9 อาการป่วย ที่เป็นแล้ว ไม่ควรขับขี่ยวดยานพาหนะ

 โรคอันตรายอะไรบ้างที่ป่วยแล้วไม่ควรขับรถคนเดียว เพราะมีโอกาสเสี่ยงวูบ ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้สูง

ก่อนหน้านี้เราคงได้ยินข่าวคนมีโรคประจำตัวบางอย่างไปขับรถแล้วเกิดวูบจนเกิดอุบัติเหตุอันเศร้าสลดตามมา ด้วยเหตุนี้ กระทรวงสาธารณสุข จึงออกมาย้ำเตือนกันอีกครั้ง โดยเฉพาะผู้ที่ต้องทำหน้าที่ขับรถ หรือมีอาชีพขับรถรับจ้าง หากมีโรคประจำตัว 9 โรคต่อไปนี้ ควรหลีกเลี่ยงการขับรถคนเดียวโดยเด็ดขาด เพื่อความปลอดภัยของตัวเองและผู้ร่วมทาง นั่นคือ

1.อาการเกี่ยวกับสายตา

อาการทางสายตาซึ่งการขับขี่รถยนต์นั้นต้องใช้สายตาอย่างมากในการรับรู้ ถ้าท่านใดมีอาการโรคเกี่ยวกับตา อาทิ ต้อหิน ต้อกระจก หรือจอประสาทตาเสื่อม ซึ่งโรคเหล่านี้จะสร้างปัญหาอย่างมากในการขับขี่รถยนต์เวลากลางคืน เพราะจะทำให้วิสัยทัศน์การมองเห็นไม่ชัดเจน อาการต้อหินจะทำให้การมองเห็นนั้นจะแคบลง การมองเห็นแสงไฟที่พล่ามัว และทำให้มองเห็นภาพบริเวณรอบ ๆ ได้ไม่ชัดเจน

2.โรคพาร์กินสัน

โรคนี้หลายคนคงมองว่าเป็นโรคแก่ แต่นั่นมันไม่ใช่อย่างที่คิดเพราะโรคพาร์กินสันคนวัยหนุ่มก็สามารถเป็นได้เช่นกัน โดยอาการดังกล่าวจะเป็นแบบนี้ มีอาการเกร็ง มือสั่น เท้าสั่น ทำอะไรช้าลง เมื่อต้องขับรถจะไม่สามารถขับขี่ได้ดี เป็นโรคที่เกิดจากอาการทางระบบประสาท ทำให้การเคลื่อนไหวช้า มักจะสั่นขณะอยู่เฉย ๆ หากขยับตัวอาการสั่นก็ทุเราลง นั่นก็เป็นความเสี่ยงอยู่บ้างเวลาขับขี่ ถึงจะไม่มากแต่ก็ควรระวัง

3.โรคลมชัก

มาถึงโรคลมชัก โรคนี้มีความอันตรายขณะขับขี่อย่างมาก เนื่องจากผู้ป่วยจะมีอาการชักเกร็ง และกระตุกโดยที่ไม่รู้ตัว สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย สาเหตุเกิดจากได้หลากหลายปัจจัย แต่หลัก ๆ จะมาจากไฟฟ้าในสมองมีความผิดปกติ หากมีการกระตุ้น อาจทำให้อาการกำเริบ และชักได้ ซึ่งล่าสุด นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคลมชัก เกิดจากความผิดปกติของการส่งสัญญาณไฟฟ้าในสมอง ซึ่งมีสาเหตุหลากหลาย พบได้ในทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่แรกเกิด จนถึงวัยผู้สูงอายุ ในประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคลมชักกว่า 5 แสนราย กระจายตัวกันอยู่ตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ ขณะผู้ป่วยมีอาการของโรคลมชัก อาจจะมีอาการแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับชนิดของโรคลมชักและจุดกำเนิดในสมอง อาทิ เกร็งกระตุกทั้งตัว เหม่อนิ่งไม่รู้สึกตัว พฤติกรรมเปลี่ยนแปลงชั่วขณะ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะสูญเสียความสามารถในการควบคุมตนเองขณะมีอาการ เป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ ทั้งต่อตนเอง ต่อทรัพย์สิน หรือบางครั้งอาจจะรุนแรงจนถึงขั้นทำให้เกิดการสูญเสียต่อชีวิตได้ ปัจจุบันเทคโนโลยีในการรักษาโรคลมชักพัฒนาก้าวไกลไปมาก สามารถตรวจหาสาเหตุเพื่อให้การรักษาตรงจุด มียากันชักหลากหลายชนิดที่ล้วนมีประสิทธิภาพในการควบคุมอาการ หรือในกรณีที่โรคมีการดื้อต่อยาการรักษาด้วยยากันชัก ก็สามารถให้การรักษาด้วยการตรวจประเมินหาจุดกำเนิดลมชักและผ่าตัดรักษาได้ ซึ่งจะช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้นอย่างมาก

4.อาการทางสมอง

อาการเกี่ยวกับสมองขั้นต้น อาทิ อาการหลง ๆ ลืม ๆ อาจจะเกิดได้กับหลายคน หลายอย่าง หลายสาเหตุ เนื่องจากนอนไม่พอ ทำให้สมองตื้อคิดไม่ออก ลืมว่าจะต้องไปไหน ไปยังไง ซึ่งอาจจะมีผลต่อการตัดสินใจในการขับขี่รถยนต์ ที่ต้องมีการตัดสินใจที่เด็ดขาดอยู่สมควร

5.อาการข้อเสื่อม ข้ออักเสบต่าง ๆ

โรคปวดข้อ ปวดกระดูก อาการข้อเสื่อม ข้ออักเสบในส่วนต่าง ๆ อาการนี้อาจจะไม่หนักเท่าไหร่ แต่ทรมานมาก ๆ เมื่อมาขับขี่รถยนต์บนถนน โดยเฉพาะขับขี่เป็นเวลานาน ๆ ไม่สามารถเอี้ยวตัว หรือบิดไปมาได้ ทำให้เพื่อมีอาการจะทำให้เราใช้สมรรถภาพทางร่างกายได้น้อยลงมาก และหากเกิดเหตุฉุกเฉินจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการบาดเจ็บรุนแรงมากขึ้นด้วย

6.โรคหลอดเลือดสมอง

โรคหลอดเลือดในสมอง ทำให้แขนขานั้นไม่มีแรงขับรถ หรือ เหยียบคันเร่ง เหยียบเบรก อาจมีการเกร็งและชักกระตุก หรือ ขากระตุก ส่งผลต่อการเหยียบเบรกหรือเหยียบคันเร่ง โดยไม่ตั้งใจ ทำให้เกิดเหตุสุดวิสัย ระบบสมองสั่งการได้ไม่เต็มที่ ทำให้แขน ขาตอบสนองได้ช้าลง เมื่อเกิดเหตุการกระชั้นชิดก็ยากที่จะตอบสนอง

7.โรคหัวใจ

โรคยอดฮิตของคนไทย โรคหัวใจ ขับรถอยู่ดี ๆ มีอาการเจ็บหน้าอกอย่างรุนแรง แน่นหน้าอกหายใจไม่ออก เมื่อต้องขับขี่รถยนต์เป็นเวลานาน ความเครียดเมื่อรถติด ทำให้อาการดังกล่าวกำเริบ แล้วนำไปสู่อุบัติเหตุร้ายแรงได้

8.โรคเบาหวาน

เมื่อน้ำตาลในเลือดจะเกิดอะไรขึ้น หลาย ๆ ท่านคงจะรู้แล้วว่า ต้องมีอาการวูบอย่างแน่นอน และหากกำลังขับรถยนต์อยู่ล่ะ เราจะวูบไม่ได้เลยนะ นั่นแหละคืออาการของโรคเบาหวาน หน้ามืด ใจสั่น สมาธิไม่ดีเหมือนคนปกติ ตาพร่ามัว ทำให้ความสามารถในการขับขี่ลดลงมาก

9.การกินยาที่มีฤทธิ์ทำให้เคลิบเคลิ้ม กล่อมประสาท ยานอนหลับ ยาแก้แพ้

การรับประทานยา ก็เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้เช่นกัน เนื่องจากฤทธิ์ของยานั้น มีหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะยาแก้แพ้ต่าง ๆ ควรเลี่ยงการขับขี่รถยนต์อย่างมาก เนื่องจากจะทำให้ง่วง มึอาการมึนงง การตอบสนองการขับขี่ทำได้ไม่ดีเหมือนเดิม ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้อย่างง่ายดาย เพราะฉะนั้นไม่ควรรับประทานยาที่มีฤทธิ์แรงก่อนขับรถทุกครั้ง

ร่วมแสดงความคิดเห็น