หมอสวนดอกแนะนำ: โรคหลอดเลือดสมองต้องรู้ !

 

โรคหลอดเลือดสมองเป็นภาวะที่สมองส่วนใดส่วนหนึ่งสูญเสียการทำงานอย่างเฉียบพลัน จากความผิดปกติของหลอดเลือดที่มาเลี้ยงสมอง โดยแบ่งตามสาเหตุของโรคออกเป็น 2 ประเภทด้วยกัน คือ

1.โรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน ซึ่งจะพบได้ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ของผู้ป่วย

2.โรคหลอดเลือดสมองแตก พบได้ประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์
ซึ่งความรุนแรงของโรคจะขึ้นอยู่กับอาการ และบริเวณหลอดเลือดที่มีปัญหา

อุบัติการณ์โรคหลอดเลือดสมอง มีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพบว่าในกลุ่มประชากรของโลก 1 ใน 4 คน จะมีปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง สำหรับประชากรไทยพบว่าในปัจจุบันโรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ในแต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้เป็นจำนวนประมาณ 60,000 คน ทำให้เกิดภาวะทุพพลภาพทั้งเพศชายและเพศหญิง ในแต่ละปีจะมีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 300,000 คน หรือทุก 2 นาที จะมีผู้ป่วยรายใหม่เกิดขึ้นประมาณ 1 ราย ดังนั้นโรคหลอดเลือดสมองจึงเป็นปัญหาสาธารณสุขที่น่าเป็นห่วงมาก

สาเหตุของโรคหลอดเลือด แบ่งได้เป็น 2 ปัจจัยคือ
1.ปัจจัยที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ได้แก่
-อายุ ผู้ที่มีอายุมากจะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าผู้มีอายุน้อย
-เพศ เพศชายมีแนวโน้มในการที่จะเป็นโรคหลอดเลือดสมองได้มากกว่าเพศหญิง
-เชื้อชาติ โดยในแต่ละเชื้อชาติที่ต่างกัน จะมีสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมองที่แตกต่างกันออกไปได้
2.ปัจจัยที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้
โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ การสูบบุหรี่หรืออยู่ใกล้ผู้สูบบุหรี่ โรคไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน โดยเฉพาะอ้วนลงพุง การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เหล่านี้เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองได้ หากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดูแลตนเอง ไม่ให้เกิดโรคตามที่กล่าวมา ก็จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดภาวะโรคหลอดเลือดสมองได้

หากมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น อายุมากขึ้น เมื่อตรวจพบมีความดันโลหิตสูงเล็กน้อย มีน้ำตาลในเลือดเริ่มไม่ปกติจากการตรวจสุขภาพ อาจจะต้องมีการตรวจสุขภาพประจำปีเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม หากมีปัจจัยต่างๆ แล้วสามารถควบคุมได้ดีตามเกณฑ์เป้าหมาย โอกาสที่จะเป็นโรคหลอดเลือดสมองก็จะน้อยลง

สำหรับอาการของโรคหลอดเลือดสมอง ที่พบโดยปกติคือ
-พูดลำบาก สังเกตว่าจะมีอาการพูดไม่ปกติ พูดไม่ชัด พูดไม่รู้เรื่อง สื่อสารไม่ได้ ไม่เข้าใจภาษา ทั้งหมดเหล่านี้ หากมีอาการขึ้นมาทันที นั่นคือสัญญาณบ่งบอกถึงโรคหลอดเลือดสมอง

-ปากตก อาการปากเบี้ยว มุมปากไม่เท่ากัน เกิดจากการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อใบหน้า ให้สังเกตว่ายิ้มแล้ว หน้าเท่ากันหรือไม่ มีลักษณะเบี้ยวไปด้านใดด้านหนึ่งหรือเปล่า

-ยกไม่ขึ้น อ่อนแรงที่แขนหรือขา ยกไม่ขึ้น มักเป็นอาการพี่พบได้บ่อย รวมไปถึงอาการอ่อนแรงครึ่งซีก

ทั้งนี้ หากมีอาการใดอาการหนึ่งทั้งหมดนี้ทันทีทันใด ให้สงสัยว่าจะเป็นโรคหลอดเลือดสมอง แนะนำให้พบแพทย์โดยเร็วที่สุด หรือโทรศัพท์ 1669 ทันที โดยแพทย์จะทำการประเมินตรวจร่างกาย ดูสัญญาณชีพ ตรวจผลเลือด และตรวจยืนยันการวินิจฉัยด้วยเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง เพื่อวินิจฉัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบหรือแตก

หากเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบ แพทย์จะทำการรักษาโดยการทำให้หลอดเลือดที่ตีบตันเปิด ทำให้เลือดสามารถกลับไปช่วยเลี้ยงสมองได้ดีขึ้น

การรักษาจะทำการให้ยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำ โดยยาจะไปละลายลิ่มเลือดที่อุดอยู่ในหลอดเลือด โดยมีข้อบ่งชี้คือผู้ป่วยต้องมาโรงพยาบาลภายใน 4.5 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ

กรณีที่ให้ยาละลายลิ่มเลือดแล้วอาการของผู้ป่วยยังไม่ดีขึ้น แพทย์จะพิจารณารักษาด้วยการใส่สายสวนหลอดเลือดคล้ายกับการสวนหัวใจ โดยใส่ไปที่หลอดเลือดสมองเพื่อดึงลิ่มเลือดออกมา กรณีนี้จะเลือกทำการรักษาเป็นรายๆ ไป ซึ่งจะทำการรักษาภายใน 6-24 ชั่วโมงหลังเกิดอาการ ทั้งนี้ขึ้นกับรอยโรคในสมองของผู้ป่วยแต่ละรายจากการตรวจเอกซเรย์สมองเพิ่มเติม

กรณีผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองแตก ต้องดูอาการว่าผู้ป่วยจำเป็นต้องผ่าตัดหรือไม่ หากเลือดออกในปริมาณค่อนข้างมาก หรือในบริเวณที่เลือดออกแล้วเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น สมองบวม ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะต้องปรึกษาประสาทศัลยแพทย์อย่างเร่งด่วน

การพยากรณ์โรค หากเกิดโรคหลอดเลือดสมอง จะรักษาหายมากน้อยแค่ไหน?
จากสถิติผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์จะเป็นกลุ่มที่สามารถกลับมาเป็นปกติได้ อีกประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ จะเป็นกลุ่มที่หลงเหลืออาการเล็กน้อย อีกประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ จะหลงเหลือความพิการปานกลางถึงรุนแรง เช่น มีภาวะเกร็ง อ่อนแรงที่ส่งผลต่อการเดินหรือใช้ชีวิตประจำวัน ส่วนอีก 30 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือ จะเป็นกลุ่มที่มีผลลัพธ์ของการรักษาค่อนข้างแย่หรือเสียชีวิต

สำหรับข้อแนะนำในการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดหลอดเลือดในสมอง ได้แก่

-ควรตรวจสุขภาพประจำปี
-ลดภาวะความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไขมัน อ้วนลงพุง เลิกสูบบุหรี่ งดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ทั้งหมดนี้จะต้องปรับอาหารที่รับประทานให้เหมาะสม เน้นรับประทานผัก เนื้อสัตว์ที่เป็นไขมันดีจำพวกปลา รับประทานธัญพืช นมไขมันต่ำ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ ผู้สูงอายุให้เน้นออกกำลังกายในระดับปานกลาง (ในระดับที่สามารถพูดคุยกับคนรอบข้างได้) อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3-5 วัน ครั้งละ 30-40 นาที หากมีโรคร่วมอาจจะต้องได้รับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้ดูแลอย่างใกล้ชิดมากขึ้น

ขอบคุณข้อมูลจาก..
อ.นพ.กิตติ เทียนขาว อาจารย์ประจำหน่วยประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ร่วมแสดงความคิดเห็น