(มีคลิป) ส่อเค้าวุ่นยาว “ปางช้างแม่สา” ธุรกิจพันล้าน! เมืองเชียงใหม่ ยังหาที่ลงไม่เจอ

พิพาท “ปางช้างแม่สา” ธุรกิจพันล้าน! เมืองเชียงใหม่ ส่อเค้าวุ่นยาว ยังหาที่ลงไม่เจอ ล่าสุดทนายความฯ “ฐิติรัตน์” เปิดแถลงโต้ “อัญชลี” หลังโพสต์พาดพิงทำให้เสียหาย เผยถูกเรียกร้องถอนเงินมรดก 18 ล้านออกมาใช้จ่าย ทั้งที่คดีความฟ้องร้องกันยังไม่จบ เรื่องยังคาอยู่ในศาล

เมื่อวันที่ผ่านมา (28 ก.ย. 64) นายอัคคพาคย์ อินทรประพงศ์ พร้อมด้วยนางสุภาภรณ์ ไชยพันธ์ ทนายความส่วนตัวและที่ปรึกษาทางด้านกฎหมายของ นางฐิติรัตน์ กัลมาพิจิตร ภรรยานายชูชาติ กัลมาพิจิตร อดีตผู้บริหารปางช้างแม่สา ผู้ล่วงลับ ซึ่งปัจจุบันเป็นหนึ่งในผู้บริหารปางช้างแม่สา เชียงใหม่ และธุรกิจในเครือปางช้างฯ ร่วมกันแถลงชี้แจงกรณี นางอัญชลี กัลมาพิจิตร ผู้บริหารปางช้างอีกฝ่ายหนึ่งโพสต์ข้อความในสื่อออนไลน์ โดยมีข้อความทำให้ฝ่ายของตนเสียหาย พร้อมแถลงสถานการณ์ความคืบหน้ากรณีความขัดแย้งในการบริหาร “ปางช้างแม่สา” ซึ่งกำลังเกิดข้อพิพาทมีการฟ้องร้องเป็นคดีความกันอยู่ในชั้นศาล จนถึงขณะนี้เวลาล่วงเลยมากว่า 2 ปี แล้ว ยังไม่มีท่าทีว่าจะลงเอยในรูปแบบใด มีสื่อมวลชนหลายแขนงเข้ารับฟังจำนวนมาก ณ ห้องประชุมเวียงฟ้า โรงแรมรติล้านนา เชียงใหม่ เนื่องจากเป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของประชาชนชาวเชียงใหม่

ภายหลังจากการเสียชีวิตของ นายชูชาติ กัลมาพิจิตร หรือ “พ่อเลี้ยงชูชาติ” อดีตเจ้าของปางช้างแม่สา แหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อต้นปี 2562 ทำให้ทายาทแต่ละฝ่ายเกิดความขัดแย้งในเรื่องการถือหุ้นของบริษัท และการแบ่งผลประโยชน์ในกองมรดก จนเกิดมีการฟ้องร้องกันทั้งทางแพ่งและอาญามากกว่า 10 คดี ที่ผ่านมา ทางศาลจังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งคณะผู้พิพากษาได้เชิญทายาท นายชูชาติฯ ทุกฝ่ายมาพูดคุยเพื่อทำการไกล่เกลี่ยคดีกันแล้วหลายครั้ง โดยเฉพาะความขัดแย้งกันระหว่างฝ่ายนางอัญชลี กัลมาพิจิตร บุตรสาวคนโต ซึ่งเกิดกับอดีตภรรยานายชูชาติ และฝ่ายของนางฐิติรัตน์ กัลมาพิจิตร คู่สมรสที่จดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายกับนายชูชาติ ก่อนที่จะเสียชีวิต ต่างฝ่ายก็อ้างสิทธิ์ของตนในการบริหารปางช้าง และจัดสรรแบ่งผลประโยชน์ต่างๆ ตามพินัยกรรม แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถตกลงกันได้ ทำให้การฟ้องร้องยังคงดำเนินต่อไป และเรื่องกำลังอยู่ในชั้นศาล

ปัญหาดังกล่าวทำให้เกิดผลกระทบตามมาหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาสำคัญคือการที่ปางช้างแม่สา กำลังตกอยู่ในภาวะขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างหนัก เนื่องจากวิกฤต โควิด-19 การท่องเที่ยวถูกแช่แข็ง จากมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้ปางช้างแม่สาไม่มีรายได้เลย จนกลุ่มพนักงานและควาญช้าง พากันไปยื่นหนังสือร้องเรียนต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ให้ช่วยเหลือ หลังไม่ได้รับค่าจ้างมานานกว่า 3 เดือนแล้ว ขณะที่ช้างหลายสิบเชือกก็ไม่มีอาหารกิน ต้องอยู่อย่างยากลำบากในช่วงนี้

โดยเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา นางอัญชลี กัลมาพิจิตร ผู้บริหารปางช้างแม่สา เผยในสื่อหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งว่า ตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด-19 นานกว่า 2 ปี ปางช้างได้ใช้เงินเก็บกว่า 20 ล้านบาท เลี้ยงช้าง ควาญช้าง และพนักงานไปจนหมด ทุกวันนี้ก็ยังไม่มีนักท่องเที่ยว ถึงขั้นต้องไปกู้ยืมเงินจากธนาคารมาแล้วร่วม 60 ล้านบาท เพื่อเลี้ยงดูช้างกว่า 70 เชือก และพนักงานอีก 123 คน รายได้จากการท่องเที่ยวก็กลายเป็นศูนย์ ยอมรับว่าตอนนี้ประสบปัญหาภาวะทางการเงินอย่างหนัก ไม่สามารถนำเงินบริษัทออกมาใช้จ่ายเพิ่มได้ เนื่องจากติดปัญหาการฟ้องร้องมรดก เพราะผู้บริหารร่วมรายอื่นไม่เข้ามาช่วยเหลือใดๆ อย่างไรก็ตามจะหาวิธีเชิญผู้บริหารทุกคนเข้ามาพูดคุยเพื่อสางปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุด

ต่อมา เมื่อวันที่ 26 ก.ย.ที่ผ่านมา เฟซบุ๊ก Anchalee Bunarat ซึ่งเป็นเฟซบุ๊กของ นางอัญชลี กัลมาพิจิตร ได้โพสต์ข้อความอีกครั้ง ระบุว่า.. “ความจริงที่คนแม่สาควรต้องรู้”

  1. พี่เป็นลูกสาวคนโตในตระกูล เป็นบุตรที่ถูกต้องตามกฏหมาย เป็นทายาทที่แท้จริงของปางช้างแม่สา
  2. พี่เคยทำงานกับพ่อ เลี้ยงช้างเป็น และสามารถบริหารกิจการปางช้างแม่สาได้
  3. พ่อพี่เสียชีวิตที่บ้านของพ่อ ในคืนวันที่ 27 มกราคม 2562 โดยที่พี่ไม่ได้รับแจ้งและรู้ในภายหลังว่าไม่มีการชันสูตรพลิกศพ นอกจากนี้ยังมีการแจ้งตายที่อำเภอแม่ริมช้าไปถึงสามวัน
  4. หลังจากพ่อเสียชีวิต หุ้นพี่ในบริษัทหายไปทั้งหมด ทั้งสามบริษัท พี่ไม่มีหุ้นในบริษัทปางช้างแม่สาเหลืออยู่เลย มีหุ้นเป็นศูนย์ ทั้งๆ ที่ได้เริ่มก่อตั้งมาด้วยกันกับพ่อ
  5. พี่ได้ฟ้องร้องทางศาลเพื่อเอาหุ้นคืน เพราะหุ้นของบริษัทเป็นหุ้นชนิดระบุชื่อ เวลาโอนต้องมีเอกสารผู้โอนและผู้รับโอน พร้อมพยาน 1 คน
  6. เดือนกันยายน ปี 61 ได้มีการทำพินัยกรรมขึ้นมาใหม่ลบล้างพินัยกรรมเดิม และผู้รับประโยชน์ได้เปลี่ยนไป
  7. ช้างแม่สาล้มตายอย่างต่อเนื่องในช่วงปี 60-62 โดยเฉพาะในเดือนตุลาคม 62 ช้างล้มตาย 5 เชือกภายในเวลา
  8. วันที่ 16 ตุลาคม 62 มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ให้ต่างฝ่ายต่างถอนฟ้อง เหลือไว้คนละหนึ่งคดี เพราะคดีของพี่เหลืออยู่ที่ศาลแพ่ง
  9. วันที่ 16 ตุลาคม 62 พี่ได้รับหุ้นคืนทันทีจากศาล จำนวน 12,000 หุ้น และได้รับสิทธิ์เข้าบริหารปางช้างแม่สา รินลดารีสอร์ท และน้ำดื่มเอเล่ในตำแหน่งกรรมการบริหาร พี่จึงรีบเข้าจัดการปางช้างแม่สาในวันที่ 18 ตุลาคม 62 ในปัจจุบันพี่เป็นเจ้าของหุ้นของบริษัทปางช้างแม่สาเกินครึ่ง คือเกิน 50%
  10. พี่รับบริหารปางช้าง ในขณะที่บริษัทมีเงินเพียง 9 ล้านบาท ต่อมาเดือนกุมภาพันธ์ 63 บริษัทมีผลกำไรและมีเงินเพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านบาท ซึ่งต่อมามีเหตุการณ์โควิด-19 เกิดขึ้น ในช่วงเดือน มีนาคม 63
  11.  ปางช้างแม่สาต้องปิดกิจการลงชั่วคราวในช่วงล๊อคดาวน์ และเปิดขึ้นมาใหม่ในแบบ New Normal ในวันที่ 15 เมษายน 63 โดยงดการแสดงช้าง และงดการนั่งช้างบนแหย่ง รวมถึงใช้มาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด บริษัทจึงให้นโยบายเปิดฟรี เพื่อบริการประชาชน ในช่วงที่มีประเทศมีปัญหาด้านเศรษฐกิจ และโรคโควิด-19 ทำให้ไม่มีชาวต่างชาติเดินทางเข้าออกประเทศ
  12. กิจการเริ่มดีขึ้นบ้าง จากนักท่องเที่ยวชาวไทย จนถึงสิ้นปี 63 มีคนมาใช้บริการราว 7 หมื่นกว่าคน อย่างน้อยเรามีเงินพอซื้อหญ้าเป็นอาหารให้ช้าง ขาดแต่ค่าแรงพนักงาน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ซึ่งต้องใช้เงินกู้จากธนาคารอีก 20 ล้านบาท และเราต้องลำบากอีกครั้ง ด้วยสถานการณ์โควิด-19 ระบาดอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนธันวาคม 63 จนถึงปัจจุบัน
  13. ในสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลได้สั่งให้มีผู้จัดการมรดก 2 คน ร่วมกันทำหน้าที่จัดการมรดกตามพินัยกรรม ต่อมามีการยื่นอุทธรณ์ขอเป็นผู้จัดการมรดกเพียงคนเดียวจากอีกฝ่าย ทำให้จัดการมรดกไม่ได้ พี่รอมาเกือบสองปี และในที่สุดศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 64 ให้เป็นผู้จัดการมรดกเหมือนเดิมทั้งสองคน ขณะนี้อยู่ในช่วงขยายฎีกา
  14. ในพินัยกรรมระบุหมายเลขบัญชีธนาคาร ที่จะต้องแบ่งกันในระหว่างทายาทเท่าๆ กัน เดิมมีเงินอยู่ 41 ล้านบาท แต่หลังจากตรวจสอบแล้ว เงินได้ถูกโอนออกไปจนเหลือเพียง 40,000 บาท ซึ่งเป็นการโอนในระหว่างที่เจ้ามรดกนอนป่วยอยู่ที่โรงพยาบาล
  15. เดือนกุมภาพันธ์ปี 62 พี่ได้เดินทางไปที่ธนาคารเพื่อยื่นเรื่องขออายัดบัญชีชื่อผู้ตาย และพบว่าผู้ตายมีหลายบัญชี ทำให้ทราบว่ายังมีเงินเหลืออยู่ที่ธนาคารฯ สาขาแม่ริมประมาณ 18 ล้านบาทซึ่งอยู่นอกพินัยกรรม เงินตรงส่วนนี้เป็นเงินของทายาทที่สามารถนำมาใช้จ่ายเป็นเงินเดือนพนักงานปางช้างแม่สาได้ทันที
  16. พี่ไม่ได้มีปัญหากับการจัดการทรัพย์สินตามพินัยกรรม และพร้อมจัดการทรัพย์สินตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 62 เป็นต้นมา จนถึงวันนี้ก็พร้อมทำหน้าที่ผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม
  17. คนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องภายในครอบครัว แต่ปางช้างแม่สาตั้งอยู่ที่อำเภอแม่ริมมากว่า 45 ปีแล้ว คนไทยส่วนใหญ่ได้มาเที่ยวดูช้างที่ปางช้าง ปางช้างแม่สา จึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง รวมถึงเป็นแหล่งเลี้ยงช้างที่สำคัญของประเทศไทยและของทวีปเอเชีย ถ้าไม่มีปางช้างแม่สาแล้ว ก็น่าเสียดาย ทุกวันนี้มีพี่ที่เป็นทายาทเพียงคนเดียวที่ต้องการให้มีปางช้างแม่สาอยู่คู่เมืองเชียงใหม่ พี่ยังยืนยันว่าจะเลี้ยงช้างแม่สา เลี้ยงคนแม่สาและพัฒนาปางช้างแม่สาให้เป็น “ศูนย์อนุรักษ์ช้างแม่สา” ต่อไป
    …อัญชลี กัลมาพิจิตร 26 กันยายน 2564…

ด้าน นายอัคคพาคย์ อินทรประพงศ์ พร้อมด้วยนางสุภาภรณ์ ไชยพันธ์ ทนายความส่วนตัวและที่ปรึกษาทางด้านกฎหมายของ นางฐิติรัตน์ กัลมาพิจิตร ผู้บริหารปางช้างแม่สา อีกฝ่าย กล่าวว่า ข้อพิพาทฟ้องร้องทุกคดี นางฐิติรัตน์ ไม่เคยชี้แจงหรือตอบโต้ใดๆ การบริหารปางช้างก็เช่นกัน ฝ่ายนางฐิติรัตน์ ถูกกีดกันไม่ให้เข้าไปบริหารปางช้างแม่สา ตั้งแต่ต้น ช่วง 2 ปีที่นางอัญชลี ได้ขออำนาจศาลเป็นผู้จัดการมรดกร่วม ของนายชูชาติ และเข้ามาบริหารปางช้างแม่สา นางอัญชลี ได้ระงับจ่ายเงินเดือนแก่นางฐิติรัตน์ เดือนละ 180,000 บาท รวมเป็นเงินกว่า 4 ล้านบาทแล้ว แต่ได้ใช้เงินของนายชูชาติ ที่ฝากไว้ในธนาคาร จำนวน 20 ล้านบาท เพื่อบริหารปางช้างหมดภายใน 1 ปีเท่านั้น และทราบว่ายังขอกู้เงินเพิ่มจากธนาคารอีกหลายสิบล้านบาท จึงสะท้อนได้ว่าการบริหารจัดการปางช้างของนางอัญชลีว่าเป็นอย่างไร หากไม่สามารถบริหารงานได้ก็ควรเปิดทางให้คนที่มีศักยภาพ และพร้อมเข้ามาดูแลแทน เพื่อประคองกิจการให้อยู่รอด

ที่ผ่านมา นางอัญชลี ได้มีหนังสือเชิญนางฐิติรัตน์ เข้าร่วมบริหารจัดการปางช้างแม่สา แต่เป็นการเชิญให้มาร่วมรับผิดชอบหนี้สินกว่า 30 ล้านบาท ทั้งที่นางฐิติรัตน์ ไม่ได้มีส่วนร่วมบริหารจัดการตั้งแต่ต้น ที่สำคัญยังไม่ได้จัดการเรื่องทรัพย์สินตามพินัยกรรม หากมีการจัดการทรัพย์สินตามพินัยกรรม ตามที่ศาลได้ไกล่เกลี่ยตั้งแต่ต้น เรื่องคงไม่ยืดเยื้อจนถึงวันนี้

นายอัคคพาคย์ กล่าว อีกว่า สำหรับเรื่องพินัยกรรมมรดกนายชูชาติ และการบริหารจัดการปางช้างแม่สา ที่มีคดีความกันอยู่ในขณะนี้มี 14 คดี บางคดีได้ประนีประนอม-ไกล่เกลี่ยไปแล้วยังคงค้างคดีในศาล 4-5 คดีเท่านั้น แต่มีแนวโน้มว่า ยังไม่จบง่ายๆ เพราะมีการโพสต์ข้อความในโซเชียลมีเดีย กล่าวหานางฐิติรัตน์ ต่างๆ นานา หลายประเด็น ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ที่ผ่านมานางอัญชลี เคยถูกศาลพิพากษาจำคุก 1 ปี 6 เดือน ฐานฟ้องเท็จ ซึ่งศาลอุทธรณ์ พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น อยากจะขอเตือนว่า หากยังฟ้องเท็จอีก อาจถูกศาลลงโทษจำคุกได้ โดยไม่ลงรออาญา ทั้งนี้นางฐิติรัตน์ ได้ฟ้องนางอัญชลี ได้ยักยอกเงินบริษัทฯ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลด้วย

สำหรับนายชูชาติ มีกิจการอยู่ 3 แห่ง ประกอบด้วย ปางช้างแม่สา น้ำแร่เอเล่ และรีสอร์ท มีการประเมินทรัพย์สินคร่าวๆ กว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งก่อนเสียชีวิตนายชูชาติ ได้เขียนพินัยกรรมที่มีผลทางกฎหมาย เมื่อกันยายน 2561 เพื่อแบ่งทรัพย์สินให้บุตร 4 คน นางฐิติรัตน์ และ น.ส.อภิ กัลมาพิจิตร ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรม รวม 6 คน พินัยกรรมดังกล่าวนั้นนางอัญชลี ได้รับมรดกเป็นงาช้างคู่เดียวเท่านั้น โดยไม่ได้รับทรัพย์สินอื่นใดเลย จนนำไปสู่การขอตรวจพิสูจน์ศพ และพินัยกรรมของนายชูชาติ ผู้เป็นบิดา ว่ามีสิ่งผิดปกติหรือไม่ แต่ไม่ปรากฎสิ่งผิดปกติดังกล่าว ก่อนจะเกิดเป็นการฟ้องร้องคดีมากมายในขณะนี้

ร่วมแสดงความคิดเห็น