มทร.ล้านนา จับมือร่วม 7 ภาคี 72 หน่วยงานเครือข่าย หนุนการผลิตและพัฒนาบุคลากร ด้านระบบราง

มทร.ล้านนา จับมือร่วม 7 ภาคี 72 หน่วยงานเครือข่าย หนุนการผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านระบบราง สนับสนุนใช้ทรัพยากรร่วมกัน เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบราง 

เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2564 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา โดย ดร.กิจจา ไชยทนุ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ผู้แทนอธิการบดีฯ เข้าร่วมพิธีและร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) “การผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านระบบราง การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมด้านระบบราง เพื่อรองรับอุตสาหกรรมระบบราง” และเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่าง 7 ภาคีเครือข่ายรวม 72 หน่วยงาน ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาระบบราง ในการสนับสนุนส่งเสริมและใช้ทรัพยากรร่วมกัน เพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาระบบรางในด้านต่าง ๆ ผ่านระบบออนไลน์ ZOOM Meeting


โดยมีนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ณ ห้องประชุม ชั้น 3 อาคารสโมสรและหอประชุม กระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย คุณชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม และคุณกิตติพันธ์ ปานจันทร์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง คุณนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการ รถไฟแห่งประเทศไทย คุณภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย คุณสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ผู้บริหารกระทรวงคมนาคม ดร.กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ และผู้แทนจากภาคีเครือข่ายและสื่อมวลชนร่วมงานดังกล่าว

โดยมีขอบเขตความร่วมมือ คือการร่วมกันพัฒนาเนื้อหาหลักสูตรการเรียนการสอน และการฝึกอบรมด้านระบบราง ระหว่างผู้ประกอบกิจการด้านระบบรางและสถาบันการศึกษา ทั้งในระดับอุดมศึกษา และอาชีวศึกษา สนับสนุนการเรียน การฝึกอบรม การฝึกงาน โครงการสหกิจศึกษา รวมทั้ง ส่งเสริมการฝึกงานของนักศึกษาในระดับอุดมศึกษา และอาชีวศึกษา ตลอดจนการเพิ่มพูนความรู้และพัฒนาทักษะ ให้แก่ผู้ที่สำเร็จการศึกษาแล้ว สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการด้านระบบราง และการผลิต คิดค้นชิ้นส่วนหรือนวัตกรรมด้านระบบราง สนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการขนส่งทางรางระหว่างหน่วยงาน สนับสนุนผู้เชี่ยวชาญในการบรรยาย และถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่บุคลากรด้านระบบราง พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานห้องปฏิบัติการในประเทศ ให้มีขีดความสามารถด้านการวิเคราะห์ทดสอบคุณภาพวัสดุชิ้นส่วน และผลิตภัณฑ์ระบบรางให้ครอบคลุมการขนส่งทางรางของประเทศ และการจัดทำมาตรฐานด้านการขนส่งทางราง และมาตรฐานที่เกี่ยวเนื่องกับการขนส่งทางราง มาตรฐานชิ้นส่วนระบบรางและผลิตภัณฑ์ระบบราง

เพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ระบบรางในประเทศ อีกทั้งยังสนับสนุนส่งเสริมผู้ประกอบการ ในการผลิตชิ้นส่วนในประเทศ (Local Content) ทดแทนการนำเข้า โดยการใช้ทรัพยากร ชิ้นส่วน เครื่องมือ และอุปกรณ์ทดสอบและทดลองที่สามารถใช้ร่วมกันได้ สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องและร่วมสร้างระบบนิเวศและโมเดลธุรกิจระบบราง โดยมีระยะเวลาความร่วมมือทั้งสิ้น 5 ปี (พ.ศ. 2564 – 2569)
คลิกชมวีดิทัศน์ ลงนามความร่วมมือ กรมการขนส่งทางราง https://www.youtube.com/watch

 

ร่วมแสดงความคิดเห็น