เชียงใหม่ ประชุมด่วนเร่งแก้ไขต้นยางนา จากพายุพัดถล่มทำต้นยางล้มทับบ้านเรือนมากกว่า 10 หลัง เตรียมใช้เครื่องเอ็กซเรย์ดูความสมบูรณ์ หากตรวจพบต้นไหนไม่ปลอดภัยจำเป็นต้องตัดทิ้งเพื่อความปลอดภัย

เมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 4 ตุลาคม 2564 ที่ห้องสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ ชั้น 2 อาคารอำนวยการ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ รศ.บรรจง สมบูรณ์ชัย อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และเป็นนายกสมาคมยางนา – ขี้เหล็กสยาม
พร้อมด้วย เจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และเครือข่ายเขียว สวย หอม รวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าประชุม เพื่อเร่งศึกษาและวางแผนแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับต้นยางนา หลังจากที่ถูกพายุพัดทำให้ต้นยางนานับ 10 ต้นล้มทับบ้านเรือนของประชาชนในพื้นที่อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา

รศ.บรรจง สมบูรณ์ชัย อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และเป็นนายกสมาคมยางนา – ขี้เหล็กสยาม เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ได้มีพายุลม ฝนกระหน่ำรุนแรงในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ส่งผลให้ต้นยางนาหักล้มทับร้านเรือนและเสาไฟฟ้าหักขวางถนนสายเชียงใหม่ – ลำพูน (สายเก่า) บริเวณช่วงแดนเมือง ถึงแยกตลาดปากกอง โดยพบว่าต้นยางนาขนาดใหญ่ จำนวน 10 ต้น ล้มทับบ้านเรือนประชาชน มีต้นสน จำนวน 1 ต้น ต้นสะเดา 1 ต้น รวมทั้งหมด 12 ต้น และเสาไฟฟ้าหักล้ม จำนวน 41 ต้น ทำให้บ้านเรือนราษฎรได้รับความเสียหาย 10 กว่าหลังคาเรือน ในวันนี้ได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและติดตามงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ ครั้งที่ 1/2565 เพื่อหาข้อสรุปและประเมินสถานการณ์จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อนำไปสู่ผลการแก้ไขในระยะยาว เบื้องต้นพบว่า รากของต้นยางนานั้นด้วน ไม่สามารถยืดยาวออกไปได้เหมือนกับต้นไม้ชนิดอื่น เนื่องพื้นผิวถนน สภาพดินและปัจจัยอื่นๆ รวมถึงขนาดความสูงของต้นยางนา ซึ่งอาจจะต้องลดความสูงลง 1 ใน 4 ส่วน เมื่อเจอกับลมพายุก็สามารถที่จะประคองอยู่ได้ กิ่งก้านที่มีขนาดใหญ่ก็ต้องมีการตัดและปรับโครงสร้างของต้นยาง ขณะเดียวกันทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ก็เตรียมนำเครื่องเอ็กซเรย์ต้นไม้ขนาดใหญ่เข้ามาช่วยภายในอีก 2 – 3 เดือนข้างหน้า ก็จะมีการสำรวจต้นยางทั้งหมดว่าต้นยางแต่ละต้นมีความปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน รากมีความสมบูรณ์หรือไม่ รวมถึงลำต้นภายในเป็นโพรงหรือไม่ เมื่อสำรวจเสร็จแล้ว ต้นไหนที่เกิดความเสียหายและฟื้นฟูไม่ได้ ก็จำเป็นต้องดำเนินการตัดทิ้ง เพื่อให้เกิดความปลอดภัย และศึกษาผลกระทบระยะยาวทั้งเรื่องของเส้นทางสายเชียงใหม่ – ลำพูน อาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนพื้นผิวถนนเพื่อให้รากต้นยางสามารถขยายและยึดกับดินได้อย่างมั่นคง การเลี่ยงไม่ใช้เส้นทางสายเก่าเส้นนี้ แล้วไปใช้เส้นทางสัญจรอื่นแทน และให้เส้นทางนี้เป็นถนนสายอนุรักษ์ หรืออาจจะเปิดให้ใช้เป็นบางช่วงเวลา จำกัดเวลาในการวิ่งรถและน้ำหนักรถ ซึ่งจุดนี้ก็ยังเป็นแนวทางที่กำลังอยู่ช่วงของการพูดคุยและเตรียมศึกษาในระยะยาว แต่เบื้องต้นเพื่อความปลอดภัยก็ต้องเร่งดำเนินการสำรวจความสมบูรณ์ของต้นยางและดำเนินการปรับแต่งกิ่งเพื่อให้เกิดความปลอดภัยก่อน

ร่วมแสดงความคิดเห็น