(มีคลิป) มทร.ล้านนา น่าน ร่วมกับ ไฟฟ้าหงสา สื่อมวลชนจังหวัดน่าน และภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมการสืบสานอาหารพื้นถิ่นชุมชนห้วยหาด สู่เส้นทางท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์

เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2564 เวลา 10.00 น. ณ ชุมชนบ้านห้วยหาด ตำบลอวน อำเภอปัว จังหวัดน่าน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน นำโดยรองศาสตราจารย์ ดร.เกชา คูหา รองคณบดี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน พร้อมคณะฯ บริษัทไฟฟ้าหงสา จำกัด นำโดยนายสรรเพชญ์ ปุละ หัวหน้าสำนักงานน่าน พร้อมด้วยฝ่ายสื่อสารองค์กรสำนักงานน่าน คณะสื่อมวลชนจังหวัดน่าน  เครือเจริญโภคภัณฑ์ นำโดยนางสาววารุณี วิละขันคำ ผู้จัดการสำนักงานด้านความยั่งยืนและพัฒนาชุมชน เครือเจริญโภคภัณฑ์ จังหวัดน่าน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเมี่ยง ตำบลน้ำกี๋ยน อำเภอภูเพียง นำโดยนายจิตติกร ลำทะสอนและภาคีเครือข่าย ให้การต้อนรับคณะโดยนางนัยนา ฑีฆาวงค์ ผู้ใหญ่บ้านห้วยหาด ในครั้งนี้ ได้จัดกิจกรรมการสืบสานอาหารพื้นถิ่นชุมชนห้วยหาดสู่เส้นทางท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิยะนุช รสเครือ สาขาอุตสาหกรรมเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา น่าน เป็นวิทยากรอบรมเชิงปฏิบัติการ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อยกระดับทักษะและฝึกฝีมือแรงงานของกลุ่มเกษตรกร ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์พื้นที่ชุมชนป่าต้นน้ำ ในบริบทการพัฒนาเมนูอาหารพื้นบ้านด้วยทรัพยากรท้องถิ่น โดยในวันนี้มีการสาธิตการทำอาหารพื้นถิ่นชุมชน ได้แก่ เห็ดทอดมะแขว่น กล้วยทอดหลากรส น้ำพั้นซ์ปรุงรส ไก่กระบอก ปูผาอบไม้ไผ่ หลามปลาผักกูด ซึ่งเป็นเมนูอาหารพื้นบ้านด้วยทรัพยากรท้องถิ่น ที่มีไว้บริการนักเที่ยว


โดยที่ชุมชนบ้านห้วยหาด ถือเป็นชุมชนที่ได้รับการส่งเสริมให้มีการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ในบริบทปลาสวยงามธรรมชาติในชุมชน สามารถดึงดูดให้นักท่องเที่ยวได้มาเที่ยวชมความงามของธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ทั้ง ดิน ป่า น้ำ โดยขึ้นชื่อในเรื่องของตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ด้านแหล่งอาหารจากชุมชน จากสัตว์น้ำที่พบในพื้นที่ ได้แก่ หอยก้นแหลม ปูผา ปลากั้ง ปลาฝา (ตะพาบน้ำม่านลาย) ซึ่งการดำเนินการที่ผ่านมาของชุมชนบ้านห้วยหาด เกิดจากกลุ่มผู้นำชุมชนและชาวบ้าน มีความเห็นร่วมกันผ่านการเรียนรู้ จนกระทั่งเกิดผลสำเร็จได้ มีความเชื่อมั่นและได้ขยายผลด้วยความรอบคอบ มีการประยุกต์ใช้ความรู้และเทคโนโลยีที่เหมาะสม  สามารถยกระดับชุมชนให้มีความแข้มแข็งและมีการพัฒนาคุณภาพชีวิตบนฐานทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ในชุมชนได้ จากการสนับสนุนจากองค์กรภายนอกและภาคีเครือข่าย

ร่วมแสดงความคิดเห็น