คุณกำลังเป็น โรคกลัวการไว้ใจผู้อื่น (Pistanthrophobia) อยู่รึเปล่า?

โรคกลัวการไว้ใจผู้อื่น คืออะไร

โรคกลัวการไว้ใจผู้อื่น (Pistanthrophobia) เป็นปัญหาทางสุขภาพจิตที่มักจะพบได้บ่อยๆ ในลักษณะของคนที่มีความสัมพันธ์กันอย่างเหนียวแน่น ไม่ว่าจะเป็นคนรัก เพื่อนสนิท หรือคนใกล้ชิด แต่โดยมากแล้วอาการเช่นนี้มักพบได้ในผู้ที่มีความสัมพันธ์เชิงคู่รัก

กล่าวได้ว่า โรคกลัวการไว้ใจผู้อื่นจึงเป็นความหวาดกลัว ความไม่ไว้ใจ ความไม่เชื่อใจ หรือความหวั่นเกรงว่าจะได้รับความเจ็บปวดทางจิตใจจากคนใกล้ชิดหรือคนที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดปัญหานี้จะส่งผลต่อสภาพจิตใจของผู้ถูกกระทำ และเมื่อสุขภาพจิตใจย่ำแย่ก็จะมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ขาดสมาธิในการทำงานหรือกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งยังส่งผลต่อการลดความเชื่อมั่นในตนเองลง และรู้สึกว่าเป็นเรื่องยากที่จะก้าวผ่านสถานการณ์เช่นนี้ไปได้

สาเหตุของ โรคกลัวการไว้ใจผู้อื่น

โรคกลัวการไว้ใจผู้อื่นมักเกิดจากประสบการณ์อันเลวร้ายในอดีตที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อใจหรือความไว้ใจ แล้วพบว่าตัวเองถูกหักหลัง หรือรู้สึกว่าตัวเองได้รับการทรยศหักหลัง และเมื่อมีเหตุการณ์ต่อมาที่มีลักษณะคล้ายกับประสบการณ์ที่ไม่ดีในอดีต ก็จะทำให้เกิดความกลัวขึ้นมาในใจ

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ผู้ป่วยโรคกลัวการไว้ใจผู้อื่นทุกคนที่มีผลผวงมาจากประสบการณ์แย่ ๆ ที่ผ่านมา เนื่องจากมีหลายคนที่เป็นโรคนี้โดยที่ไม่เคยประสบกับสถานการณ์แย่ ๆ ที่กระทบต่อความไว้ใจจนกลายเป็นความหวาดกลัว แต่เกิดจากการที่มีความนับถือในตัวเองต่ำ หรือไม่ค่อยเชื่อมั่นในตัวเอง จนบังเกิดความกลัวขึ้นมาว่าถ้าคนอื่นรู้ว่าตนเองไม่ได้ดีอย่างที่คิด หรืออย่างที่คาดหวัง จะทำให้ถูกปฏิเสธหรือทรยศ จนในที่สุดก็เก็บเอามาหวาดระแวงว่าทุกคนที่เข้ามาหาล้วนเชื่อใจไม่ได้หรือไม่มีใครจริงใจด้วย

อาการของ โรคกลัวการไว้ใจผู้อื่น เป็นยังไง

ตามปกติแล้วโรคที่มีผลต่อสภาพจิตใจอย่างความกลัว หรืออาการกลัวสิ่งต่าง ๆ นั้น มักจะมีลักษณะอาการที่คล้ายกัน ดังนี้

  • มีอาการตื่นตระหนก หวาดกลัว ซึ่งจะมีตั้งแต่หวาดกลัวมาก หวาดกลัวอย่างต่อเนื่อง และหวาดกลัวโดยไม่มีเหตุผล
  • ต้องการที่จะหลีกหนีจากสถานการณ์ บุคคล สัตว์ วัตถุ หรืออะไรก็ตามที่ก่อให้เกิดความหวาดกลัว
  • หายใจถี่
  • หัวใจเต้นแรงและเร็ว
  • ตัวสั่น

แต่ถ้าเป็นโรคกลัวการไว้ใจผู้อื่น จะมีอาการเฉพาะที่นอกเหนือไปจากอาการซึ่งได้กล่าวไปข้างต้น ดังนี้

  • พยายามหลีกเลี่ยงการพบปะ การสนทนา หรืออยู่ใกล้ชิดกับบุคคลที่เคยมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดมาก่อน หรือบุคคลที่ก่อให้เกิดบาดแผลทางจิตใจ
  • ต้องการการปกป้อง หรือพร้อมที่จะถอนตัวออกไปจากสถานการณ์ที่มีผลกระทบต่อจิตใจ
  • มีการปฏิเสธและไม่ยอมรับผู้ที่พยายามจะเข้าหา หรือพยายามสร้างการมีปฏิสัมพันธ์ด้วย หรือเข้าหาในทำนองโรแมนติก เช่น มาจีบ ไปออกเดท
  • มีความวิตกกังวลและต้องการหลีกหนีออกไปจากการสนทนาที่ทำให้รู้สึกไม่สบายใจ โดยเฉพาะถ้าเป็นคนที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมาก่อน เช่น เคยเป็นแฟนกัน เคยไปเดทด้วยกัน หรือเคยเป็นคู่รักที่สร้างความคาดหวังในอนาคตไว้ด้วยกันแล้วไม่ประสบความสำเร็จ

อาการเหล่านี้ก่อให้เกิดความรู้สึกที่ไม่ปลอดภัยต่อผู้ที่มีอาการของโรคกลัวการไว้ใจผู้อื่น ผู้ป่วยจึงมีความต้องการที่จะนำเอาตัวเองออกมาจากสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกไม่สบายใจ หรือนำตัวเองออกมาจากสถานการณ์ที่มีความเปราะบางที่อาจนำไปสู่ปัญหาความสัมพันธ์ในเชิงลึก

Young alone girl feeling sad

ทำอย่างไรเมื่อสูญเสียความไว้ใจ

เมื่อสูญเสียความไว้ใจไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นความไว้ใจในตัวผู้อื่น หรือความเชื่อมั่นและนับถือในตนเองก็ตาม การสร้างความเชื่อใจขึ้นมาใหม่ เป็นสิ่งที่ควรจะต้องทำเพื่อให้สามารถก้าวผ่านความรู้สึกแย่ ๆ ที่ผ่านมาได้ โดยอาจลองเริ่มต้นด้วยวิธีดังต่อไปนี้

ให้อภัยตัวเอง

หลายคนเมื่อถูกปฏิเสธ ถูกทรยศหักหลัง หรือถูกทำลายความเชื่อใจจนหมดสิ้น ก็มักจะโทษตัวเองว่า “ถ้าฉันไม่ทำอย่างนั้น” “ถ้าฉันไม่ทำแบบนี้ เรื่องทุกอย่างก็คงจะไม่เป็นแบบนี้” เราจะจมปลักอยู่กับความผิดพลาดนั้นแล้วเอาแต่โทษว่าเรื่องทั้งหมดเกิดขึ้นเพราะตัวเราเอง

ในความเป็นจริงของชีวิตมนุษย์ที่มักจะมีความเอื้ออารี มีความเมตตาและกรุณาต่อผู้อื่น ตามหลักคำสอนที่ได้ยินอยู่เสมอว่า เมตตาธรรมค้ำจุนโลก และในเมื่อเราสามารถมีเมตตาต่อผู้อื่นที่กำลังลำบาก ไม่ว่าจะเป็นคนแก่ คนเจ็บป่วย สัตว์ที่ได้รับบาดเจ็บ หรือใครก็ตามที่กำลังตกทุกข์ได้ยาก แล้วทำไมเราถึงจะต้องใจร้ายกับตัวเองด้วยการไม่ให้อภัยตนเอง หากเรามีความกรุณาต่อคนทุกคนได้ แล้วเราจะกรุณาต่อตัวเราเอง ด้วยการอภัยให้ตัวเองบ้างไม่ได้เชียวหรือ

หลักสำคัญของการให้อภัยตนเองคือต้องเรียนรู้ที่จะเห็นอกเห็นใจตัวเอง และเรียนรู้ว่ามนุษย์ทุกคนมีข้อบกพร่องและช่องโหว่ในการทำผิดพลาดได้ และการที่ใครสักคนเข้ามาหักหลังหรือทำลายความเชื่อใจที่เรามีให้ จงตระหนักว่าการที่เขาเข้ามาทำร้ายเรานั้น ไม่ใช่เพราะว่าเราสมควรถูกทำร้าย ไม่ใช่เพราะเราเป็นแบบนี้เขาเลยเลือกที่จะมาทำร้ายเรา แต่เขามาทำร้ายเราเพราะเขาเป็นคนแบบนั้น

ให้อภัยผู้อื่น

เมื่ออภัยให้ตัวเองได้แล้ว ก้าวต่อไปเราก็ควรเรียนรู้ที่จะให้อภัยผู้อื่น แต่นี่ถือเป็นด่านปราบเซียนที่ยากต่อการทำใจ เพราะเมื่อมีใครคนนั้นเข้ามาทำร้ายเรา ผลสุดท้ายคนที่เจ็บปวดกลับมีแต่เราคนเดียว จึงเป็นจุดที่ทำให้หลาย ๆ คน ไม่สามารถที่จะก้าวผ่านไปถึงการให้อภัยต่อผู้อื่นได้ แต่เมื่อเราเรียนรู้ที่จะให้อภัยตนเอง และยอมรับในความเป็นจริงของมนุษย์ว่า มนุษย์เรานี้มีข้อบกพร่องเต็มไปหมด เราเองก็เคยทำไม่ดี เราเองก็เคยทำพลาด จะแปลกอะไรที่คนอื่นจะทำผิดพลาดต่อเราบ้าง

ดังนั้น เวลาที่เจอคู่กรณีหรือใครก็ตามที่ทำให้เรารู้สึกแย่ อย่าเพิ่งโกรธ โมโห หรือระเบิดอารมณ์ต่อฝ่ายตรงข้าม แต่ให้อยู่กับตัวเอง ดึงตัวเองกลับมา และจดจำว่าคนเราก็มีมุมดี ๆ และมุมที่ไม่ดีเหมือนกันทั้งนั้น ฟังดูแม้จะเป็นวิธีที่โลกสวยหรือยากเกินกว่าที่ใครจะทำได้ในชีวิตจริง แต่ถ้าคุณต้องการที่จะก้าวผ่านความรู้สึกแย่ ๆ ที่เป็นปมในใจนี้ไปให้ได้ การให้อภัยตนเองยังไม่พอ แต่ต้องรู้จักที่จะอภัยผู้อื่นด้วย

เชื่อมั่นในตัวเอง

เราคงจะไม่สามารถเชื่อมั่นในตัวใครได้ ถ้าเราไม่เริ่มจากความเชื่อมั่นในตัวเองก่อน การที่เราเชื่อมั่นและมั่นใจในตัวใครสักคน นั่นก็เท่ากับว่าเราเชื่อมั่นในตัวเองเหมือนกัน เพราะเราต้องมีความมั่นใจในตัวเองมากพอสมควร มากจนทำให้เราเชื่อในตัวผู้อื่น เชื่อว่าเขาสามารถทำได้ เขาจะไม่ทำให้เราผิดหวัง แต่เวลาที่เราผิดหวังจากความไว้วางใจต่อผู้อื่น เรามักจะกลัว กลัวว่าเหตุการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้นอีกหากเราไว้ใจผู้อื่นง่ายเกินไป

โดยแทนที่เราจะจมอยู่กับความทุกข์ว่าเรารู้สึกไม่โอเค สิ่งนี้ทำให้เราเจ็บปวด เราควรจะมองให้ไกลกว่านั้นว่า แล้วทำไมเราถึงยังอยู่ได้จนถึงตอนนี้ ทำไมเราอยู่ได้โดยไม่มีใคร นั่นก็เพราะเรามีตัวเราเองนี่ไง ตัวเราเองนี่แหละคือความเข้มแข็งที่ฝ่าฟันทุกอุปสรรคไปกับเรา เลิกนอยด์ เลิกจมปลัก เชื่อในตัวเอง เชื่อในความเข้มแข็งของตัวเอง แล้วก้าวออกมาจากอะไรแย่ ๆ ได้แล้ว

เชื่อมั่นในผู้อื่น

ความแน่นอนก็คือความไม่แน่นอน และในโลกนี้ไม่มีอะไรแน่นอน โดยเฉพาะถ้าเรื่องนั้นเป็นเรื่องของคนอื่น ความหมายก็คือเราไม่สามารถรู้แน่ชัด หรือไม่มีอะไรที่จะมาการันตีได้แน่นอนว่า คนที่กำลังเข้ามาหาเรานั้น เข้ามาด้วยความจริงใจ หรือเข้ามาเพื่อทรยศเรา ระยะเวลาเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องพิสูจน์การกระทำของคนอื่น ว่าสมควรที่จะได้รับความไว้วางใจจากเราหรือไม่ ดังนั้นเวลาที่ใครเข้าหา ก็อย่าเอาแต่เสียเวลาตั้งคำถามว่า แล้วเขาจะดีพอไหม เขาจะเข้ามาหลอกเราอีกหรือเปล่า เราจะถูกหลอกเหมือนคนก่อนไหม

สิ่งที่คุณควรเริ่มต้นคือ จงหยุด และปล่อยวางความกลัวในใจออกไปก่อน แต่ค่อย ๆ เปิดใจ และใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ ให้โอกาสผู้อื่น และให้โอกาสตนเอง เมื่อเราเชื่อมั่นในตนเองได้ การเรียนรู้ที่จะเชื่อมั่นในตัวผู้อื่น ก็คงจะไม่ใช่เรื่องยากเกินกำลัง อย่ากลัวจนถึงขนาดปิดกั้นผู้อื่นที่เข้ามาหา เพราะการสร้างกำแพงที่หนาแน่นจนเกินไป อาจทำให้ผู้อื่นรู้สึกเจ็บปวดโดยที่เราไม่ตั้งใจและไม่รู้ตัวก็ได้

เมื่อไหร่ควรไปพบคุณหมอ

อาการของโรคหวาดกลัวผู้อื่นจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยจากจิตแพทย์หรือแพทย์ผู้ชี่ยวชาญทางด้านสุขภาพจิต โดยใช้หลักเกณฑ์ตามคู่มือการวินิจฉัยและสถิติสำหรับความผิดปกติทางจิต (Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders หรือ DSM) แพทย์จะมีการสอบถามถึงที่มาที่ไป เรื่องราวในอดีต ประวัติทางสุขภาพกายและสุขภาพจิต เหตุการณ์ที่สร้างความเจ็บปวดหรือสะเทือนใจจนกระทั่งเกิดเป็นความกลัว รวมถึงผลกระทบที่ได้รับจากความหวาดระแวงนั้นต่อการใช้ชีวิตประจำวัน

โรคนี้จะได้รับการวินิจฉัยเมื่อเกิดปัญหาต่อสภาพจิตใจและมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันนานติดต่อกันเกินกว่า 6 เดือนขึ้นไป สำหรับวิธีการรักษาแพทย์จะใช้วิธีการบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy หรือ CBT) เพื่อรักษาและเยียวยาจนกระทั่งอาการเริ่มดีขึ้น

Hello Health Group ไม่ได้ให้คำแนะนำด้านการแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาโรคแต่อย่างใด

ข้อมูลจาก

Understanding Pistanthrophobia, or the Fear of Trusting People. https://www.healthline.com/health/mental-health/pistanthrophobia. Accessed on October 15, 2020.

Fear of Vulnerability and Learning to Trust Again. https://www.verywellmind.com/fear-of-vulnerability-2671820. Accessed on October 15, 2020.

7 Ways to Build Trust in a Relationship. https://www.psychologytoday.com/us/blog/friendship-20/201812/7-ways-build-trust-in-relationship. Accessed on October 15, 2020.

How to Rebuild Trust with Someone Who Hurt You. https://www.psychologytoday.com/us/blog/living-forward/201609/how-rebuild-trust-someone-who-hurt-you. Accessed on October 15, 2020.

https://hellokhunmor.com

ร่วมแสดงความคิดเห็น