(มีคลิป) รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ โชว์ศักยภาพ รักษาผู้ป่วยเคสปลูกถ่ายตับ โดยใช้การส่องกล้อง กว่า 10 รายแล้ว นับเป็นความสำเร็จระดับต้นๆ ของอาเซียน

ศ. (เชี่ยวชาญพิเศษ) บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มช. เปิดเผยถึง การรับเคสผู้ป่วยต่างชาติเข้ามาทำการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดปลูกถ่ายตับ ในขณะนี้ว่าผู้ป่วยกำลังอยู่ในความดูแลของทีมแพทย์โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คณะแพทย์ มช. นำโดย ผศ.นพ.อานนท์ โชติรสนิรมิต หัวหน้าหน่วยศัลยศาสตร์ระบบทางตับ ทางเดินน้ำดี และตับอ่อน ,รศ.นพ.สัณหวิชญ์ จันทร์รังสี และ ผศ.นพ.วรกิตติ ลาภพิเศษพันธุ์ อาจารย์แพทย์ประจำหน่วยฯ ซึ่งการผ่าตัดรักษาผ่านพ้นไปด้วยดี นับเป็นความภาคภูมิใจของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นความภูมิใจของ รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ ด้วย ที่สามารถรับเคสคนไข้จากต่างประเทศ มาทำการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งอาจนับได้ว่าเป็นความสำเร็จครั้งแรกๆ ของอาเซียนเลยทีเดียว

ผศ.นพ.อานนท์ โชติรสนิรมิต หัวหน้าหน่วยศัลยศาสตร์ระบบทางตับ ทางเดินน้ำดี และตับอ่อนฯ เปิดเผยว่า ผู้ป่วยรายดังกล่าวเป็นชายชาวบรูไน มีประวัติป่วยเป็นโรคมะเร็งตับ ที่ผ่านมาได้รับการรักษาด้วยวีธีเคมีบำบัด โดยการฉีดยาเข้าเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงตับ รักษามาประมาณ 2 ปี ระยะหลังการรักษาด้วยวิธีเดิมเริ่มไม่ได้ผล จึงเริ่มมองหาวิธีการรักษาด้วยวิธีการอื่น คือวิธีการเปลี่ยนตับ (ปลูกถ่ายตับ) ซึ่งการรักษาแบบนี้ได้ผลดี แต่ก็มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง โดยผู้ป่วยพยายามมองหาประเทศที่มีศักยภาพที่จะสามารถรักษาด้วยวิธีดังกล่าวได้ ทราบว่าติดต่อไปหลายประเทศ ก่อนจะตัดสินใจเลือกมารักษาที่ประเทศไทย

สำหรับแผนการรักษาผู้ป่วย รศ.นพ.สัณหวิชญ์ จันทร์รังสี เปิดเผยว่า เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาอยู่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในการรักษาผู้ป่วยเคสปลูกถ่ายตับลักษณะนี้ จึงเป็นการยากที่มีผู้บริจาคอวัยวะสมองตาย แต่โชคดีที่ผู้ป่วยมีบุตรสาวบริจาคตับบางส่วนให้ จึงสามารถทำการรักษาได้ทันที ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการวางแผนมาบ้างแล้ว จากทางแพทย์บรูไน เมื่อมาถึงรพ.มหาราชฯ ก็สามารถดำเนินการต่อได้เลย ทางทีมแพทย์เองก็มีความมั่นใจในเทคนิคนี้มาก เพราะที่เชียงใหม่ มีจำนวนเคสปลูกถ่ายตับผู้ใหญ่จากผู้บริจาคที่มีชีวิตมากที่สุดในประเทศไทย คือ 40 ราย นอกจากนี้แล้วในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาเรายังมีสถิติการรักษาด้วยเทคนิคดังกล่าวมากเป็นอันดับต้นๆ ในภูมิภาคอาเซียนด้วย

ผศ.นพ.วรกิตติ ลาภพิเศษพันธุ์ เปิดเผยว่า การรักษาผู้ป่วยด้วยเทคนิควิธีการปลูกถ่ายตับ ทางรพ.มหาราชฯ ได้ดำเนินการไปแล้วหลายราย เป็นการผ่าตัดตับจากผู้บริจาคด้วยการส่องกล้องทั้งหมด จนถึงขณะนี้รักษาไปกว่า 10 รายแล้ว ทุกรายผลเป็นที่น่าพอใจ ไม่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงเกิดขึ้นกับผู้บริจาค ทั้งนี้การผ่าตัดผ่านการส่องกล้องเป็นวิธีที่มีความสะดวกปลอดภัยมาก เพราะแผลเล็กกว่าการผ่าตัดเปิด ทำให้ระยะเวลาในการฟื้นตัวของผู้บริจาคเร็วขึ้น เฉลี่ยนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลเพียง 5-7 วัน ผู้บริจาคก็สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้เป็นปกติ ภายใน 1-2 สัปดาห์ต่อมาร่างกายก็จะแข็งแรงเหมือนเดิม โดยผู้บริจาค และผู้ป่วยทุกรายได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากทางทีมแพทย์ พยาบาล ของโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่

ด้านคุณกันยา อุดมสิน พยาบาลประสานงานปลูกถ่ายตับ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการปลูกถ่ายอวัยวะ กล่าวถึงเคสผู้ป่วยชาวบรูไนรายนี้ว่า ถือเป็นผู้ป่วยต่างชาติเคสแรกที่รพ.มหาราชฯ รับเข้ามารักษาโดยวิธีการปลูกถ่ายตับจากผู้บริจาคที่มีชีวิต โชคดีที่ทางบรูไนได้เตรียมความพร้อมในส่วนของผู้ป่วยมาพอสมควร โดยก่อนส่งตัวมารักษามีการได้ประสานส่งข้อมูลต่างๆ ของผู้ป่วยมาให้ทางทีมแพทย์พิจารณาก่อนเนื่องจากเป็นการผ่าตัดผู้ป่วยต่างชาติ จึงต้องมีการตรวจสอบกับทางสภากาชาดฯ ในรายอะเอียดต่างๆ พอสมควร ซึ่งเคสนี้ก็ไม่มีปัญหาเนื่องจากทางสถานกงสุลบรูไน ได้ออกหนังสือรับรองยืนยันความสัมพันธ์เป็นพ่อและลูกกันจริง จึงทำให้มีการรักษาได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

คุณพัชรินทร์ เนตรสว่าง หัวหน้าหอผู้ป่วยพิเศษ 7 ฝ่ายการพยาบาล กล่าวถึงการดูแลผู้ป่วยหลังการผ่าตัดว่า ทีมพยาบาลเรามีการเตรียมความพร้อมในการดูแลผู้ป่วยอย่างเต็มที่ตามมาตรฐานของโรงพยาบาล โดยเน้นที่ความสุขสบายของคนไข้ ให้ความสำคัญกับความสะอาดของสถานที่เป็นหลัก และที่สำคัญที่สุดคือความสะดวกปลอดภัย ไม่ให้คนไข้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ด้วย

ผศ.นพ.อานนท์ โชติรสนิรมิต กล่าวเสริมว่า การผ่าตัดปลูกถ่ายตับจากผู้บริจาคโดยการส่องกล้อง เป็นผลงานที่ทางภาควิชาฯ  และคณะแพทยศาสตร์ฯ ภาคภูมิใจ เนื่องจากเป็นแห่งแรกของประเทศไทยที่ทำได้ และมีจำนวนเคสผู้ป่วยมากที่สุดในระดับประเทศ และระดับอาเซียนด้วย ต้องขอขอบคุณทางคณะแพทย์ฯ ที่ให้การสนับสนุนทุกด้าน และขอบคุณทางทีมงานทุกคนที่ได้ช่วยกันทำหน้าที่ของตนเองอย่างเข้มแข็ง

ติดตามผ่านช่องทาง Youtube : https://youtu.be/UJBIu0UDcuk

ร่วมแสดงความคิดเห็น