องคมนตรี ประชุมคณะกรรมการบริหาร มูลนิธิโครงการหลวง ครั้งที่ 2/2564

เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2564 พล.อ.กัมปนาท รุดดิษฐ์ องคมนตรี ประธานคณะกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง โดย นายจรัลธาดา กรรณสูต องคมนตรี ประธานกรรมการมูลนิธิโครงการหลวง และคณะกรรมการมูลนิธิฯ ประกอบด้วย พล.ร.อ.พงษ์เทพ หนูเทพ องคมนตรี พล.อ.ท.ภักดี แสง-ชูโต พล.อ.อ. อำนาจ จีระมณีมัย พล.ร.อ.ประวิตร รุจิเทศ พร้อมผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ร่วมการประชุม

ด้วยคณะกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2561 ประกอบด้วย ผู้บริหารของหน่วยราชการและผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 36 ท่าน จากหน่วยงานในสังกัดของกองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก ตำรวจ กระทรวงทรัพยากรธรรม ชาติ และสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงาน กปร. กรมบัญชีกลาง และหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงมหาดไทย เพื่อร่วมบริหารงานของมูลนิธิโครงการหลวง ให้เป็นไปตามแนวทางพระราชทาน และนโยบายของคณะกรรมการมูลนิธิโครงการหลวง องคมนตรี ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิโครงการหลวง จึงได้ใช้โอกาสนี้ในการกล่าวขอบคุณในความร่วมมือ และการสนับสนุนของผู้บริหารและบุคลากรของหน่วยงาน พร้อมมอบโล่ ของที่ระลึกจากมูลนิธิโครงการหลวง แก่ผู้ที่ครบวาระเกษียณอายุราชการ และได้รับการพิจารณาเลื่อนตำแหน่งงาน รวมจำนวน 7 ท่าน

จากการดำเนินงานตามพระบรมราโชบายของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในปีงบประมาณ 2564 ได้เกิดผลการพัฒนาที่สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ราษฎรในพื้นที่สถานีวิจัย สถานีเกษตรหลวง และศูนย์พัฒนาโครงการหลวง ทั้ง 39 แห่ง ทางภาคเหนือ ในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยในมิติเศรษฐกิจ เน้นการสร้างรายได้จากการปลูกพืชแบบพอเพียง โดยโครงการหลวงวิจัยพันธุ์พืชใหม่ ที่เหมาะสมกับพื้นที่อย่างต่อเนื่อง พัฒนาแปลงเรียนรู้เพื่อเป็นตัวอย่างแก่เกษตรกร สร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิตพืชที่ใช้พื้นที่น้อยแต่ได้มูลค่ามาก บริหารจัดการตลอดห้วงโซ่การผลิตตั้งแต่ระดับฟาร์มจนถึงมือผู้บริโภค

ในปี 2564 ได้ยกระดับงานหัตถกรรมชนเผ่า เพื่อเสริมสร้างคุณค่าและสร้างรายได้เสริมแก่ครัวเรือน จัดเก็บลวดลายผ้าดั้งเดิมชนเผ่าคะฉิ่น ชนเผ่าไทลื้อที่ใกล้สูญหาย ส่งเสริมการถ่ายทอดงานหัตถกรรมจากรุ่นผู้สูงอายุสู่เยาวชน ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาวิจัย และพัฒนาเครื่องมือทอผ้าแบบกึ่งอัตโนมัติของชนเผ่าปกาเกอะญอ นำไปทดสอบการใช้งานที่ชุมชนพระบาทห้วยต้ม อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน และมีแผนพัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้การพัฒนางานหัตถกรรมบนพื้นที่สูงในปี 2565 รวมทั้งเริ่มการต่อยอดผลิตภัณฑ์กัญชงผสมเส้นใยไหม เพื่อสร้างคุณค่าและสร้างรายได้ ในมิติสังคม ได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงให้ชุมชนโครงการหลวง ได้ยึดเป็นแนวทางดำเนินชีวิต จัดกิจกรรมสร้างภูมิคุ้มกันและต่อต้านยาเสพติด ส่งเสริมสุขอนามัยครัวเรือน มิติสิ่งแวดล้อม โครงการหลวงมุ่งส่งเสริมการเกื้อกูลกันระหว่างคนกับป่า จากพระราชดํารัสของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่ว่า “…การปลูกป่าถ้าจะให้ราษฎรมีประโยชน์ ให้เขาอยู่ได้ ให้ใช้วิธีปลูกไม้ 3 อย่าง แต่มีประโยชน์ 4 อย่าง คือ ไม้ใช้สอย ไม้กินได้ ไม้เศรษฐกิจ ประโยชน์อย่างที่ 4 คือ ได้ระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ..”

โดยตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมาโครงการหลวงได้ดำเนินโครงการสวมหมวกให้ดอย เน้นการปลูกพืชแบบวนเกษตรผสมผสาน เกิดพื้นที่สีเขียวควบคู่กับการสร้างรายได้จากไม้ป่า จากพื้นที่นำร่อง 7 แห่ง ขยายสู่พื้นที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง 37 แห่ง ในปี 2564 สิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนการสร้างป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง สู่รูปธรรม คือ การสร้างความเข้าใจกับเกษตรกรในรูปแบบการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างเหมาะสมกับพื้นที่ และถูกต้องตามหลักวิชาการ และขณะนี้มูลนิธิโครงการหลวงได้เตรียมการรวมศูนย์ปฏิบัติงานไปในพื้นที่ใหม่ คือ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรโครงการหลวง “ชนกาธิเบศรดำริ” เพื่อให้การปฏิบัติงานด้านการวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูงมีความคล่องตัว เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยงบประมาณสนับสนุนจาก 22 หน่วยงาน

โดยมีหน่วยงานหลัก ได้แก่ กสทช., การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปาส่วนภูมิภาค กรมโยธาธิการและผังเมือง องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ และกองบัญชาการกองกองทัพไทย โดยที่ศูนย์วิจัยฯ แห่งนี้ ตั้งอยู่ในชุมชนใหญ่ในเขตตำบลแม่เหียะ อำเภอเมืองเชียงใหม่ ซึ่งมีปัญหาแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคในชุมชนไม่เพียงพอ มูลนิธิโครงการหลวงจึงร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำห้วยแม่เหียะน้อย โดยการขออนุญาตให้องค์การของรัฐเข้าใช้ประโยชน์พื้นที่อย่างถูกต้อง โดยงบประมาณการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำได้รับการสนับสนุนจากสำนักงาน กปร. และงบประมาณประจำปี 2565 ผูกพันปี 2566 ระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปี เมื่อการดำเนินการเสร็จสิ้น อ่างเก็บน้ำห้วยแม่เหียะน้อย จะเป็นแหล่งน้ำที่เกิดประโยชน์แก่ประชาชนโดยรวมในชุมชนพื้นที่แห่งนี้ต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น