แพทย์ทหารเตือน “โรคอุจจาระร่วง” ภัยที่มักมากับน้ำท่วม

วันที่ 6 ตุลาคม 2564 กองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 แถลงข่าวประชาสัมพันธ์ ประจำสัปดาห์ ครั้งที่ 153 ศูนย์เสริมสร้างความปรองดองสมานฉันท์ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 ค่ายสมเด็จพระเอกาทศรถ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก โดยมี พันเอก นายแพทย์ วิโรจน์ ชนม์สูงเนิน รองโฆษกกองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 เป็นผู้แถลงข่าวฯ มีสาระสำคัญดังนี้

ด้วยอิทธิพลจากพายุ “เตี้ยนหมู่” ทำให้เกิดอุทกภัยใน 32 จังหวัด ขณะนี้สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 14 จังหวัด ส่วนอีก 18 จังหวัด ยังมีประชาชนประสบภัยน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ภาพรวมสถานการณ์ปัจจุบันหลายพื้นที่เริ่มคลี่คลาย แต่ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ อยู่ระหว่างการเร่งระบายน้ำ นั้น

ทั้งนี้ น้ำท่วมในระยะแรกอาจยังไม่มีเชื้อโรคมาก แต่เมื่อกลายเป็นน้ำขังก็จะสกปรกและมีเชื้อโรคมากขึ้น น้ำจึงเป็นที่มาของเชื้อโรคชนิดต่างๆ และหากต้องเดินย่ำน้ำแต่ละวันเป็นเวลานาน ก็จะยิ่งมีโอกาสป่วยด้วยโรคที่มากับน้ำท่วมมากขึ้น เช่น โรคอุจจาระร่วง เป็นต้น โดยโรคอุจจาระร่วงนั้น ผู้ป่วยจะถ่ายอุจจาระเหลว 3 ครั้งต่อวัน หรือมากกว่า หรือถ่ายอุจจาระเป็นมูกปนเลือดอย่างน้อย 1 ครั้ง โรคอุจจาระร่วงเป็นโรคติดต่อระบบทางเดินอาหารมักพบบ่อยขณะเกิดภาวะน้ำท่วมเกิดจากเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรียการติดต่อ

โดยการสัมผัสเชื้อจากการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรคจากสิ่งปฏิกูลที่มาจากน้ำท่วม หรือจากการใช้น้ำที่ไม่สะอาดชำระล้างภาชนะใส่อาหาร เช่น ถ้วย ชาม ช้อน ที่ปนเปื้อนปัสสาวะ อุจจาระ ขยะมูลฝอยที่บูดเน่า หรือจากการไม่ล้างมือให้สะอาดก่อนเตรียมหรือปรุงอาหาร จะทำให้เกิดโรคติดต่อทางเดินอาหารต่างๆ ได้
การป้องกัน

  1. ดื่มน้ำสะอาด น้ำบรรจุขวด ถ้าจำเป็นต้องดื่มน้ำที่ท่วมควรต้มให้สุกก่อน
  2. ล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้งก่อนกินอาหารและหลังการขับถ่าย
  3. ภาชนะที่ใส่อาหารควรล้างด้วยน้ำสะอาดก่อนนำมาใช้
  4. กินอาหารที่ทำสุกใหม่ๆ ที่ไม่มีแมลงวันตอม
  5. รักษาความสะอาดในเรื่องการกำจัดขยะมูลฝอย การกำจัดอุจจาระ ปัสสาวะที่ถูกต้อง
  6. หลีกเลี่ยงการถ่ายอุจจาระในน้ำที่ท่วมเพราะจะทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้ (ในภาวะน้ำท่วมสูง ควรถ่ายใส่ถุงดำแล้วโรยปูนขาว ปิดปากถุงให้แน่น รอเรือเก็บขยะมาเก็บ)
  7. ไม่ควรกินยาหยุดถ่ายเองควรปรึกษาแพทย์

ในการนี้ พลโท อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3/ผู้บัญชาการศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองทัพภาคที่ 3 และแพทย์ทหาร จึงมีความห่วงใยต่อข้าราชการทหาร ในสังกัดกองทัพภาคที่ 3 และพี่น้องประชาชน ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ ที่ประสบอุทกภัยและมีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพขั้นต้น ซึ่งหากพบว่าตนเองหรือคนรอบข้างมีอาการบ่งชี้ หรือสงสัยว่ามีภาวะหรืออาการขั้นต้น ขอให้ได้ไปพบแพทย์ ณ โรงพยาบาลทหารทั้ง 10 แห่งในพื้นที่ภาคเหนือ หรือโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อคัดกรอง วินิจฉัย และรักษาต่อไป

ร่วมแสดงความคิดเห็น