(มีคลิป) ปศุสัตว์เขต 5 ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์ โรคหูดับที่ จ.น่าน

จากสถานการณ์โรคติดเชื้อหูดับ (Streptococcus Suis) ในพื้นที่จังหวัดน่าน ขณะนี้พบผู้ติดเชื้อรักษาตัวที่โรงพยาบาลแล้ว 17 ราย เสียชีวิต 1 ราย กรมปศุสัตว์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ได้เร่งหามาตรการควบคุมป้องกันเพื่อไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจายเป็นวงกว้าง

เมื่อช่วงวันที่ 9 – 10 กันยายน 2564 เวลา 10.00 น. ที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดน่าน ตำบลม่วงตึ๊ด อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน นายพนม มีศิริพันธุ์ ปศุสัตว์เขต 5 เป็นประธานการประชุมวางแผน และหารือร่วมกัน ในมาตรการป้องกันควบคุมโรคหูดับ (Streptococcus Suis) ในพื้นที่จังหวัดน่าน โดยมี นายอนุสรณ์ หอมขจร ปศุสัตว์จังหวัดน่าน , นายวรพล รุ่งสิทธิมงคล หัวหน้าด่านกักกันสัตว์น่าน ,นายสงวน มีนิล ปศุสัตว์อำเภอเวียงสา พร้อมปศุสัตว์ทุกอำเภอ และหน่วยงานในสังกัดกรมปศุสัตว์ในพื้นที่ เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้

นายพนม มีศิริพันธุ์ ปศุสัตว์เขต 5 กล่าวว่า ได้มาตรวจติดตามการปฏิบัติงานของหน่วยงานของกรมปศุสัตว์ในจังหวัดน่าน เนื่องจากมีสถานการณ์เกิดโรคหูดับในพื้นที่ จึงได้ติดตามการดำเนินงานและมาตรการต่างๆ ในการป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่ ซึ่งอยู่ในระหว่างการประชุมหารือร่วมกัน ประกอบกับมีเรื่องของสุกรป่วยตายและมีการนำไปทิ้งในแม่น้ำ ซึ่งลอยน้ำอยู่ในพื้นที่อำเภอเวียงสา จึงเรียกปศุสัตว์อำเภอทุกอำเภอในจังหวัดน่าน มาหารือร่วมกันในการหามาตรการต่างๆ เพื่อมิให้โรคนี้แพร่กระจายเป็นวงกว้าง อยู่ในวงจำกัดและสามารถควบคุมได้โดยเร็ว นอกจากนี้ จะหาสาเหตุการป่วยตายของสุกรว่ามาจากพื้นที่ใด มีสาเหตุมาจากโรคอะไร หากเป็นโรคระบาดจะมีมาตรการควบ คุมป้องกันอย่างเร่งด่วนต่อไป

ปศุสัตว์เขต 5 กล่าวเพิ่มเติมว่า วันนี้กรมปศุสัตว์ได้กำหนดมาตรการในการเลี้ยงสุกร เพื่อยกระดับมาตรการเพื่อไม่ให้เกิดโรค ถ้าเกษตรกรที่เลี้ยงสุกรไม่ว่าจะเป็นหลังบ้านหรือระดับฟาร์ม ขอให้มีการปรับปรุงระบบการเลี้ยงให้มีมาตรการในการป้องกันโรคที่ดี และแจ้งปศุสัตว์อำเภอในพื้นที่ เข้าตรวจสอบและขึ้นทะเบียนไว้ หากมีปัญหาอุปสรรค์ให้รีบแจ้ง เพื่อจะได้ช่วยเหลือแก้ไขป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ หรือปัญหาการแพร่กระจายของโรค และฝากถึงประชาชนและเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร หากพบสุกรป่วย หรือตาย ขอรีบให้แจ้งสำนักงานปศุสัตว์อำเภอได้ทุกอำเภอ หรือแจ้งผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ในพื้นที่ เพื่อแจ้งปศุสัตว์เข้าไปดำเนินการตามมาตรการควบคุมป้องกันโรคโดยเร็ว

ทั้งนี้ สำนักงานปศุสัตว์เขต 5 มีอำนาจหน้าที่ ศึกษา วิเคราะห์ และวิจัยเพื่อพัฒนางานด้านสุขภาพสัตว์และสุขอนามัยสัตว์ การควบคุม การป้องกัน การบำบัดโรคสัตว์ การชันสูตรโรคสัตว์ และระบาดวิทยาทางสัตวแพทย์ ศึกษา วิเคราะห์ และวิจัยเพื่อพัฒนางานด้านมาตรฐาน ตรวจสอบคุณภาพสินค้าปศุสัตว์ และส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับการปศุสัตว์ ร่วมถึงศึกษา วิเคราะห์ วิจัย และถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อพัฒนางานด้านการผลิตสัตว์ อาหารสัตว์ สุขภาพสัตว์ และสุขอนามัยสัตว์ จัดทำแผนยุทธศาสตร์ แผนการปฏิบัติงาน และการบูรณาการแผนด้านการปศุสัตว์ในระดับเขตและระดับจังหวัด และติดตาม ประเมินผลการปฏิบัติงาน ให้คำปรึกษา แนะนำ และกำกับการดำเนินงานของสำนักงานปศุสัตว์จังหวัด ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วย

โรคระบาดสัตว์ กฎหมายว่าด้วยการบำรุงพันธุ์สัตว์ กฎหมายว่าด้วยการควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ กฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลสัตว์ กฎหมายว่าด้วยโรคพิษสุนัขบ้า กฎหมายว่าด้วยการควบคุมการฆ่าสัตว์และจำหน่ายเนื้อสัตว์ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เป็นศูนย์การศึกษาเกี่ยวกับการตรวจวินิจฉัยโรคสัตว์ การรักษาพยาบาลสัตว์ และการให้บริการสุขภาพสัตว์ และเป็นศูนย์ให้บริการข้อมูลข่าวสารและสารสนเทศด้านการปศุสัตว์และเศรษฐกิจการปศุสัตว์ ปฏิบัติงานร่วมกับ หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

ประสิทธิ์ สองเมืองแก่น

ร่วมแสดงความคิดเห็น