดภัย หลีกเลี่ยงเส้นทางทางไหลของน้ำ และไม่อยู่ใกล้ลำน้ำ จะทำให้การดำเนินชีวิตในช่วงฤดูฝนปลอดภัยจากดินถล่ม

ร่วมแสดงความคิดเห็น