ปภ.แนะรู้ทัน…ป้องกันภัยดินถล่ม

ในระยะนี้ หลายพื้นที่มีฝนตกหนักถึงมาก ทำให้มีปริมาณฝนสะสมเป็นจำนวนมาก จึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดดินถล่ม โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ลาดชันและที่ราบเชิงเขา มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดดินถล่ม สร้างความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน เพื่อความปลอดภัยกระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะการเตรียมพร้อมรับมือและเรียนรู้การปฏิบัติตนเมื่อเกิดดินถล่มอย่างปลอดภัย ดังนี้
สัญญาณเตือนก่อนดินถล่ม ได้แก่
– มีฝนตกหนักติดต่อกันต่อเนื่องมากกว่า 100 มิลลิเมตรต่อวันหรือนานกว่า 6 ชั่วโมง
– ระดับน้ำในลำห้วยเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วผิดปกติ
– น้ำในลำธารหรือลำห้วยมีสีขุ่นหรือเป็นสีเดียวกับสีดินบนภูเขา
– มีเสียงดังผิดปกติจากภูเขาและลำห้วย
– สัตว์ป่ามีอาการแตกตื่นหรือตกใจ
– น้ำท่วมหมู่บ้านและเพิ่มระดับอย่างรวดเร็ว
– ดินอยู่ในสภาพอิ่มน้ำหรือชุ่มน้ำมากกว่าปกติ

พื้นที่เสี่ยงดินถล่ม ได้แก่
– บริเวณที่ลาดเชิงเขา ที่ลาดชัน ที่ราบลุ่ม ซึ่งอยู่ติดหรือใกล้กับภูเขาสูง
– บริเวณที่มีร่องรอยดินไหล ดินเลื่อน รอยแยกของพื้นดินบนภูเขา
– บริเวณที่เคยเกิดดินถล่ม น้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมบ่อยครั้ง
– บริเวณที่มีกองหิน เนินทรายปนโคลน และต้นไม้ในลำห้วย
– พื้นที่ห้วยหรือลำธารที่มีก้อนหินขนาดเล็กใหญ่ปนกันตลอดท้องน้ำ
เตรียมพร้อมรับมือดินถล่ม ให้ปฏิบัติ ดังนี้
– สำรวจพื้นที่เสี่ยงภัยและสภาพเส้นทาง โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม น้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่ม
– เฝ้าระวังสถานการณ์ภัย โดยติดตามการพยากรณ์อากาศ ประกาศแจ้งเตือน พร้อมตรวจวัดปริมาณน้ำฝน
– สังเกตสัญญาณเตือนความผิดปกติทางธรรมชาติ จะได้แจ้งเตือนและอพยพได้อย่างทันท่วงที
– วางแผนศึกษาเส้นทางอพยพไปยังที่ปลอดภัยเข้าร่วมการฝึกซ้อมอพยพหนีภัยอยู่เสมอ โดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นที่เสี่ยงภัย
รู้รอดปลอดภัย…เมื่อเกิดดินถล่ม ให้ปฏิบัติ ดังนี้
– อพยพไปตามเส้นทางที่ปลอดภัย พ้นแนวการไหลของดินและห่างจากพื้นที่ที่เกิดดินถล่มอย่างน้อย 2 – 5 กิโลเมตร
– หลีกเลี่ยงเส้นทางกระแสน้ำเชี่ยว หากจำเป็นจะต้องใช้เส้นทางดังกล่าว ให้ใช้เชือกผูกติดกับตัวแล้วยึดต้นไม้หรือสิ่งปลูกสร้างที่แข็งแรง เพื่อการกระแสน้ำไหลเชี่ยวจมน้ำ
– กรณีตกน้ำให้หาต้นไม้ขนาดใหญ่ยึดเกาะและปีนขึ้นไปพ้นน้ำ ห้ามว่ายน้ำหนีโดยเด็ดขาด
– ไม่อยู่ใกล้ลำ เพราะอาจจะได้รับอันตรายจากดิน หิน ต้นไม้ ที่ไหลมาตามน้ำ
– ห้ามกลับเข้าไปบริเวณที่เกิดดินถล่ม เนื่องจากอาจจะได้รับอันตรายจากดินที่พังถล่มลงมาซ้ำได้


ทั้งนี้ การสำรวจพื้นที่เสี่ยงอันตราย ติดตามการพยากรณ์อากาศ การแจ้งเตือนภัย และสัญญาณความผิดปกติทางธรรมชาติ เป็นแนวทางเบื้องต้นที่จะทำให้ปลอดภัยจากดินถล่ม กรณีการอพยพออกนอกพื้นที่ ให้อพยพไปตามแนว เส้นทางปลอดภัยพ้นจากเส้นทางการไหลของน้ำ ดินถล่มและเส้นทางที่มีน้ำท่วมสูงหรือน้ำไหลเชี่ยว รวมถึงห้ามขับรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ ผ่านบริเวณที่มีน้ำท่วมสูง เพราะกระแสน้ำอาจจะพัดรถออกนอกเส้นทางได้ทำให้เกิดอันตราย

ร่วมแสดงความคิดเห็น