ปภ.แนะรู้ทันระบบเบรกผิดปกติ รู้วิธีดูแลให้พร้อมใช้งานลดเสี่ยงอุบัติเหตุทางถนน

ในช่วงฤดูฝนมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนมากกว่าปกติ ผู้ขับขี่จึงควรเตรียมรถให้พร้อมใช้งานอย่างปลอดภัย โดยเฉพาะระบบเบรก จึงเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ชะลอความเร็วและหยุดรถ หากระบบเบรกชำรุดและทำงานบกพร่อง อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนได้ เพื่อความปลอดภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะสัญญาณเตือนความผิดปกติของระบบเบรกและการดูแลระบบเบรกอย่างถูกวิธี ดังนี้

รู้ทันความผิดปกติของระบบเบรก ได้แก่
– เบรกดัง มีเสียงดังในขณะเหยียบเบรก หากเหยียบเบรกแล้วบริเวณล้อคู่หน้าหรือหลัง เกิดจากผ้าเบรกและจานเบรกใกล้หมด เบรกดังเฉพาะล้อใดล้อหนึ่ง เกิดจากฝุ่นหรือหินเข้าไปเสียดสีระหว่างผ้าเบรกกับจานเบรกหรือผ้าเบรกไม่ได้มาตรฐาน
– เบรกสั่น เหยียบแล้วแป้นเบรกสั่น พวงมาลัยสั่น หรือรถสั่นไปทั้งคัน เกิดจากจานเบรกคด บิดตัว หรือสึกหรอรวมถึงเกิดจากระบบดิสก์เบรกและดรัมเบรกชำรุด เนื่องจากเบรกเกิดความร้อนสูงหรือนำรถขับลุยน้ำ
– เบรกจม เมื่อเหยียบเบรกค้างไว้ แป้นเบรกจะค่อยๆ จม ซึ่งเกิดจากลูกยางปั๊มเบรกสึกหรอ หรือบวม ทำให้แรงดันเบรกลดลง จึงต้องเหยียบแป้นเบรกลึกกว่าปกติหรือย้ำหลายๆ ครั้ง
– เบรกติด เมื่อปล่อยเท้าออกแป้นเบรกแล้ว เบรกยังทำงานอยู่ตลอดเวลา ทำให้รถมีอาการตื้อ เบรกร้อน มีกลิ่นไหม้เกิดจากลูกยางกันฝุ่นของแม่ปั๊มเบรกฉีกขาด ทำให้มีน้ำซึมเข้ากระบอกเบรก ส่งผลให้เกิดความชื้นและเป็นสนิมหรือลูกสูบเบรกติดขัด ทำให้ไม่สามารถเคลื่อนตัวเข้า – ออกได้
– เบรกแตก เหยียบแป้นเบรกแล้วจนสุดแล้ว แต่ระดับความเร็วของรถไม่ลดลง เกิดจากท่อน้ำมันเบรกชำรุดหรือลูกยางแม่ปั๊มเบรกและแม่ปั้มเบรกเสียหาย สายอ่อนเบรกแตก ทำให้กระบอกสูบเบรกไม่มีแรงส่งไปยังผ้าเบรก อีกทั้งเกิดจากน้ำมันเบรกเสื่อมคุณภาพ ผ้าเบรกหมด น้ำมันเบรกหมด น็อตยึดขาเบรกหลุดหลวม

– เบรกปัด เหยียบแป้นเบรกแล้วรถปัดหรือเอียงไปทางใดทางหนึ่ง เกิดจากน้ำมันหรือสารหล่อลื่นของระบบช่วงล่างกระเด็นเข้าจานเบรก ทำให้ผิวเบรกลื่นหรือมัน รวมถึงชุดจานเบรกสึกหรอ ส่งผลให้แรงกดของเบรกแต่ละฝั่งแตกต่างกัน
– ไฟเตือนระบบเบรกบนแผงหน้าปัดรถ ไฟเตือนสัญลักษณ์รูปเบรก เกิดจากน้ำมันเบรกลดต่ำหรือต่ำกว่าระดับที่กำหนด ไฟเตือนสัญลักษณ์ ABS เกิดจากระบบป้องกันล้อล็อกขณะเบรกไม่ทำงาน แต่ระบบเบรกยังใช้งานได้ปกติ

รู้วิธีดูแลรักษาเบรกให้พร้อมใช้งาน ให้ปฏิบัติ ดังนี้
– น้ำมันเบรก ตรวจสอบน้ำมันเบรกให้อยู่ในระดับที่กำหนด และไม่มีรอยคราบน้ำมันเบรกใต้ท้องรถมากกว่าผิดปกติ รวมถึงเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเบรกตามระยะทุก ๆ 1 ปี หรือ 25,000 กิโลเมตร จะช่วยป้องกันการเกิดสนิมในระบบเบรก
– ผ้าเบรก มีความหนาไม่ต่ำกว่า 4 มิลลิเมตร เพื่อป้องกันการเสียดสี ทำให้จานเบรกเป็นรอย
– จานเบรก หากจานเบรกมีรอยร้าว คด บางเกินไป ควรจะเปลี่ยนจานเบรกใหม่ กรณีจานเบรกสึกหรอ หรือมีรอยขูดขีดให้เจียรจานเบรก ให้เรียบเสมอกัน

ทั้งนี้ กรณีพบสัญญาณไฟผิดปกติของระบบเบรก ให้นำรถเข้าศูนย์บริการหรืออู่ซ่อมรถ เพื่อตรวจสอบหาสาเหตุความผิดปกติและซ่อมแซม ให้ใช้งานได้อย่างปลอดภัย ห้ามนำรถที่มีสัญญาณไฟความผิดปกติของระบบเบรก โดยเฉพาะเบรกจม เบรกติด เบรกปัด เบรกสั่น ไปใช้งาน เพราะจะเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุในลักษณะรุนแรงได้

ร่วมแสดงความคิดเห็น