เที่ยวชุมชนเรียกร้อง มาตรการกระตุ้นทัวร์ ช่วงฤดูหนาวเชียงใหม่

ผู้ประกอบการธุรกิจที่พัก โฮมสเตย์ ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาดมายาวนานร่วมๆ 2 ปีนั้น ส่งผลกระทบต่อภาคบริการและธุรกิจท่องเที่ยวอย่างมาก ซึ่ง จ.เชียงใหม่ เป็นอีกพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากสภาวะดังกล่าว ต้องหยุดบริการตามมาตรการขอความร่วมมือป้องกัน และควบคุมโรคโควิด-19

“กลุ่มที่ ต้นทุนน้อยบางส่วน ต้องเลิกกิจการ ประกาศเซ้ง ขายธุรกิจ แต่ส่วนหนึ่งที่ยังรอคอยความหวัง หลังสถานการณ์แพร่ระบาด โดยเฉพาะธุรกิจลงทุนในครอบครัว ประเภท ที่พักโฮมสเตย์ตามแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของเชียงใหม่ ในแต่ละอำเภอ ไม่ว่าจะที่ อ.แม่ริม, อ.เชียงดาว, อ.แม่แจ่ม, อ.สะเมิง, อ.จอมทอง หรือ จ.ลำพูน ต้องการความชัดเจน ในแผนกระตุ้น ส่งเสริมการท่องเที่ยวช่วงฤดูหนาว ซึ่งจากเดิม กำหนดเปิดพื้นที่ท่องเที่ยว เมื่อช่วง 1 ต.ค. นี้ แล้วขยับไปเป็นช่วง 1 พ.ย.ที่จะถึงนี้ เพื่อให้แผนการฉีดวัคซีน ในกลุ่มต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับภาคบริการ ภาคท่องเที่ยว มีจำนวนตามเป้าหมาย ”

กลุ่มที่พักโฮมสเตย์ พื้นที่ อ.แม่ริม และ อ.เชียงดาว หลายราย เปิดเผยกับทีมข่าวว่า กลุ่มกิจการที่พัก และภาคบริการต้องการเปิดจอง รองรับนักท่องเที่ยว ที่ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าประจำ มีการฉีดวัคซีน 2 เข็ม แต่ก็ติดปัญหาผู้นำชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กับการควบคุมป้องกันโรค ขอความร่วมมือให้รอประกาศจากจังหวัดว่า มีแนวทางอย่างไร ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวปกติของพื้นที่ ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติแบบนี้

“ช่วงวันหยุดยาว 21-24 ต.ค. นี้ ที่ ประกาศชดเชยวันที่ 22 ต.ค. แทน 25 ต.ค. เนื่องในวันปิยะมหาราชและเป็นช่วงวันออกพรรษา กลุ่มที่ตั้งใจมาพักผ่อน มาสัมผัสวิถีงานบุญประจำถิ่น กลุ่มที่พักโฮมสเตย์ ก็ต้องขอคำยืนยันไปที่ท้องที่ ,ท้องถิ่น ว่าหากกรุ๊ปทัวร์ ณ จากจังหวัดนั้นเข้ามา จะเข้าเงื่อนไข หรือต้องปฏิบัติตัวอย่างไร พอขั้นตอนวุ่นวายๆ มากๆ ลูกทัวร์ก็เงียบหายไป ทำให้เสียโอกาสที่จะมีรายได้ในช่วงนี้บ้าง”

ด้านผู้นำชุมชน พื้นที่ อ.แม่แจ่ม ,อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ยอมรับว่าหนักใจกับการข้อเรียกร้อง จากกิจการที่พักเหล่านี้ เพราะภาวะที่โรคโควิดรายวัน ยังไม่นิ่ง แม้จะฉีดวัคซีน มีใบรับรองการฉีดมายืนยัน ปัญหาคือ ชาวบ้านส่วนหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยว ไม่เข้าใจ ไม่ยอมรับการเร่งเปิดชุมชนเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว

“อย่าลืมว่า ชุมชน ท่องเที่ยวที่ดังๆ เป็นที่นิยมนั้น ไม่ใช่ชาวบ้านจะได้ประโยชน์ทั้งหมด บางส่วน อยู่ในภาคการเกษตร มีอาชีพหลากหลาย บางส่วน อยู่ในภาคบริการท่องเที่ยว ดังนั้น กฎกติกาชุมชน ตามแหล่งท่องเที่ยว ต้องมีความเหมาะสม ความลงตัว ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อวิถีชุมชนด้วยนักท่องเที่ยว อาจจะปั่นจักรยาน เที่ยวตามละแวกชุมชน อยากจะเข้าไปในบางพื้นที่ ตามหมู่บ้าน ก็ไม่ได้รับการต้อนรับ เพราะความเข้าใจของชาวบ้าน ยังมองว่า โรคนี้อันตราย ถ้าชาวบ้านในชุมชนไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ซึ่งผู้นำชุมชน ท้องที่ ท้องถิ่น ต้องดำเนินการสร้างความเข้าใจ ให้ชุมชนรับรู้ แนวทาง สร้างเสริมรายได้จากภาคท่องเที่ยว โดยโมเดล แม่กำปอง เป็นตัวอย่างที่ดี ในการจัดการ แต่ก็มีปัญหาเรื่องจอดรถ สถานที่คับแคบช่วงเทศกาล ชุมชนท่องเที่ยวทุกแห่งมีจุดเด่น จุดด้อยแตกต่างกันไปความร่วมมือของชุมชน ในการจัดการเป็นเรื่องสำคัญ อย่ามองเพียงรายได้ที่คาดหวังจะเกิดขึ้นด้านเดียว ”

จากการตรวจสอบของทีมข่าว ในรายละเอียด ที่พัก ตามแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม ในพื้นที่ นำร่อง 4 อำเภอ ของ จ.เชียงใหม่ พบว่า อ.แม่ริม ได้รับความสนใจ มีนักท่องเที่ยว ทยอยจองที่พัก ในช่วงวันหยุดยาว 21-24 ต.ค.นี้ เป็นจำนวนมาก และส่วนหนึ่ง จองล่วงหน้า ในช่วงเทศกาลปีใหม่ คึกคัก โดยผู้ประกอบการระบุเงื่อนไขชัดเจนว่า สิทธิ์การจองอาจเปลี่ยนแปลงได้ตามคำสั่ง ประกาศของ จ.เชียงใหม่ ในมาตรการควบคุม ป้องกันโรคโควิดด้วย เช่นเดียวกับ แหล่งที่พัก ในเส้นทาง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่- อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน หรือแม้แต่เส้นทาง เชียงใหม่สายเหนือ ใน อ.เชียงดาว, อ.ฝาง ซึ่งมี แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติงดงาม อาทิ บ้านเมืองคอง มีนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบธรรมชาติ แห่แหนจองที่พัก จองการเดินทาง ช่วงวันหยุดยาวในเดือน ต.ค. และยาวไปจนถึงช่วง ม.ค. ปีหน้า เป็นจำนวนมาก”

ร่วมแสดงความคิดเห็น