ประชุมสรุปผลการดำเนินงานโครงการการบริหารจัดการแผนงานการเตรียมความพร้อมประเทศไทยเชิงรุกให้เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่มีคุณภาพ

วันพฤหัสบดีที่ 30 กันยายน 2564 เวลา 09.30 น. โครงการการบริหารจัดการแผนงานการเตรียมความพร้อมประเทศไทยเชิงรุกให้เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่มีคุณภาพ โดยการสนับสนุนของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) จัดการประชุมสรุปผลการดำเนินงานของแผนงานวิจัยโครงการ การบริหารจัดการแผนงานการเตรียมความพร้อมประเทศไทยเชิงรุกให้เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่มีคุณภาพ โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุภาวดี  โพธิยะราช ประธานคณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวเปิดการประชุม ศาสตราจารย์ ดร.วิภาดา คุณาวิกติกุลผู้อำนวยการแผนงานฯ กล่าวความเป็นมาของโครงการฯ ณ โรงแรมสมายล์ ลานนา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์โปรแกรม Zoom

จากการที่รัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของโลก เพราะแนวโน้มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพกำลังได้รับความสนใจอย่างมากและมีทิศทางเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด ประเทศไทยมีปัจจัยหลักที่ได้รับการยอมรับ ได้แก่ ราคาเหมาะสม บริการมีคุณภาพ มาตรฐานสากล บุคลากรเชี่ยวชาญ เทคโนโลยีทันสมัย อัธยาศัยไมตรีดี และมีสถานที่ท่องเที่ยวสวยงาม สามารถดึงดูดรองรับนักท่องเที่ยวได้อย่างดีเยี่ยม


ผศ. สุภาวดี โพธิยะราช ประธานคณะอนุกรรมการแผนงานกลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และ ผศ.ดร.เกศรา สุขเพชร ผู้ประสานงานโครงการการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เปิดเผยว่าโครงการวิจัยด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพด้านกีฬาและสปาที่เป็นหนึ่งในโครงการที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และมีสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เป็นหน่วยบริหารจัดการและส่งมอบผลลัพธ์ ภายใต้หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ในปีงบประมาณ 2563 นับเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดทำแผนงานการบริหารจัดการการเตรียมความพร้อมประเทศไทยเชิงรุกให้เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่มีคุณภาพ

โดยมี ศาสตราจารย์ ดร. วิภาดา คุณาวิกติกุล ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาโครงการวิทยาศาสตร์สุขภาพ และรักษาการคณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ และอดีตคณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นผู้อำนวยการแผนงานวิจัยการบริหารจัดการแผนงานการเตรียมความพร้อมประเทศไทยเชิงรุกให้เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่มีคุณภาพ ผนึกกำลังกับคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย 5 แห่ง ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง และมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ร่วมดำเนินการภายใต้การดูแลกำกับและให้คำปรึกษาจากคณะกรรมการบริหารแผนงานและผู้ทรงคุณวุฒิ

ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำแผนกลยุทธ์และแผนปฎิบัติการด้านกีฬาและสปา (พ.ศ. 2565-พ.ศ. 2569) ในการพัฒนาประเทศไทยสู่การเป็นจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวเชิงกีฬาและสปา วิเคราะห์ห่วงโซ่อุปทาน กำหนดแนวทางการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงกีฬาศักยภาพสูงกลุ่มกอล์ฟ การท่องเที่ยวเชิงกีฬาวิ่ง จักรยาน และศิลปะมวยไทย รวมทั้งเพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพรูปแบบการให้บริการสปาล้านนาและสปาใต้ที่มีมาตรฐานเพื่อการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยสร้างนวัตกรรมที่หลากหลายจากการดำเนินการศึกษาวิจัยเพื่อขับเคลื่อนให้การท่องเทียวเชิงสุขภาพของประเทศสู่การเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ

โครงการนี้ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2562 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 จากแผนงาน และโครงการวิจัยนี้ได้ดำเนินการมาตลอดระยะเวลา 2 ปี ได้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ และส่งมอบผลงานที่ได้จากงานวิจัยทั้งหมดให้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุภาวดี โพธิยะราช ในฐานะคณะกรรมการบริหารแผนงานและเป็นหน่วยบริหารจัดการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และคณะผู้ทรงคุณวุฒิด้านการบริหารจัดการการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพทุกท่าน ทั้งนี้ผลงานทั้งหมด จะนำไปสู่การนำไปใช้ประโยชน์ ทั้งต่อองค์กรในภาครัฐและภาคเอกชนต่อไป

นอกจากนั้นการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงกีฬาและสปาด้วยนวัตกรรมสู่จุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่มีคุณภาพนั้น มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทำให้นักท่องเที่ยวต่างตัดสินใจชะลอการเดินทาง โดยมีการคาดการณ์ว่าต้องใช้เวลาฟื้นตัวบ้าง ซึ่งนับเป็นโอกาสของประเทศไทยในการฟื้นฟูและสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการของประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการ ชุมชน และสังคม สามารถพัฒนาขีดความสามารถที่มีอยู่ได้ต่อเนื่อง พร้อมที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพให้กลับมายังประเทศไทยในอนาคตอันใกล้ ก่อให้เกิดการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงกีฬาและสปาด้วยนวัตกรรมตลอดจนการบริหารจัดการการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสู่การเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง

ร่วมแสดงความคิดเห็น