เยือนชุมชนยลวิถีการทำโคมลำพูน แหล่งเรียนรู้กลุ่มอาชีพทำโคมล้านนา ชุมชนจามเทวีเทศบาลเมืองลำพูน

นายประภัสร์ ภู่เจริญ นายกเทศมนตรีเมืองลำพูน กล่าวถึงที่มาของชุมชนคนทำโคม ว่า เกิดขึ้นมาจากความต้องการที่จะให้คนในขุมชนทั้งผู้สูงอายุ และเยาวชนมีรายได้ รวมทั้งฟื้นวิถีวัฒนธรรมของเมืองรวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวในการนำโคมเป็นพุทธบูชา ขอพรและบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในจังหวัดลำพูนและพื้นที่ใกล้เคียงเพื่อความเป็นศิริมงคล
เดิมชาวล้านนาจะใช้โคมในงานประเพณียี่เป็ง การจุดโคมจะทำในบ้านของเจ้านายชั้นสูง หรือผู้มีอันจะกิน เท่านั้น โดยมีความเชื่อว่า การจุดโคมไฟ จะนำความเจริญและความสุขมาให้กับคนในครอบครัว หากเกิดใน ชาติหน้าจะเป็นบุคคลที่มีความฉลาดเฉลียว เปรียบดั่งแสงของเปลวไฟที่ลุกโชติช่วง โคมล้านนามีหลากหลาย รูปแบบ ตามแต่ละภูมิปัญญาของท้องถิ่น

เทศบาลเมืองลำพูนได้มุ่งมั่นดำเนินการสร้างอาชีพ ฝึกทักษะการทำโคมให้กับชุมชน เพื่อให้ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ที่ดูแลผู้ป่วยติดเตียง รวมถึงเด็กและเยาวชน ให้สามารถประดิษฐ์โคม เพื่อนำมาจำหน่าย จนสามารถสร้างงาน สร้างอาชีพและกระจายรายได้สู่ชุมชนและครอบครัว

นางประภาศรี วนิชกุล ประธานกรรมการชุมชนจามเทวี กล่าวว่า เทศบาลเมืองลำพูนมีการฝึกสอน ส่งเสริมทักษะการทำโคมล้านนาให้กับชุมชนจามเทวี ซึ่งเป็นหนึ่งในชุมชนที่มีการทำโคมกันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ดูแล ผู้ป่วยติดเตียง รวมถึงเด็กและเยาวชนให้สามารถประดิษฐ์โคม เพื่อ มาจำหน่ายในช่วงเทศกาล สร้างรายได้เป็นการสืบสานภูมิปัญญาในการประดิษฐ์โคมล้านนาที่มีหลากหลายรูปแบบ เช่น โคมธรรมจักร โคมดาว โคมไห โคมเพชร ฯลฯ


นอกจากประโยชน์ด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวแล้ว สิ่งที่เทศบาลเมืองลำพูนได้มุ่งมั่นดำเนินการ คือ การสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้ชุมชน ซึ่งเทศบาลเมืองลำพูนมีการประกันรายได้ โดยการรับซื้อโคมส่วนหนึ่งจากชุมชนเพื่อนำมาประดับตกแต่งเมือง ส่งเสริมการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลโคมแสนดวงของเมืองลำพูน เพื่อนำเอาคุณค่าทางวัฒนธรรมมาสร้างเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับชุมชน และส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีใหม่ ที่เป็นไปตามความเหมาะสมของเศรษฐกิจ เกิดความยั่งยืน และสร้างเศรษฐกิจฐานรากที่พึ่งพาตนเองให้ดีที่สุด


กลุ่มอาชีพทำโคมล้านนาชุมชนจามเทวี เริ่มจัดตั้งกลุ่มเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2561 โดนเริ่มต้นจากการเข้าร่วมโครงการอบรมอาชีพเสริมและพัฒนารายได้แก่ชุมชนเทศบาลเมืองลำพูน ประจำปี 2561 เพื่อเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้ด้านอาชีพให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการได้มีช่องทางการประกอบอาชีพสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน

กลุ่มอาชีพทำโคมล้านนาชุมชนจามเทวี แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มอาชีพทำโคมล้านนาชุมชนจามเทวี(กลุ่มใหญ่) มี นางประภาศรี วนิชกุล เป็นประธาน มีสมาชิก 55 คน และกลุ่มอาชีพทำตุงโคมทล้านนาจามเทวี (กลุ่มครัวเรือน) มีนางอุทุมพร นารัตน์ไวฑูลย์ เป็นประธาน มีสมาชิก 7 ครัวเรือน

โคมหรือโคมแขวน เป็นงานหัตถกรรมพื้นบ้านของชาวล้านนา ที่ได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น เดิมชาวล้านนาจะใช้โคมในงานประเพณียี่เป็ง การจุดโคมจะทำในบ้านของเจ้านายชั้นสูง โดยมีความเชื่อว่า การจุดโคมไฟ จะนำความเจริญและความสุขมาให้กับคนในครอบครัว หากได้เกิดในชาติหน้าจะเป็นบุคคลที่มีความฉลาดเฉลีย เปรียบดั่งแสงของเปลวไฟที่ลุกโชติช่วง

ในปัจจุบันโคมถูกนำไปใช้อย่างหลากหลาย เช่น ตกแต่งโรงแรม รีสอร์ท วัด หรือสถานที่ต่างๆเพื่อความสวยงาม เทศกาลโคมจึงไม่ได้มีแค่ความสวยงามของการท่องเที่ยว แต่ยังแฝงถึงคุณค่าทางวัฒนธรรมที่ยังคงมีการสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น ทั้งเรื่องความเชื่อ และขนบธรรมเนียมจารีตประเพณีที่ดีงาม


“เทศกาลโคมแสนดวงที่เมืองลำพูน”จัดขึ้นประมาณเดือนตุลาคม – พฤศจิกายนของทุกปี ในปีนี้จะเริ่ม วันที่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป ถึงเทศกาลลอยกระทง โดยจะมีการประดับตกแต่งโคมไฟหลากสีสัน มีการจุดโคมแขวนโคม เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาต่อองค์พระธาตุเจ้าหริภุญชัย และสักการะพระนางเจ้าจามเทวี ปฐมกษัตริย์แห่งเมืองลำพูน เทศกาลนี้จึงดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมาเที่ยวชมความงดงามเป็นประจำทุกปี


นายวิสูตร บัวชุม ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานลำปาง กล่าวว่า จากความเข้มแข็งของชุมชนและความพร้อมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่นำเอาคุณค่าทางวัฒนธรรม และภูมิปัญญา มาสร้างมูลค่าเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับชุมชน

ให้เกิดการพึ่งพาตัวเองอย่างยั่งยืน เป็นที่ทราบกันว่าเทศบาลเมืองลำพูนได้มุ่งมั่นดำเนินการสร้างอาชีพ ฝึกทักษะการทำโคมให้กับชุมชน เพื่อให้ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้ที่ดูแลผู้ป่วยติดเตียง รวมถึงเด็กและเยาวชน ให้สามารถประดิษฐ์โคม เพื่อนำมาจำหน่าย จนสามารถสร้างงาน สร้างอาชีพและกระจายรายได้สู่ชุมชนและครอบครัว

ร่วมแสดงความคิดเห็น